เอลนีโญ่ ลานิลญ่า กระทบผลผลิตข้าวนาปี เหนือตอนล่าง

116

สศท.2 เผยปรากฎการณ์เอลนีโญ่ ลานิลญ่า กระทบผลผลิตข้าวนาปี ปีเพาะปลูก 2566/67 ภาคเหนือตอนล่าง

นางธัญญ์พิชชา เถระรัชชานนท์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 พิษณุโลก (สศท.2) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงปรากฎการณ์เอลนีโญ่ ลานิลญ่า ที่ส่งผลกระทบต่อภาวะการผลิตข้าวนาปีปีเพาะปลูก 2566/67 ในเขตภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ พิษณุโลก สุโขทัย แพร่ อุตรดิตถ์ น่าน และตาก ทั้งฝนมาช้า ฝนทิ้งช่วง สภาพอากาศแล้ง ร้อนจัด เกษตรกรคาดว่าปริมาณน้ำอาจไม่เพียงพอตลอดรอบการผลิตจึงลดเนื้อที่ปลูกลง โดยปรับเปลี่ยนไปปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แทนในพื้นที่ราบนาดอนการระบายน้ำไม่ท่วมขัง เป็นพืชใช้น้ำน้อยกว่าข้าว และราคาอยู่ในเกณฑ์ดี ส่งผลทำให้ภาพรวมเนื้อที่เพาะปลูกลดลงร้อยละ 1.39 อยู่ที่ 4,240,420 ไร่ จากเดิมปีเพาะปลูก 2565/66 อยู่ที่ 4,300,055 ไร่  ต่อมาในช่วงปลายเดือนกันยายน – ตุลาคม เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากเข้าแปลงนาข้าวของเกษตรกรทั้ง 6 จังหวัด ส่งผลกระทบทำให้เนื้อที่เก็บเกี่ยว ลดลงร้อยละ 2.64 อยู่ที่ 4,060,847 ไร่ จากเดิมปีเพาะปลูก 2565/66 อยู่ที่ 4,212,552 ไร่  ผลผลิตต่อไร่ ลดลงร้อยละ 2.47 อยู่ที่ 554 กิโลกรัม/ไร่ จากเดิมปีเพาะปลูก 2565/66 อยู่ที่ 568 กิโลกรัม/ไร่ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตในแต่ละช่วง ทำให้ต้นข้าวเจริญเติบโตไม่เต็มที่ เมล็ดข้าวลีบ แต่ช่วงใกล้เก็บเกี่ยวเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่มีน้ำท่วมขัง ทำให้ผลผลิตเน่าเสียหาย ทำให้ปริมาณผลผลิตลดลงร้อยละ 5.93 อยู่ที่ 2,249,464 ตัน จากเดิมปีเพาะปลูก 2565/66 อยู่ที่ 2,391,271 ตัน โดยผลผลิตข้าวนาปี ปีเพาปลูก 2566/67  เริ่มออกสู่ตลาดแล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 – กุมภาพันธ์ 2567 ออกมากที่สุดในเดือนพฤศจิกายน 2566 (ข้อมูลพยากรณ์ ณ เดือนตุลาคม 2566 ผ่านความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพข้อมูลปริมาณการผลิตสินค้าเกษตร ด้านพืชครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 ) จำแนกรายจังหวัด ดังนี้

นางธัญญ์พิชชา เถระรัชชานนท์
รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 พิษณุโลก

เนื้อที่เพาะปลูก คาดว่า จังหวัดพิษณุโลก มีจำนวน 1,464,600 ไร่ ลดลงร้อยละ 1.39 จากปี 2565/66 อยู่ที่ 1,485,281 ไร่ เนื่องจากฝนมาช้า พื้นที่นอกเขตชลประทานได้รับผลกระทบจากฝนทิ้งช่วงทำให้น้ำในแหล่งเก็บกักไม่เพียงพอตลอดรอบการเพาะปลูก จังหวัดสุโขทัย มีจำนวน 1,171,450 ไร่ ลดลงร้อยละ 1.02 จากปี 2565/66 อยู่ที่ 1,183,502 ไร่ เนื่องจากฝนมาช้า ฝนตกน้อยกว่าปีที่ผ่านมา เกษตรกรคาดว่าปริมาณน้ำจะไม่เพียงพอตลอดรอบการผลิต จังหวัดอุตรดิตถ์ มีจำนวน 613,830 ไร่ ลดลงร้อยละ 1.56 จากปี 2565/66 อยู่ที่ 623,563 ไร่ เนื่องจากฝนมาช้า อากาศร้อนจัด เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงในหลายพื้นที่เกษตรกรคาดว่าเสี่ยงต่อภาวะขาดแคลนน้ำในรอบการผลิต และเกษตรกรบางรายปล่อยว่างในแหล่งผลิตสำคัญ (อำเภอพิชัย) จังหวัดตาก มีจำนวน 376,700 ไร่ ลดลงร้อยละ 2.08 จากปี 2565/66 อยู่ที่ 384,705 ไร่ เนื่องจากแหล่งผลิตข้าวสำคัญ ได้แก่ ตำบลโป่งแดง ตำบลวังประจบ ตำบลตลุกลางทุ่ง ฝนมาล่าช้า เกิดภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง ทำให้เกษตรกรปลูกข้าวได้เพียงรอบเดียว โดยในพื้นที่นาดอนอาจปล่อยว่าง จังหวัดน่าน มีจำนวน 327,800 ไร่ ลดลงร้อยละ 1.55 จากปี 2565/66 อยู่ที่ 332,949 ไร่ เนื่องจากปี 2566 ในช่วงเตรียมการเพาะปลูกเกิดภาวะแล้ง ฝนน้อยกว่าปีที่ผ่านมา เกษตรกรคาดว่าปริมาณน้ำไม่เพียงพอตลอดรอบการผลิตจึงลดพื้นที่บางส่วนไปปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แทนในพื้นที่ดอน และบางพื้นที่ปล่อยว่าง และจังหวัดแพร่ มีจำนวน 286,040 ไร่ ลดลงร้อยละ 1.38 จากปี 2565/66 อยู่ที่ 290,055 ไร่ เนื่องจากฝนมาช้า ภัยแล้ง เกษตรกรคาดว่าปริมาณน้ำอาจไม่เพียงพอตลอดรอบการผลิต เกษตรกรจึงปรับเปลี่ยนไปปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แทน และมีบางพื้นที่ปล่อยว่าง

  ผลผลิตต่อไร่ ณ ความชื้น 15 % คาดว่า จังหวัดพิษณุโลก อยู่ที่ 582 กิโลกรัม/ไร่ ลดลงร้อยละ 2.51 จากปี 2565/66 อยู่ที่ 597 กิโลกรัม/ไร่และจังหวัดสุโขทัย อยู่ที่ 558 กิโลกรัม/ไร่ ลดลงร้อยละ 2.79 จากปี 2565/66 อยู่ที่ 574 กิโลกรัม/ไร่  จังหวัดอุตรดิตถ์ อยู่ที่ 587 กิโลกรัม/ไร่ ลดลงร้อยละ 2.33 จากปี 2565/66 อยู่ที่ 601 กิโลกรัม/ไร่ จังหวัดตาก อยู่ที่ 408 กิโลกรัม/ไร่  ลดลงร้อยละ 0.97 จากปี 2565/66 อยู่ที่ 412 กิโลกรัม/ไร่  จังหวัดน่าน อยู่ที่ 514 กิโลกรัม/ไร่ ลดลงร้อยละ 0.77 จากปี 2565/66 อยู่ที่ 518 กิโลกรัม/ไร่ และ จังหวัดแพร่ อยู่ที่ 566 กิโลกรัม/ไร่ ลดลงร้อยละ 2.75 จากปี 2565/66 อยู่ที่ 582 กิโลกรัม/ไร่

