มกอช. ร่วมทัพไทย เร่งเจรจาคณะทำงานด้านสุขอนามัยพืช ครั้งที่ 2

116

มกอช. ร่วมทัพทีมประเทศไทย เร่งเจรจาคณะทำงานด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ครั้งที่ 2

ภายใต้การจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (CEPA) ไทย – สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นายพิศาล พงศาพิชย์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ มอบหมายให้นางสาวรวินันท์ ฉ่ำเฉลิม ผู้อำนวยการกองนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทย พร้อมด้วยนางสาวรุจิรา จันทร์อร่าม นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ เข้าร่วมประชุมคณะทำงานด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ครั้งที่ 2 (Working group on Sanitary and Phytosanitary Measures: WG – SPS) ซึ่งจัดขึ้นในช่วงการประชุมเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ (Comprehensive Economic Partnership Agreement: CEPA) ระหว่างไทยและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม – 1 กันยายน 2566 ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ผู้แทนไทยและผู้แทน UAE ได้หารือและเจรจาจัดทำรายละเอียดของร่างข้อบทด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชร่วมกันภายใต้คณะทำงานด้าน SPS เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติในการบังคับใช้มาตรการ SPS สำหรับการนำเข้าส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร ให้อยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ และเป็นการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกัน ในการประชุมครั้งที่ 2 นี้ ทั้งสองฝ่ายได้ผลักดันสาระสำคัญของการเจรจาและแลกเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติด้าน SPS โดยเห็นชอบร่วมกันที่จะให้ข้อบทฉบับนี้มุ่งเน้นที่ความร่วมมือทางด้านวิชาการ สนับสนุนการเปิดตลาดสินค้าเกษตรและอาหาร รวมถึงแก้ไขปัญหาทางการค้าที่เกิดจากมาตรการ SPS ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านกลไกการปรึกษาหารือ (Technical Consultation) ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานทางด้าน SPS ที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่าย จนสามารถตกลงกันได้สำเร็จ 11 หัวข้อ เหลืออีกเพียง 2 หัวข้อที่ทั้งสองฝ่ายต่างจะต้องกลับไปพิจารณา ก่อนที่จะกลับมาหารือและสำเร็จการเจรจาร่วมกันให้ได้ภายในการประชุมครั้งต่อไปในช่วงปลายเดือนกันยายน 2566 ที่ประเทศไทย

ทั้งนี้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นตลาดขนาดเล็กด้วยมีประชากรเพียง 9 ล้านคน แต่เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ จึงเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยเป็นอย่างมาก โดยหากการเจรจา CEPA ระหว่างไทยและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์สำเร็จ จะเป็นเครื่องมือทางการค้าที่สำคัญในการอำนวยความสะดวกทางการค้า และมั่นใจได้ว่ามาตรการทางการค้าของทั้งสองประเทศจะไม่เป็นอุปสรรคหรือข้อจำกัดระหว่างกัน ถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมไปถึงประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางอีกด้วย

สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ข่าว