สศก. เจาะ 10 เดือน สถานการณ์การค้าสินค้าเกษตรไทย

1,249

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เจาะ 10 เดือน สถานการณ์การค้าสินค้าเกษตรไทย ยังคงเติบโตได้ดีในตลาดอาเซียนและตลาดโลก

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยถึงสถานการณ์การค้าสินค้าเกษตรและยางพาราธรรมชาติของไทยในตลาดโลก พบว่า ไทยยังคงรักษาตลาดส่งออกได้ โดยมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น สะท้อนจากมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรของไทยกับโลกในช่วง 10 เดือนของปี 2566 (มกราคม-ตุลาคม 2566) เท่ากับ 2,012,215 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15,987 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.80 โดยไทยมีมูลค่าการค้ากับจีน (23.49%) มากเป็นอันดับ 1 รองลงมา คือ อาเซียน (22.81%) สหรัฐอเมริกา (8.03%) สหภาพยุโรป (7.67%) และญี่ปุ่น (7.17%)

สำหรับสถานการณ์การค้าสินค้าเกษตรและยางพาราธรรมชาติของไทยในตลาดอาเซียน 9 ประเทศ (บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม)ในช่วง 10 เดือนของปี 2566 (มกราคม-ตุลาคม 2566) พบว่า สินค้าเกษตรไทยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565  ไทยยังคงเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ากับอาเซียน คิดเป็นมูลค่า 195,811 ล้านบาท โดยสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญ 5 กลุ่มแรก ได้แก่ (1) น้ำตาล มูลค่า 81,604 ล้านบาท อาทิ น้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ (2) เครื่องดื่ม มูลค่า 43,565 ล้านบาท อาทิ เครื่องดื่มชูกำลัง นมยูเอชที นมถั่วเหลือง (3) ข้าวและธัญพืช มูลค่า 31,284 ล้านบาท อาทิ ข้าวเจ้าขาวอื่น 5% ปลายข้าว ข้าวเจ้าขาวหอมมะลิไทย 100% (4) ของปรุงแต่งเบ็ดเตล็ดที่บริโภคได้ มูลค่า 27,419 ล้านบาท อาทิ เต้าหู้ แอลกอฮอล์ผง ครีมเทียม ซอสพริก น้ำปลา กะปิ และ (5) ของปรุงแต่งจากธัญพืช แป้ง และนม มูลค่า 23,828 ล้านบาท  อาทิ อาหารปรุงแต่งสำหรับทารกหรือเด็กเล็ก เส้นหมี่ วุ้นเส้น บิสกิต และเค้ก

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร
เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

ในขณะที่การนำเข้ามีการขยายตัวลดลง โดยมีมูลค่านำเข้า 131,571 ล้านบาท ลดลงจากปี 2565 ร้อยละ 4.76  สินค้าเกษตรนำเข้าสูงสุด 5 กลุ่มแรก ได้แก่ (1) พืชผักที่บริโภคได้ มูลค่า 20,749 ล้านบาท อาทิ มันเส้น หัวมันสำปะหลังสดหรือแห้ง มันสำปะหลังอัดเม็ด ถั่วบีนแห้ง พริกสดหรือแช่เย็น  (2) ของปรุงแต่งเบ็ดเตล็ดที่บริโภคได้ มูลค่า 16,378 ล้านบาท อาทิ เต้าหู้ แอลกอฮอล์ผง ครีมเทียม กาแฟสำเร็จรูป ซอสพริก น้ำปลา กะปิ ซอสถั่วเหลือง (3) ข้าวและธัญพืช มูลค่า 15,321 ล้านบาท อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ลูกเดือยทั้งเปลือก ข้าวเหนียว ข้าวหอมมะลิ ข้าวบาสมาติ (4) ปลาและสัตว์น้ำ มูลค่า 14,664 ล้านบาท อาทิ เนื้อปลาบดแช่แข็งปลาทะเลอื่นๆ สดหรือแช่เย็น เช่น ปลากรุพเพอร์ ปลาดอกหมากครีบยาว เป็นต้น และ (5) ของปรุงแต่งจากธัญพืช แป้งและนม มูลค่า 11,126 ล้านบาท อาทิ อาหารปรุงแต่งสำหรับทารกหรือเด็กเล็ก บิสกิต เค้ก แวฟเฟิล และเวเฟอร์

ตลาดส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทย 3 อันดับแรก ได้แก่ อินโดนีเซีย มีมูลค่าการส่งออก 65,104 ล้านบาท หรือ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.89 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรในอาเซียน สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายบริสุทธิ์ ข้าวเจ้าขาวอื่น 5% ปลายข้าวเจ้า ปลายข้าวเหนียว อาหารสุนัขหรือแมว อาหารสุกร อาหารกุ้ง ปลาป่น ลำไย มะพร้าวอ่อน ลำไยแห้ง อาหารปรุงแต่งสำหรับทารกหรือเด็กเล็ก เค้ก และบิสกิต

รองลงมา คือ มาเลเซีย มีมูลค่าการส่งออก 64,408 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.67 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรในอาเซียน สินค้าเกษตรส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำยางธรรมชาติ ยางแผ่นผึ่งแห้ง ยางลาเท็กซ์เครพ ยางสกิม น้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายบริสุทธิ์ ไก่แช่แข็ง (ทั้งตัว/ชิ้นเนื้อ/เครื่องใน) ข้าวเจ้าขาวอื่น 5% ข้าวเจ้าขาวหอมมะลิไทย 100% ข้าวโพดสำหรับเพาะปลูก อาหารปรุงแต่งสำหรับทารกหรือเด็กเล็ก เส้นหมี่ วุ้นเส้น และบิสกิต

อันดับสาม คือ กัมพูชา มีมูลค่าการส่งออก 43,897 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.41 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรในอาเซียน สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องดื่มชูกำลัง นมยูเอชที นมถั่วเหลือง น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ ลูกกวาด ช็อกโกแลตขาว กลูโคสและน้ำเชื่อมกลูโคส ครีมเทียม กาแฟสำเร็จรูป ซอสพริก น้ำปลา กะปิ น้ำมันหอย เนื้อปลาซูริมิปรุงแต่ง ไส้กรอก เส้นหมี่ วุ้นเส้น เค้ก และบิสกิต

นอกจากนี้ สศก. ยังได้ติดตามสถานการณ์การค้าระหว่างไทยกับตลาดหลักที่เป็นคู่ค้าสำคัญ ได้แก่
จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป พบว่า การส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปตลาดจีนขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 16.14 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 โดยผลไม้เมืองร้อนของไทย เช่น ทุเรียน สับปะรด มังคุด มะม่วง ยังคงเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมและตอบรับอย่างดีจากผู้บริโภคชาวจีน เนื่องจากผู้บริโภคชาวจีนมีความต้องการผลไม้ที่หลากหลาย อีกทั้งยังเชื่อมั่นในคุณภาพมาตรฐานของผลไม้ไทย ประกอบกับรายได้ประชากรที่สูงขึ้น ทำให้มีกำลังซื้อสูง อย่างไรก็ดี แม้ว่าตลาดผลไม้จีนมีการเติบโตในทิศทางที่สดใส แต่มีการแข่งขันสูงเช่นกัน ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรศึกษาพฤติกรรมการบริโภคผลไม้ของผู้บริโภคชาวจีนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพฤติกรรมของชาวจีนยุคใหม่ที่หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ข่าว