ฟาร์มกุ้งZero waste สร้างกำไรเดือนละ 4 แสนบาท

308

‘พันธุโพธิ์ฟาร์ม’ ระนอง ฟาร์มเลี้ยงกุ้งแนวคิด Zero waste สู่การขับเคลื่อนด้วย BCG Model สร้างกำไรเดือนละ 4 แสนบาท

นายนิกร แสงเกตุ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 สุราษฎร์ธานี (สศท.8) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า “พันธุโพธิ์ฟาร์ม” จังหวัดระนอง เป็นฟาร์มเลี้ยงกุ้งขนาดกลาง ซึ่งเป็นต้นแบบการดำเนินงานขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรม มีแนวทางการพัฒนาบริหารจัดการสิ่งปฏิกูลจากฟาร์มกุ้งแปรเปลี่ยนเป็นผลผลิตทางเกษตรกรรมเพื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมตามแนวทาง Zero Waste ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว หรือ โมเดลเศรษฐกิจ BCG Model (Bio-Circular-Green Economy)

นายนิกร แสงเกตุ
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 สุราษฎร์ธานี (สศท.8)

สศท.8 ได้ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของพันธุโพธิ์ฟาร์ม ตำบลบางหิน อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง พบว่า ปัจจุบันทางฟาร์มเป็นแหล่งข้อมูลและสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตร สาขาประมง (เพาะเลี้ยงชายฝั่ง) ทั้งด้านการผลิต ราคาสินค้า สถานการณ์และปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการเติบโตของภาคเกษตร สาขาประมง (เพาะเลี้ยงชายฝั่ง) โดยมีนายอดุลย์ พันธุโพธิ์  เป็นเจ้าของฟาร์ม ซึ่งได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อยประจำปี 2557, รางวัล 150 คนดี 150 ปีเมืองระนอง สาขาด้านการเกษตร และยังได้รับการคัดเลือกเป็น “ปราชญ์เกษตร 72 ปี” ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมถึงศิษย์เก่าดีเด่นคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยทางฟาร์มมีการเพาะเลี้ยงกุ้งเป็นหลัก ในพื้นที่ 200 ไร่ จำนวน 20 บ่อ และทำการเกษตรแบบผสมผสานโดยมีแนวคิดที่ว่า “พันธุโพธิ์ฟาร์มแห่งนี้ของเสียที่เกิดจากทุกกระบวนการต้องเป็นศูนย์ (Zero waste)” โดยกำหนดเป้าหมายที่จะทำฟาร์มกุ้งให้เป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อถ่ายทอดแนวคิดของการเป็นเกษตรกร มีกิจกรรมให้เยาวชนเข้ามาเรียนรู้การทำการเกษตร การปลูกพืชผสมผสานโดยใช้พื้นที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด และพัฒนาต่อยอดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ในส่วนระบบการเลี้ยงกุ้งของพันธุ์โพธิ์ฟาร์ม ซึ่งเป็นฟาร์มที่ประสบความสำเร็จด้วยการใช้ Bio security ตั้งแต่การกรองน้ำให้สะอาด โดยใช้แนวคิดของการจัดการของเสียโดยวิธีทางชีวภาพในการให้จุลินทรีย์ตัวดีมีจำนวนมากเพื่อทำลายจุลินทรีย์ที่ไม่ดีเพื่อป้องกันและต้านทานโรคจากไวรัส ได้แก่ โรคตัวแดงดวงขาว โรคกุ้งตายด่วน (Early Mortality Syndrome : EMS) ตลอดจนเพิ่มอัตราการรอดของกุ้ง นอกจากนี้ยังใช้วิธีทางชีวภาพจะนำขี้กุ้งที่อยู่ในบ่อมาตีเพื่อเป็นอาหารของจุลินทรีย์ตัวดี ส่วนที่เหลือนำมาทำเป็นปุ๋ยเพื่อใช้ในฟาร์มโดยไม่ปล่อยทิ้งในทะเล

ด้านสถานการณ์การผลิต พันธุโพธิ์ฟาร์มเลี้ยงพันธุ์กุ้งขาวแวนนาไมพันธุ์สิชล 1 ซึ่งเป็นกุ้งสายพันธุ์ดีของกรมประมง ใน 1 ปีสามารถสามารถเพาะเลี้ยงกุ้งได้ 12 รอบการผลิต (เฉลี่ย 1 เดือน/รอบการผลิต) โดยจะเลี้ยงประมาณ 5 บ่อ/รอบการผลิต สลับหมุนเวียนเพื่อให้มีผลผลิตตลอดทั้งปี สำหรับปีการผลิตช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค. – ก.ย.) ได้ผลผลิตรวม 250,000 กิโลกรัม/ปี ผลผลิตเฉลี่ย 27,777 กิโลกรัม/รอบการผลิต (ประมาณ 80 – 100 ตัว/กิโลกรัม) ราคาจำหน่ายหน้าฟาร์ม เฉลี่ยอยู่ที่ 140 บาท/กิโลกรัม ดังนั้น ใน 1 รอบการผลิต พันธุโพธิ์ฟาร์มจะสามารถสร้างรายได้โดยหักต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้ว ทำให้มีรายได้สุทธิ (กำไร) เฉลี่ยเดือนละ 416,655 บาท ทั้งนี้ พันธุ์โพธิ์ฟาร์ม ได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับการผลิตสัตว์น้ำ (GAP) จึงสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้ โดยตลาดกุ้งในปัจจุบันเป็นการส่งออกทั้งหมด มีตลาดญี่ปุ่นเป็นตลาดหลัก การขายผลผลิตจะมีบริษัทห้องเย็นมารับซื้อผลผลิตที่ฟาร์ม โดยขนาดที่ตลาดต้องการเฉลี่ย 80 – 100 ตัว/กิโลกรัม และคาดว่าจะมีความต้องการบริโภคเพิ่มมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ จากสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่คลี่คลาย “BCG Model จะทำให้เกษตรกรยกระดับผลผลิตเกษตรสู่มาตรฐานสูง ครอบคลุมทั้งด้านคุณภาพ โภชนาการ ความปลอดภัย และระบบการผลิตที่ยั่งยืน เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรการเกษตรอย่างสมดุลและยั่งยืน ซึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เน้นการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด หรือ Zero Waste จะเป็นการตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียน (C-Circular) ตามกรอบ BCG Model ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ผู้สนใจหรือต้องการศึกษาดูงานสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ นายอดุลย์ พันธุโพธิ์ โทร. 08 9288 8633 หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.8 โทร 0 7731 1641 หรืออีเมล [email protected]” ผู้อำนวยการ สศท.8 กล่าวทิ้งท้าย

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ข่าว