เกษตรฯ จับมือ จ.จันทบุรี เตรียมความพร้อมส่งออกลำใย

193

กรมวิชาการเกษตรจับมือจังหวัดจันทบุรี เตรียมความพร้อม ตรวจสอบคุณภาพและออกใบรับรองสุขอนามัยพืชส่งออกลำใย“สร้างความเชื่อมั่นคุณภาพผลผลิต ปลอดศัตรูพืชกักกัน และสารตกค้าง”

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร มอบหมายให้ ดร.ภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร มอบนโยบาย แนวทางกำกับดูแลการส่งออกลำไยปี 2566/2567 ร่วมกับ นายธวัชชัย   นามสมุทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทรบุรี ในการประชุมเตรียมความพร้อมการส่งออกลำไยปี 2566/2567 ตามนโยบาย”ผลไม้ไทย ผลไม้คุณภาพ” ของนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีนายพิทวัฒน์ อ่อนทองหลาง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จันทบุรี เป็นผู้ดำเนินการจัดการประชุม ในวันที่ 24 สิงหาคม 2566 ณ ห้องประชุมอาคารอเนกประสงค์  สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 จังหวัดจันทบุรี โดยมี ดร.รัฐวิทย์ ตั้งเกียรติพชร นายกสมาคมการค้าและท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา นายอำนาจ จันทรส นายกสมาคมชาวสวนลำไยจังหวัดจันทบุรี หัวหน้าส่วนราชการ ภาคเอกชน สมาคม ผู้ผลิต  ผู้ส่งออก ผู้ประกอบธุรกิจลำไย และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม 200 คน

ดร.ภัสชญภณ  หมื่นแจ้ง  รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า  การประชุมในครั้งนี้เพื่อรวบรวมปัญหาอุปสรรคในการส่งออก การแจ้งเตือนจากประเทศปลายทาง นำมาถอดบทเรียน ป้องกันปัญหาที่จะเกิดซ้ำ สร้างความเชื่อมั่นลำไยไทย ลำไยคุณภาพ ปลอดศัตรูพืชกักกัน และปลอดภัยต่อผู้บริโภค พร้อมแนวทางในการเข้มงวดในการตรวจสอบศัตรูพืชในโรงคัดบรรจุ  โดยผู้ประกอบการต้องเข้มงวดในการตรวจสอบและกำจัดศัตรูพืชในโรงคัดบรรจุของตนเอง โดยเฉพาะโรงคัดบรรจุที่ได้รับการแจ้งเตือนจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบศัตรูพืชซึ่งผ่านการอบรมจากกรมวิชาการเกษตร ต้องมีการตรวจสอบศัตรูพืชก่อนรับสินค้าเข้าโรงคัดบรรจุ ตรวจสอบระหว่างคัดเกรด และก่อนขึ้นตู้คอนเทนเนอร์ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่จะเข้มงวดการตรวจสอบศัตรูพืชตามปริมาณที่พบพร้อมจัดเกรด เป็นสองสี แดง และ เขียว หากพบศัตรูพืชมากจัดเป็นล้งสีแดง จะเข้มงวดในการตรวจศัตรูพืช  กรณีที่ทางล้งจัดการตรวจสอบศัตรูพืชได้ดี จะให้สีเขียว และคลายความเข้มงวดลง ทำให้ผู้ประกอบการสามารถส่งออกได้รวดเร็วขึ้น

ทั้งนี้ นายธวัชชัย นามสมุทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี, ดร.รัฐวิทย์ ตั้งเกียรติพชร นายกสมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา, นายอำนาจ จันทรส นายกสมาคมชาวสวนลำไย, นายจิรวุฒิ สุวรรณอาจ พาณิชย์จังหวัดจันทบุรี,นายสุภาพ เกิดบุญ สหกรณ์จังหวัด และนายวินนา ศรีสงคราม ประธานโคนมสอยดาว ร่วมให้ข้อคิดเห็นในที่ประชุม โดยดร.รัฐวิทย์ ตั้งเกียรติพชร  ได้แจ้งที่ประชุมว่า ผลผลิตลำไยจังหวัดจันทบุรีในปีนี้มีแนวโน้มลดลง เหลือเพียงไม่เกิน 220,000 ตัน เนื่องจากปัญหาภัยแล้ง ทั้งนี้หากฝนทิ้งช่วง ในช่วงติดผลหรือใกล้เก็บเกี่ยวจะทำให้ลำไยได้รับความเสียหาย ส่วนการขึ้นทะเบียนสายเก็บในปีนี้จะขึ้นทะเบียนให้กับหัวหน้าสายและเจ้าของรถเก็บเท่านั้นจะไม่ขึ้นทะเบียนแรงงานสายเก็บ ปัญหาด้านศัตรูพืชกักกันได้พยายามประชาสัมพันธ์ให้โรงคัดบรรจุสายเก็บทราบและให้ความระมัดระวังไม่ซื้อผลผลิตที่มีเพลี้ยแป้ง ราดำ ปัญหาเรื่องสารพิษตกค้าง ขอความร่วมมือกับทาง สวพ. 6 จัดวิทยากรและฝึกอบรมกับเกษตรกรด้วย  และนายอำนาจ จันทรส ได้แจ้งในที่ประชุมว่า ในปีนี้ลำไยมีแนวโน้มราคาดี แต่เกษตรกรได้ทำสัญญาซื้อขายกับล้งไปแล้ว ดังนั้นขอให้ผู้ประกอบการเพิ่มค่าตอบแทนให้กับเกษตรกรเพิ่มขึ้นตามราคาตลาดด้วย การซื้อขายลำไยขอให้มีการตกลงราคาผลผลิตให้กับเกษตรหน้าสวน นอกจากนี้ยัง แนะนำให้มีการปลูกลำไยพันธุ์พวงทอง ซึ่งมีผลโตไว้ด้วย ทั้งนี้ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่าลำไยปีนี้มีปริมาณผลผลิตลดลง แต่ราคามีแนวโน้มสูงขึ้น ดังนั้นขอให้เกษตรกรและผู้ประกอบการรักษาคุณภาพผลผลิต ปลอดภัยจากศัตรูพืชและปลอดภัยต่อผู้บริโภค จะทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดและลดปัญหาอุปสรรคในการส่งออก

ส่วนด้านความปลอดภัยของผู้บริโภคปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และสารพิษตกค้าง ได้สร้างความตระหนักให้กับผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่เพิ่มการสุ่มตรวจและแจ้งเตือนในกรณีพบดำเนินการไม่เป็นไปตามมาตรฐาน  ผลจากการประชุมในครั้งนี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกภาคส่วนจะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี สร้างเชื่อมั่นลำไยไทย ลำไยคุณภาพเป็นที่ต้องการของต่างประเทศ เกษตรกรสามารถจำหน่ายลำไยได้ราคาดี ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภาพรวมของจังหวัดจันทบุรีและประเทศไทยต่อไป ขณะที่นายพิทวัฒน์  อ่อนทองหลาง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 ได้รายงานสถานการณ์การส่งออกลำไย 2565/2566 มีจำนวน 9,904 ตู้คอนเทนเนอร์ น้ำหนัก 256,132  ตัน มูลค่ากว่า 9,870.23 ล้านบาท

กรมวิชาการเกษตร ข่าว