รอง กสก. มอบแนวทางขับเคลื่อนการดำเนินงานการ

50

รอง กสก. มอบแนวทางขับเคลื่อนการดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรพื้นที่ภาคใต้

วันที่ 4 ธันวาคม 2566 นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งกำกับดูแลงานส่งเสริมการเกษตรในจังหวัดภาคใต้ เป็นประธานในการจัดเวทีเพื่อขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตรระดับพื้นที่ ในห้วงเปลี่ยนผ่านของปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพื่อสร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจในการดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรในระดับพื้นที่ ให้สามารถนำไปขับเคลื่อนงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ผู้อำนวยการกลุ่ม หัวหน้าฝ่าย และเจ้าหน้าที่ของ สสก.5 สงขลา เกษตรจังหวัด หัวหน้ากลุ่ม/ฝ่าย ของสำนักงานเกษตรจังหวัด ตลอดจนเกษตรอำเภอ และผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการในพื้นที่ภาคใต้ เข้าร่วมรับฟัง

นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร มอบแนวทางการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตรระดับพื้นที่ ในห้วงเปลี่ยนผ่านของปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สาระสำคัญ ประกอบด้วย

1. การดำเนินงานโครงการส่งเสริมการเกษตร ขอให้ใช้งบประมาณให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ดำเนินงานตามเป้าหมายและตัวชี้วัดของกรมส่งเสริมการเกษตร และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีการบูรณาการงบประมาณ แผนงาน และโครงการต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ตลอดจนการบูรณาการระหว่างกลุ่มงานภายในสำนักงาน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงาน โดยมุ่งเน้นให้เกิดผลลัพธ์ (Outcome) มากกว่าผลผลิต (Output)

2. ดำเนินการยกระดับสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น ให้ได้มาตรฐานเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า ดำเนินการให้สอดรับสอดคล้องกับบริบทในการพัฒนาของแต่ละจังหวัด และผลักดันสู่การได้รับการรับรองขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)

3. การรณรงค์เรื่องการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร และการจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เน้นการดำเนินการสร้างการรับรู้ให้ความรู้เกษตรกร การอบรมให้ความสำคัญเน้นย้ำ ให้เกษตรกรลดการเผาและนำวัสดุเหลือใช้มาทำประโยชน์

4. การพัฒนาเจ้าหน้าที่ ให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ กรมส่งเสริมการเกษตรมีช่องทางการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์ เป็นช่องทางหลักในการพัฒนาตนเอง โดยได้มีการจัดทำสื่อการเรียนการสอนอิเล็กทรอนิกส์ (e-learning) ซึ่งมีวิชาที่หลากหลายและสามารถนำไปปรับใช้ในการปฏิบัติงานในพื้นที่ได้จริง การเรียนรู้งานหรือประสบการณ์จากการสอบถามรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์ หรือเพื่อนร่วมงาน และการอบรมสัมมนาที่จัดโดยกรมส่งเสริมการเกษตร สำหรับสัดส่วนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองของเจ้าหน้าที่ คือ ร้อยละ 70 เป็นการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น e-learning ร้อยละ 20 เป็นการเรียนรู้จากรุ่นพี่หรือเพื่อนผู้รู้ที่มีประสบการณ์ และร้อยละ 10 เป็นการจัดอบรมสัมนาผ่านโครงการและหลักสูตรต่าง ๆ

5. การพัฒนาเกษตรกร การคัดเลือกเกษตรกรร่วมโครงการส่งเสริมการเกษตรต่าง ๆ ขอให้มีการคัดเลือกเกษตรกรที่มีความสนใจ และมีความตั้งใจ ในเรื่องนั้น ๆ เน้นย้ำขอให้เป็นเกษตรกรที่ ต้องการเรียนรู้ในเรื่องนั้น ๆ เพื่อนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ และนำไปประกอบอาชีพอย่างจริงจัง จึงจะทำให้โครงการสำเร็จตามเป้าหมาย ตัวชี้วัด และมีผลลัพธ์จับต้องได้

