พด.แนะเกษตรกรทำปุ๋ยหมักจากฟางข้าว

107

กรมพัฒนาที่ดินแนะเกษตรกรทำปุ๋ยหมักจากฟางข้าว ลดเผา ลดฝุ่น PM 2.5 รักษาสิ่งแวดล้อม

จากการที่รัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอข่าวเกี่ยวกับ การเผาฟางมีโทษหนักเตือนเกษตรกรจะถูกยึดที่ สปก. คืน กรมพัฒนาที่ดินจึงเน้นย้ำเรื่อง รณรงค์เลิกการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร เปลี่ยนมาใช้วิธีไถกลบและนำมาทำปุ๋ยหมักแทนการเผา พร้อมสนับสนุนสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ช่วยย่อยสลายตอซังได้ ปุ๋ยหมักใช้ในการปรับปรุงบำรุงดิน ลดต้นทุนได้ผลผลิตดี มีคุณภาพปลอดภัย สร้างสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน

นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน  เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดินขานรับนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการบูรณาการหน่วยงานต่างๆ แก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร เพื่อลดปริมาณฝุ่นละออง
PM 2.5 จากการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร รณรงค์เกษตรกรเลือกใช้วิธีการจัดการกับเศษวัสดุเหลือใช้
ทางการเกษตรที่ถูกต้อง เหมาะสมกับพื้นที่ เปลี่ยนมาใช้วิธีไถกลบและทำปุ๋ยหมักแทนการเผา เพื่อหยุดยั้งปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเผาวัสดุทางการเกษตร ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพของประชาชน เศรษฐกิจและการท่องเที่ยว โดยส่งเสริมให้เกษตรกรทำปุ๋ยหมักจากวัสดุเหลือใช้ในไร่นา อาทิ ตอซังข้าว ฟางข้าว ข้าวโพด ตออ้อย และอื่นๆ ซึ่งเศษวัสดุการเกษตรเหล่านี้ มีส่วนประกอบของธาตุอาหารพืชและอินทรียวัตถุที่เป็นประโยชน์ต่อพืชเพิ่มธาตุอาหารให้กับดิน ช่วยปรับปรุงโครงสร้างดิน ก่อนที่จะทำการเพาะปลูกในครั้งถัดไป ซึ่งพบว่า ประเทศไทยภายหลังการเก็บเกี่ยวพืช จะมีวัสดุเหลือใช้ในแปลงเกษตร เช่น ตอซังและฟางข้าว 26.81 ล้านตัน ตอซังและข้าวโพด 6.83 ล้านตัน ตออ้อยและเศษใบอ้อย 9.75 ล้านตัน ซึ่งเกษตรกรบางส่วนยังเผาอยู่ จากการประเมินการเผาทิ้งเศษเหลือจากตอซังข้าวและฟางข้าว ทำให้ดินสูญเสียธาตุอาหารหลักที่เป็นไนโตรเจนถึง 90 ล้านกิโลกรัม ฟอสฟอรัส 20 ล้านกิโลกรัม และโพแทสเซียม 260 ล้านกิโลกรัม ยังไม่นับการสูญเสียธาตุอาหารรอง เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม และซัลเฟอร์ อีกกว่า 150 ล้านกิโลกรัมต่อปี คิดเป็นมูลค่ากว่าห้าพันล้านบาท ดังนั้น กรมพัฒนาที่ดินจึงได้ส่งเสริมและแนะนำให้เกษตรกรไถกลบตอซัง และนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาผลิตเป็นปุ๋ยหมัก โดยได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับหมอดินอาสาและเกษตร พร้อมทั้งสนับสนุน สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 สำหรับทำปุ๋ยหมัก  และสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 สำหรับทำน้ำหมักชีวภาพช่วยเร่งการย่อยสลายและเพิ่มธาตุอาหารพืช

นายอาทิตย์ ศุขเกษม รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินด้านวิชาการ  กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมพัฒนาที่ดินมีนวัตกรรมจุลินทรีย์ สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 เร่งการย่อยเศษพืชตอซังกลายเป็นปุ๋ยหมักได้เร็วขึ้น ซึ่งทำได้ง่าย โดยนำฟางข้าวผสมกับมูลสัตว์ เช่น มูลวัว มูลไก่ เป็นต้น หรือวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรต่างๆ โดยมีสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ช่วยย่อย จนได้มาเป็น “ปุ๋ยหมักคุณภาพ” ที่จะให้อินทรียวัตถุและธาตุอาหารในดิน ให้พืชนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการผลิตปุ๋ยหมักไว้ใช้เอง จะช่วยปรับปรุงบำรุงดินให้ร่วนซุยช่วยอุ้มน้ำรักษาความชื้น ช่วยในการดูดซับธาตุอาหารพืชได้มากขึ้นและทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ พืชสามารถดูดซึมอาหารจากดินได้ดี ยังช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมี และลดต้นทุนการผลิตได้อีกด้วย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน และติดต่อขอรับผลิตภัณฑ์สารเร่งซุปเปอร์ พด. ต่างๆ ได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัดทั่วประเทศ หรือ โทร. 1760

กรมพัฒนาที่ดิน ข่าว