ประมงฯ ยกระดับตรวจสอบสินค้านำเข้าจากประเทศเสี่ยงสูง

155

กรมประมง…ยกระดับความเข้มข้นการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าประมง ปูพรมเปิดตรวจสินค้านำเข้าจากประเทศเสี่ยงสูง 100 เปอร์เซ็นต์ ทุกล็อต ทุกราย หนุนนโยบาย ก.เกษตรฯ ในการปราบขบวนการสินค้าเกษตรเถื่อน

กรมประมง…รับนโยบาย ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการปราบปรามสินค้าเกษตรเถื่อนผิดกฎหมาย ที่มีการลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยภาคประมงได้ยกระดับเพิ่มประสิทธิภาพมาตรการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำอย่างเข้มงวด ลุยปูพรมเปิดตรวจสินค้าสัตว์น้ำแช่แข็งจากประเทศเสี่ยงสูง ที่นำเข้าทุกล็อต ทุกราย

ดร.ถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า การปราบปรามสินค้าเกษตรเถื่อนที่นำเข้าไม่ถูกต้อง หรือผิดกฎหมาย ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เน้นย้ำในการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง โดยให้หน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องเข้มงวดในการตรวสอบ กักกัน และดำเนินคดี ภายใต้การบรูณาการความร่วมมือกับตำรวจ ทหาร ศุลกากร และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบกลไกตลาดและระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ

ดร.ถาวร ทันใจ
รองอธิบดีกรมประมง

สำหรับในส่วนของกรมประมงนั้น ที่ผ่านมามีกระบวนการในการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าประมงอย่างเป็นระบบ โดยขั้นตอนในการอนุญาตก่อนการนำเข้า ผู้ประกอบการนำเข้าต้องยื่นคำขออนุญาตต่อด่านตรวจประมงในพื้นที่รับผิดชอบ ผ่านระบบเชื่อมโยงคําขอกลางและระบบสนับสนุนใบอนุญาต และใบรับรองผ่านอินเตอร์เน็ตกรมประมง (Fisheries Single Window :FSW) ตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมถึงพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 โดยหลังจากได้รับใบอนุญาตแล้ว ผู้นำเข้าจึงจะสามารถจัดทำใบขนสินค้าขาเข้ากับกรมศุลกากรและดำเนินพิธีการทางศุลกากร อีกทั้ง ในการขออนุญาตกำหนดให้ผู้นำเข้าต้องแสดงเอกสารรับรอง หรือใบรับรองแหล่งที่มาของสัตว์น้ำที่ออกโดยหน่วยงานรัฐของประเทศต้นทาง เพื่อเป็นเอกสารหลักฐานในการสืบค้นแหล่งที่มา ซึ่งแสดงได้ว่าสัตว์น้ำนั้นไม่ได้มาจากการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และในกรณีที่การนำเข้าสัตว์น้ำที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค เช่น กุ้งทะเล ผู้นำเข้าต้องแสดงใบรับรองสุขภาพสัตว์น้ำ และในการนำเข้าจะต้องกักกันเพื่อตรวจพิสูจน์โรค ณ สถานที่พักซากที่กรมประมงรับรองด้วยกระทั่งสินค้ามาถึงท่าเทียบเรือ เมื่อผู้นำเข้าได้รับใบขนสินค้าขาเข้าจากกรมศุลกากรเรียบร้อยแล้ว ต้องยื่นเอกสารเพื่อขอแจ้งตรวจสินค้าผ่านระบบ (SMART FSW) โดยประยุกต์ใช้หลักการและแนวคิดการบริหารจัดการความเสี่ยง (Risk Management) ให้ระบบสามารถวิเคราะห์และประมวลผลในการเปิดตรวจสินค้าภายใต้เงื่อนไข หรือปัจจัยที่กำหนด แทนการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ เพื่อเสริมสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการ หลังจากนั้นจะนัดหมายเข้าตรวจสอบสินค้า โดยทุกสินค้าประมงจะเปิดตรวจอย่างน้อยร้อยละ 30 ของการนำเข้า แต่อย่างไรก็ตาม แม้ระบบจะไม่สั่งตรวจสินค้า หากเจ้าหน้าที่มีข่าวการลักลอบ หรือมีเหตุอันควรสงสัย เช่น ชนิด ปริมาณ และลักษณะสัตว์น้ำที่นำเข้าผิดวิสัยทั่วไป เจ้าหน้าที่สามารถพิจารณาสั่งตรวจเพิ่มเติมได้