6. การดำเนินงานโครงการที่เคยทำมาแล้ว ให้การนำผลการดำเนินโครงการในปีที่ผ่านมา เช่นปี 2566 ดำเนินการแล้ว ให้นำมาวิเคราะห์ ความสำเร็จ ว่าเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ มาเป็นข้อมูลเพื่อพัฒนาและปรับปรุงการทำโครงการในปี 2567

7. การบูรณาการงานโครงการร่วมกัน โครงการที่มีกิจกรรมเชื่อมโยงต่อกัน ให้ดำเนินการร่วมกัน โดยในปีงบประมาณ 2568 ในระดับกรมฯ จะทำเป็นโครงการใหญ่ ๆ จากเดิมที่เคยทำแยกเป็นของแต่ละกองหรือสำนัก ซึ่งเคยมีประมาณ 30 โครงการ ในปีงบประมาณ 2568 จะให้เหลือประมาณ 4 – 5 โครงการ การดำเนินงานจะมีการเชื่อมโยงสอดคล้องกัน ในระดับพื้นที่เขต จังหวัด ก็ขอให้มีการบูรณาการ มีการทำงานเชื่อมโยงกัน

8. การป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตร โดยในปี 2567 รัฐบาลกำหนดให้การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นวาระแห่งชาติ โดยเฉพาะเรื่องฝุ่นควันขนาดเล็ก PM 2.5 ขอให้มีการขับเคลื่อนดำเนินการสร้างความเข้าใจ สร้างการรับรู้ในทุกระดับ

9. การปฏิบัติงานในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ “ต้องรู้จริง” ทั้งในบริบทด้านคน พื้นที่ สินค้า ในพื้นที่ที่ตัวเองรับผิดชอบ บริบทด้านคน ประกอบด้วย ด้านเศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ บริบทด้านพื้นที่ ประกอบด้วย ด้านภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ ภูมิสังคม บริบทด้านสินค้า ประกอบด้วย พืชอัตลักษณ์หรือสินค้าเกษตรมูลค่าสูง พืชดั้งเดิมในพื้นที่ พื้นที่เพาะปลูก ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่

10. การส่งเสริมสินค้าเกษตรมูลค่าสูง โดยการใช้แนวทาง “ตลาดนำ นวัตกรรม เพิ่มรายได้” ด้านตลาดนำ ประกอบด้วย ความต้องการบริโภคทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ โรงงานรับซื้อในพื้นที่มีกี่แห่ง ผลผลิตสามารถผลิตได้เท่าไหร่ ผลผลิต Yield กี่กิโลกรัมต่อไร่ สัดส่วนและส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นเท่าไหร่ โอกาสทางการตลาดในอนาคต อยู่ที่ไหน ด้านนวัตกรรมเสริม ประกอบด้วย นวัตกรรมที่นำมาใช้ในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการผลิต ตั้งแต่การปลูก การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว การแปรรูป รวมถึงกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้มอ ได้จำนวนคาร์บอนเครดิตเท่าไหร่ ด้านการเพิ่มรายได้ ประกอบด้วย ผลตอบแทนที่ได้จากการเพิ่มขึ้นของผลผลิต มีต้นทุนการผลิตที่ลดลง ผลผลิตที่เพิ่มปริมาณมากขึ้น รายได้มวลรวมที่เพิ่มขึ้น การดำเนินการดังกล่าวต้องสามารถตอบสนองในเชิงสังคม ว่าทำให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นได้อย่างไร ภาคีเครือข่ายความร่วมมือทั้งด้านวิชาการและแหล่งทุน เข้ามามีส่วนในการสนับสนุนได้อย่างไร

11. การเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติที่กำลังจะเกิดขึ้น ตลอดจนการเตรียมความพร้อมในการเยียวยาหลังการเกิดภัย

กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว