กรมวิชาการเกษตรจับมือ กทม. นำร่องลุยแก้ปัญหาฝุ่น

114

กรมวิชาการเกษตรจับมือ กทม. นำร่องลุยแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ภาคเกษตร ใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ย่อยสลายตอซังและฟางข้าวช่วยเกษตรกรลดการเผาฟาง และเพิ่มธาตุอาหารในดิน

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เข้าร่วมงาน Kick off ขับเคลื่อน “กิจกรรมสาธิตการใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ย่อยสลายวัสดุอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตร เพื่อย่อยสลายตอซังฟางข้าวซึ่งการลดการเผาตอซังเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยในปี 2567 ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รณรงค์ให้เกษตรกร ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ตั้งเป้าลดการเผาในพื้นที่เกษตรลงร้อยละ 50 กรมวิชาการเกษตรจึงได้ขยายนโยบายดังกล่าว โดยนำร่องร่วมกับกรุงเทพมหานครณ แปลงนาสาธิตของกรุงเทพมหานคร แขวงทรายกองดินใต้ เขตคลองสามวา

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า การเผาตอซังฟางข้าว ก่อให้เกิดปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ของประชาชนเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นยังส่งผลกระทบต่อคุณสมบัติของดิน ทำให้ดินแน่นทึบ อัตราการซาบซึมน้ำต่ำ การเผาตอซังทำให้ปริมาณไนโตรเจนที่ผิวดินลดลง ความหลากหลายของจำนวนและชนิดจุลินทรีย์ลดลง การเผาตอซัง เป็นการสูญเสียธาตุอาหารที่ควรจะหมุนเวียนลงดินในพื้นที่ปลูกข้าว  รวมทั้งการเผาตอซังหลังการเก็บเกี่ยวเป็นการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ บรรยากาศ ก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อน อีกทั้งการเผาทำให้เกิดสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่ทวีความรุนแรงในช่วงเดือน ธันวาคม ถึงเดือนมีนาคมของทุกปี การไม่เผาตอซังฟางข้าวในเขตกรุงเทพมหานคร จะเป็นการลดผลกระทบจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และเป็นการส่งคืน ธาตุอาหาร และอินทรียวัตถุลงสู่ดิน เป็นการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ดังนั้นการจัดการตอซังฟางข้าวอย่างเหมาะสม จึงเป็นสิ่งที่เกษตรกร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรตระหนัก และให้ความสำคัญ กรมวิชาการเกษตรจึงได้จัดทำโครงการวิจัยการขยายผลการใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ย่อยสลายวัสดุอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตร เพื่อย่อยสลายตอซังฟางข้าวสำหรับการเตรียมดินในแปลงนาเขตชลประทานในพื้นที่รอบกรุงเทพมหานคร และเขตชลประทานอื่นที่มีปัญหาฝุ่น PM 2.5 ณ แปลงนาสาธิตของ นายสุรชัย  โชติอ่ำ แขวงทรายกองดิน เขตคลองสามวากรุงเทพมหานคร ซึ่งได้มีการสาธิตวิธีการใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ย่อยสลายวัสดุอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตร โดยเกษตรกรเดินพ่นหว่านหัวเชื้อจุลินทรีย์อัตราหัวเชื้อจุลินทรีย์ 1.5 กิโลกรัมต่อไร่ ร่วมกับปุ๋ยยูเรียอัตรา 5 กิโลกรัมต่อไร่  เพื่อย่อยสลายตอซังและฟางข้าวภายในระยะเวลา7 วัน สอดรับกับการทดสอบของกรมวิชาการเกษตร ที่ใช้โดรนในการพ่นหว่านเชื้อจุลินทรีย์ อัตรา 1.5 กิโลกรัมต่อไร่ในแปลงของเกษตรกร เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร พบการทดสอบพบว่า สามารถย่อยสลายตอซังและฟางเข้าภายใน 7 วัน โดยเกษตรกรสามารถเตรียมแปลงปลูกข้าวได้ตามปกติ ซึ่งการไม่เผาตอซังไม่กระทบการเจริญเติบโตของข้าว ในขณะที่ยังทำให้ผลผลิตข้าวสูงกว่าการไม่ใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ย่อยสลายฯ หากมีการใช้ในระยะยาวจะก่อประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกร 

“กรมวิชาการเกษตรได้จัดทำแผนสาธิตการใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ย่อยสลายวัสดุอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตรย่อยสลายตอซังฟางข้าวสำหรับเตรียมดินในแปลงนาเขตชลประทานในพื้นที่เขตหนองจอก คลองสามวา และลาดกระบังของกรุงเทพมหานคร และได้ผลิตขยายหัวเชื้อจุลินทรีย์ย่อยสลายวัสดุอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตรจำนวน 20 ตัน เพื่อจำหน่ายให้แก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกรปลูกข้าว รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้นำหัวเชื้อจุลินทรีย์ฯ ไปใช้เพื่อร่วมกันลดการเผาฟางซึ่งเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ภาคการเกษตร และยังสามารถเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นการลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยให้เกษตรกรได้อีกด้วย” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าว

กรมวิชาการเกษตร ข่าว