สศก. ชูกลุ่มเกษตรกรในชุมชนห้วยเขย่ง

1,171

สศก. ส่งเสริมยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร ชูกลุ่มเกษตรกรในชุมชนห้วยเขย่ง เมืองกาญจน์ สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้แก่เกษตรกร

นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการติดตามประเมินผลโครงการยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งมีวัตถุประสงค์   เพื่อส่งเสริมและพัฒนาอาชีพของชุมชนให้มีความมั่นคงบนฐานความรู้และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูง พัฒนาคุณภาพผลิตผลเกษตรบนพื้นที่สูงเพื่อให้ได้รับการรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัย พัฒนาและส่งเสริมด้านการตลาดและสถาบันเกษตรกร ให้สามารถบริหารจัดการด้านการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตรบนพื้นที่สูงที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์กรมหาชน) (สพวส.)  เป็นหน่วยงานร่วมบูรณาการดำเนินงานกับหน่วยงานอื่นๆ ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งปีงบประมาณ พ.ศ.2566 กำหนดเป้าหมายเกษตรกรบนพื้นที่สูงในการยกระดับคุณภาพการผลิตสินค้าเกษตร และการจัดการหลังเก็บเกี่ยวภายใต้มาตรฐานอาหารปลอดภัย จำนวน 2,700 ราย

นางธัญธิตา บุญญมณีกุล
รองลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

จากการติดตามประเมินผลภาพรวมโครงการของ สศก. พบว่า มีเกษตรกรที่ได้รับการยกระดับในการผลิตและได้รับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัยมีจำนวน 3,722 ราย (ร้อยละ 137.85) และจากการติดตามผลโครงการฯ ตัวอย่างของ        กลุ่มเกษตรกรในชุมชนห้วยเขย่ง จังหวัดกาญจนบุรี พบว่า เกษตรกรในชุมชนมีประสบการณ์ในการทำการเกษตรเฉลี่ย 13 ปี โดยหลังจากเข้าร่วมโครงการในปี 2566 สพวส. เข้าไปส่งเสริมองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรในชุมชนเกี่ยวกับการใช้สารชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดแมลง การทำปุ๋ยหมักเพื่อลดต้นทุนการผลิต เกษตรกรมีการนำความรู้ดังกล่าวไปใช้ในการเพาะปลูกพืชของตนเอง ส่งผลให้สามารถช่วยป้องกันแมลงศัตรูพืชไม่ให้เข้ามาทำลายผลผลิตของเกษตรกร ลดการใช้สารเคมีทำให้ผลผลิตปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง ช่วยรักษาความชื้น และอุณหภูมิภายในโรงเรือน อีกทั้งการปรับปรุงดิน และการกำจัดวัชพืช  ก็สามารถทำได้สะดวก โดยเกษตรกรในชุมชนห้วยเขย่งทุกราย (จำนวน 22 ราย) ได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัย (ใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทพืชผัก เช่น ผักกาดขาว ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง ผักชี และผักกาดหอม ทั้งนี้ เกษตรกรทุกรายยังมีความต้องการต่ออายุใบรับรองฯ (ใบรับรองฯ มีอายุ 2 ปี) เนื่องจากเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ผลผลิตสามารถจำหน่ายได้ในราคาสูงกว่าตลาดทั่วไป รวมทั้งการจำหน่ายผลผลิตต้องใช้ใบรับรองด้วย

นอกจากการส่งเสริมองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรในชุมชนแล้ว สพวส. ยังช่วยในการประสานจัดทำข้อตกลงระหว่างเกษตรกรในชุมชนกับบริษัทเอกชนให้เข้ามารับซื้อ โดยให้มีการทำสัญญาประกันราคารับซื้อผลผลิตระหว่างบริษัทเอกชนกับเกษตรกรในชุมชน เพื่อให้เกษตรกรได้รับรายได้ที่เหมาะสมกับคุณภาพสินค้าเกษตรซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าตลาดทั่วไป เช่น ราคารับซื้อผักกาดขาว 40 บาทต่อกิโลกรัม ผักคะน้า 35 บาทต่อกิโลกรัม ผักกวางตุ้ง 35 บาทต่อกิโลกรัม ผักชี 100 บาทต่อกิโลกรัม ผักกาดหอม 30 บาทต่อกิโลกรัม เป็นต้น และนอกจากเกษตรกรจะจำหน่ายสินค้าให้กับบริษัทเอกชนแล้ว ยังมีการจำหน่ายผลผลิตบางส่วนให้กับผู้บริโภคภายในชุมชนอีกด้วย ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยรายละ 554,457 บาทต่อปี ซึ่งสูงกว่าก่อนเข้าร่วมโครงการ 497,407 บาทต่อปี (เพิ่มขึ้น 57,050 บาท/ปี หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.46) อย่างไรก็ตาม เกษตรกรในชุมชนส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ หรือกลุ่มผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อนและได้รับผลกระทบทั้งเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สาธารณสุข การเมือง รวมถึงผู้ที่ขาดโอกาสที่จะเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานของรัฐ ซึ่งมีข้อจำกัดหลายประการในการเข้าร่วมโครงการหรือเข้าถึงสิทธิ์ต่าง ๆ จากหน่วยงานภาครัฐ เช่น การขอรับรองมาตรฐานต่างๆ ในประเทศไทย เนื่องจากมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น เป็นต้น ดังนั้น การดำเนินโครงการในระยะต่อไป หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง และควรพิจารณาสนับสนุนมาตรฐานกลุ่มภายใต้การรวมตัวของเกษตรที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์และเป็นมาตรฐานที่ภาคธุรกิจและการตลาดยอมรับและให้การรับรอง และการส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มเพื่อรวบรวมผลผลิตให้มีปริมาณมากเพื่อการต่อรอง ตลอดจนอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ อาทิ ตู้แช่เย็นรวบรวมผลผลิต เพื่อช่วยรักษาคุณภาพผลผลิตให้คงความสดใหม่ได้นานยิ่งขึ้น

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ข่าว