 ด้านปริมาณผลผลิตที่จะออกสู่ตลาด คาดว่า จังหวัดพิษณุโลก  ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 -มกราคม 2567 จำนวน 830,757 ตัน จังหวัดสุโขทัย  ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดช่วงเดือน กรกฎาคม 2566 – กุมภาพันธ์ 2567 จำนวน 592,255  ตัน เนื่องจากทั้งสองจังหวัดมีบางพื้นที่อยู่โครงการระกำโมเดล ที่เกษตรกรเริ่มเพาะปลูกข้าวตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 ทำให้เก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนจังหวัดอื่นๆ เพื่อใช้พื้นที่นาข้าวรองรับน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก  โดยพื้นที่นาข้าวของจังหวัดสุโขทัยได้รับความเสียหายจากอุทกภัยอย่างหนักในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2566  ทำให้เนื้อที่เก็บเกี่ยวลดลงมากถึงร้อยละ 9.8 จากปีที่ผ่านมา จังหวัดอุตรดิตถ์ ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดช่วงเดือนสิงหาคม 2566 – มกราคม 2567 จำนวน 348,476 ตัน เนื่องจากเกษตรกรในบางพื้นที่ปลูกข้าวนาปีล่าช้า อีกทั้งข้าวเจ้าพันธุ์ขาวดอกมะลิมีอายุเก็บเกี่ยวนานถึง120 วัน จังหวัดตาก ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือนกันยายน – ธันวาคม 2566 จำนวน 150,306 ตัน จังหวัดน่าน ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือนตุลาคม 2566 – มกราคม 2567 จำนวน 166,818 ตัน และจังหวัดแพร่ ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือนกันยายน – ธันวาคม 2566 จำนวน 160,852 ตัน ทั้งนี้ ผลผลิตภาพรวมของ 6 จังหวัด จะออกสู่ตลาดมากช่วงเดือนตุลาคม 2566 และกระจุกตัวเดือนพฤศจิกายน 2566 โดยจังหวัดตาก น่าน และแพร่ จะมีช่วงระยะเวลาที่ผลผลิตออกสู่ตลาดสั้นกว่าจังหวัดอื่น เนื่องจากเกษตรกรนิยมปลูกและเก็บเกี่ยวในช่วงเวลาเดียวกัน

 ข้อมูลคาดการณ์ข้าวนาปรัง ปี 2567  ภาพรวม 6 จังหวัด คาดว่า จังหวัดพิษณุโลก มีเนื้อที่ปลูกเท่าเดิม เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่เห็นว่าปริมาณน้ำจะมีเพียงพอตลอดรอบการผลิต อีกทั้งพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยจะปลูกข้าวทันทีหลังน้ำลดแต่อาจปลูกล่าช้ากว่าปีที่ผ่านมา  ซึ่งหากชลประทานมีแผนปล่อยน้ำในช่วงฤดูแล้ง คาดว่าเนื้อที่ปลูกจะเพิ่มขึ้น จังหวัดสุโขทัย มีเนื้อที่ปลูกข้าวเท่าเดิม เนื่องจากในแหล่งผลิตอำเภอศรีสัชนาลัย เห็นว่าปริมาณน้ำในแหล่งเก็บกักมีมากเพียงพอต่อการปลูกข้าวนาปรัง ส่วนอำเภออื่นๆที่เกษตรกรมีบ่อสระในไร่นาได้เพาะปลูกข้าวนาปี 2 รอบแล้ว จึงปล่อยพื้นที่ว่าง ไม่ปลูกเพิ่มเพราะเกรงว่าน้ำจะไม่เพียงพอตลอดรอบการผลิต ในขณะที่อำเภอทุ่งเสลี่ยม คาดว่าลดลงเพราะน้ำไม่เพียงพอตลอดรอบการผลิต  จังหวัดตาก มีเนื้อที่ปลูกเพิ่มขึ้นในแหล่งผลิตสำคัญ ได้แก่ อำเภอเมืองตาก อำเภอบ้านตาก เนื่องจากเกษตรกรเห็นว่าราคาอยู่ในเกณฑ์ดี น้ำที่กักเก็บในแหล่งชลประทานคาดว่ามีเพียงพอตลอดรอบการผลิต  และเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่อำเภอสามเงาขยายพื้นที่ปลูก เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตข้าวไว้บริโภคในครัวเรือน เพราะปีที่ผ่านมาเน้นปลูกถั่วและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนา จังหวัดอุตรดิตถ์ มีเนื้อที่ปลูกลดลง เนื่องจากในพื้นที่อำเภอเมือง มีเกษตรกรบางรายปรับเปลี่ยนมาปลูกข้าวโพดหลังนาตามมาตรการส่งเสริมของจังหวัด และในอำเภอท่าปลา ปริมาณน้ำที่กักเก็บมีน้อยไม่เพียงพอตลอดรอบการผลิต เกษตรกรจึงหันไปปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เป็นพืชใช้น้ำน้อยแทน ในขณะที่อำเภอพิชัย เกษตรกรกรส่วนใหญ่จะปลูกต่อทันทีหลังน้ำลด แต่จะปลูกล่าช้ากว่าปีที่ผ่านมา จังหวัดแพร่ มีเนื้อที่ปลูกลดลง เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่เห็นว่าปริมาณน้ำมีไม่เพียงพอตลอดรอบการผลิตจึงหันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พริกชี้ฟ้าเม็ดใหญ่ และยาสูบ(อำเภอสอง) และบางพื้นที่มีการก่อสร้างแหล่งน้ำชลประทานไว้เก็บน้ำในช่วงฤดูแล้งทำให้ชลประทานงดปล่อยน้ำทำนาปรัง(อำเภอเด่นชัย) และจังหวัดน่าน มีเนื้อที่ปลูกลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำในแหล่งเก็บกักอาจไม่เพียงพอตลอดรอบการผลิต เกษตรกรจึงหันไปปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

