สศก. ติดตามผลการดำเนินงาน ศพก. แหล่งเรียนรู้ด้านเกษตร

198

สศก. ติดตามผลการดำเนินงาน ศพก. แหล่งเรียนรู้ด้านเกษตร และสร้างอาชีพของเกษตรกรไทย

นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการติดตามศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการโดยมี กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก เพื่อเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต การบริหารจัดการและการตลาดแก่เกษตรกร รวมทั้งการให้บริการทางการเกษตร และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในพื้นที่ เป็นกลไกในการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาการเกษตรในพื้นที่

นางธัญธิตา บุญญมณีกุล 
รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำหรับการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ได้มีการดำเนินการบูรณาการ 8 หน่วยงาน ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมพัฒนาที่ดิน กรมหม่อนไหม กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร และ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โดยสามารถดำเนินการพัฒนาศักยภาพ ศพก. หลักทั่วทั้งประเทศจำนวน 882 ศูนย์ ครบตามเป้าหมาย พัฒนาศูนย์เครือข่ายจำนวน 4,920 ศูนย์ (ร้อยละ 99.82 ของเป้าหมาย 4,929 ศูนย์) และพัฒนาเกษตรกรจำนวน 69,897 ราย (ร้อยละ 100.08 ของเป้าหมาย 69,844 ราย)

ในการนี้ สศก. ได้ติดตามผลการดำเนินงาน ศพก. ในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี ตราด จันทบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง และสระบุรี พบว่า ศูนย์เรียนรู้ ศพก. ทั้งหมดมีความพร้อมในการเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรของชุมชน และเป็นสถานที่ให้บริการข่าวสาร รวมไปถึงบริการด้านการเกษตร ซึ่งจะมีการดำเนินงานแตกต่างกันออกไปตามความพร้อม ข้อจำกัด และศักยภาพของศูนย์เรียนรู้ โดยพบว่า ภาพรวม มีพื้นที่เฉลี่ย 9 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ของประธานศูนย์ และมีผู้เข้ามาใช้บริการเฉลี่ยปีละ 340 รายต่อศูนย์ต่อปี รวมไปถึงมีการจัดอบรมถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกรหรือผู้ที่สนใจเฉลี่ยปีละ 13 ครั้งต่อศูนย์

ด้านการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ พบว่า เกษตรกรที่เข้ามารับบริการเพื่อศึกษาหาความรู้/อบรม ณ ศูนย์เรียนรู้ และได้นำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้กับพื้นที่การเกษตรของตนเอง ร้อยละ 69 สามารถมีรายได้เพิ่มขึ้นและลดค่าใช้จ่ายได้ เช่น ด้านรายได้ที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายของเกษตรกร พบว่า เกษตรกรร้อยละ 66 มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายผลผลิต เช่น ข้าว เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1,812 บาทต่อไร่ต่อปี ปาล์มน้ำมัน เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3,342 บาทต่อไร่ต่อปี และมะพร้าว เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5,425 บาทต่อไร่ต่อปี เป็นต้น สามารถลดค่าใช้จ่ายจากการใช้ปุ๋ยเคมี โดยการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ด้วยตนเองเพื่อใช้ทดแทนปุ๋ยเคมีทั้งหมดหรือบางส่วน เช่น ข้าว ลดค่าใช้จ่ายได้เฉลี่ย 276 บาทต่อไร่ต่อปี ปาล์มน้ำมัน ลดค่าใช้จ่ายได้เฉลี่ย 108 บาทต่อต้นต่อปี  ไม้ผลลดค่าใช้จ่ายได้เฉลี่ย 664 บาทต่อไร่ต่อปี และยางพารา ลดค่าใช้จ่ายได้เฉลี่ย 1,267 บาทต่อไร่ต่อปี เป็นต้น

ด้านของความพึงพอใจเกษตรกรที่เข้ามารับบริการเพื่อศึกษาหาความรู้/อบรม อยู่ในระดับมากที่สุด เนื่องจากการดำเนินงานของศูนย์ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ประธานตั้งใจเอาไว้ ทั้งในด้านของโครงสร้างพื้นฐาน  ฐานเรียนรู้ แปลงเรียนรู้ การให้บริการแก่สมาชิก/เกษตรกร และมีหลักสูตรเรียนรู้ที่ครอบคลุม เหมาะสม ให้แก่สมาชิกและเกษตรในชุมชน ซึ่งเป็นความรู้ที่เกษตรกรสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงทำให้สามารถลดค่าใช้จ่าย/เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมไปถึงมีหน่วยงานของภาครัฐที่ให้การสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นด้านปัจจัยการผลิต องค์ความรู้ การเชื่อมโยงเครือข่าย และด้านอื่น ๆ ตามภารกิจของแต่ละหน่วยงาน เพื่อให้ ศพก. สามารถพัฒนาต่อยอดไปเป็นศูนย์เรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ และตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พศ. 2567 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้มีเป้าหมายในการพัฒนา ศพก. ให้เป็นต้นแบบเกษตรอัจฉริยะให้กับเกษตรกร รวมถึงเป็นกลไกส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการเกษตรผ่านการรวมกลุ่ม สำหรับท่านที่สนใจผลการติดตามประเมินผลของ ศพก. สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ส่วนประเมินผลการพัฒนาสถาบันเกษตรกรและเกษตรกร ศูนย์ประเมินผล โทร. 0 2579 8232 ในวันและเวลาราชการ 

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ข่าว