การตรวจสอบหรือเปิดตรวจ กรมประมงได้กำหนดมาตรการไว้ 2 แนวทาง คือการเปิดตรวจ ณ ด่านหรือท่าเทียบเรือ และการตรวจสอบ ณ สถานประกอบการ (โรงงานหรือห้องเย็น) โดยการซีล (Seal) ตู้คอนเทนเนอร์ไปยังสถานประกอบการ เพื่อดำเนินการควบคุมและตรวจสอบการคัดแยกชนิดและปริมาณที่นำเข้า ณ สถานประกอบการ จนมั่นใจว่าสัตว์น้ำที่นำเข้าเป็นไปตามที่ได้รับอนุญาต จึงจะอนุญาตให้เข้าสู่กระบวนการผลิต หรือจำหน่ายต่อไป สำหรับพื้นที่ด่านศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังซึ่งถือได้ว่าเป็นด่านฯ ที่มีการนำเข้าสินค้าประมงทางตู้คอนเทนเนอร์มากที่สุด ทำให้มีการดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมตรวจสอบสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ลักษณะที่เป็นตู้ Reefer (ตู้แช่เย็น) โดยมีการนำระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ที่ขนสินค้าด้วยเครื่องเอ็กซเรย์ และการบันทึกภาพสินค้าภายในตู้ที่ถูกเปิดตรวจ กรณีเมื่อตรวจพบข้อสงสัยจากผลการเอ็กซเรย์ตู้สินค้า เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรจะทำการเปิดตรวจตู้ และหากพบความผิดปกติ หรือพบของต้องกำกัด จึงจะประสานมายังเจ้าหน้าที่กรมประมง เพื่อทำการตรวจสอบร่วมกันและดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ ผลการตรวจสอบจากข้อมูลสถิติปริมาณและมูลค่าการนำเข้าในปี 2564 ถึง 31 ตุลาคม 2566 พบว่า มีผู้ประกอบการได้ทำการขออนุญาตนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำแช่แข็ง จำนวน 84,330 ครั้ง รวมปริมาณทั้งสิ้น 4,428,301.31 ตัน แบ่งเป็นสินค้าประเภทปลา 3,777,345.67 ตัน รองลงมาคือ หมึก 498,288.79 ตัน กุ้ง 65,511.85 ตัน หอย 53,365.87 ตัน
ปู 29,788.29 ตัน และสัตว์น้ำอื่น ๆ 4,000.85 ตัน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้มีการสุ่มเปิดตรวจทั้งหมด 24,525 ครั้ง
พบการลักลอบนำเข้าสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งสิ้น 21 คดี

รองอธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายปราบปรามการลักลอบนำเข้า ส่งออก สินค้า และประกาศสงครามกับการลักลอบสินค้าผิดกฎหมาย กรมประมงได้มีการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและวิธีการดำเนินการ เพื่อยกระดับการควบคุมตรวจสอบให้เข้มงวด รัดกุมมากยิ่งขึ้น โดยกำหนดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้า ด้วยการจัดชุดเฉพาะกิจพิเศษขึ้น ภายใต้ชื่อ “ฉลามขาว” รวมทั้งปรับระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มระดับความเสี่ยงในการเปิดตรวจสินค้าสัตว์น้ำแช่แข็งจากประเทศที่ความเสี่ยง จากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 100 รวมถึงบูรณาการประสานข้อมูล แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) อย่างไรก็ตาม กรมประมงได้สั่งการกำชับให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมาย มาตรฐานการปฏิบัติงาน คู่มือการปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่รายใดเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักลอบนำสินค้าทุกชนิดเข้าสู่ประเทศอย่างผิดกฎหมาย กรมประมงจะดำเนินการลงโทษทางวินัยอย่างถึงที่สุด

หากประชาชนพบเห็นการกระทำผิด ขอความร่วมมือแจ้งข้อมูลเบาะแส ได้ที่ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน กรมประมง https://www.fisheries.go.th/complain/accept_justice.php หรือ สายด่วนกรมประมง : ศูนย์บริการนำเข้าส่งออกสัตว์น้ำและปัจจัยการผลิต โทร. 0-2579-1878 , 0-2579-3614-5

กรมประมง ข่าว