 สถานการณ์การตลาดข้าวไทย ปี 2566 ราคาข้าวเปลือกเจ้า ณ ความชื้น 15 % (ราคาวันที่ 15 ตุลาคม 2566) อยู่ระหว่าง 10,870 – 12,200 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา (8,200 – 9,200 บาท/ตัน) ตามกลไกตลาดทั้งในและต่างประเทศ ทั้งปริมาณสต็อกข้าวในประเทศที่ลดลง Demand เพิ่มทั้งใน+ต่างประเทศ สต๊อกข้าวและกลุ่มธัญพืชโลกที่ยังมีน้อย และปัจจัยต่างๆ อาทิ สภาพภูมิอากาศแปรปรวน โรคระบาดในพืชต่างๆคลื่นความร้อนในแหล่งผลิตข้าว (อินเดีย) ประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์(รัสเซีย-ยูเครน) ทำให้หลายประเทศกำหนดมาตรการจำกัดการส่งออกข้าว เช่นเดียวกับราคาข้าวเหนียวอยู่ระหว่าง 10,600 – 11,950 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา (8,200 – 9,200 บาท/ตัน) ข้าวหอมจังหวัดอยู่ระหว่าง 12,000 – 13,100 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา (10,000 – 11,000 บาท/ตัน) เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ทำธุรกิจแบบครบวงจร ทั้งโรงสีและบริษัทส่งออกข้าวมีความต้องการบริโภคจากภาคครัวเรือน ธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจท่องเที่ยวที่จะปรับตัวดีขึ้นภายหลังสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย

ทั้งนี้สศท.2 จะติดตามสถานการณ์การผลิตข้าวทั้งข้าวนาปี ปีเพาะปลูก 2566/67 และข้าวนาปรัง ปี 2567 ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างที่ได้รับผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญ่ ลานิลญ่า อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาจัดทำแผนบริหารจัดการผลผลิตข้าวครบวงจร และใช้เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาและพัฒนาตลอดห่วงโซ่ข้าวในระดับพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดรับกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีการมอบหมายผู้รับผิดชอบรายสินค้าเกษตรสำคัญ เพราะเห็นว่าการแก้ไขปัญหาด้วยความรวดเร็วทันต่อสถานการณ์จะช่วยขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ อย่างไรก็ตาม หากมีการบูรณาการร่วมมือระหว่างหน่วยงาน และผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดทำแผนพัฒนาสินค้าข้าวตลอดห่วงโซ่ในระดับจังหวัดที่ครอบคลุมในทุกมิติจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและพัฒนาข้าวทั้งระบบได้อย่างเป็นรูปธรรมและเกิดความยั่งยืน  หากท่านใดสนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ส่วนสารสนเทศการเกษตร สศท.2 โทร. 05 532 2658 ต่อ 205 หรืออีเมล [email protected]

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ข่าว