กรมส่งเสริมการเกษตร จัด Field Day อุบล

106

กรมส่งเสริมการเกษตร จัด Field Day อุบล ถ่ายทอดผลงานวิจัยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ตามค่าวิเคราะห์ดินสำหรับมันสำปะหลังอินทรีย์

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า งาน Field Day หรือ งานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ เป็นงานที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในช่วงเวลาก่อนเริ่มฤดูกาลผลิตใหม่ เพื่อถ่ายทอดความรู้แบบเห็นของจริง โดยนำเสนอเทคโนโลยี นวัตกรรม ภูมิปัญญา ที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่เพาะปลูก และพืชสำคัญในพื้นที่นั้น ๆ เป็นสำคัญ โดยมีสถานีเรียนรู้ที่มีนักวิชาการ หรือผู้เชี่ยวชาญเข้ามาถ่ายทอดความรู้ และตอบข้อสักถามแก่เกษตรกรที่สนใจ เป็นการบูรณาการองค์ความรู้จากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

สำหรับวันถ่ายทอดผลงานวิจัยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ตามค่าวิเคราะห์ดินสำหรับมันสำปะหลังอินทรีย์สู่เกษตรกรเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ Field Day ประจำปี 2567 ณ แปลงเกษตรกร นายรังสรรค์ อยู่สุข บ้านคำฮี หมู่ 10 ตำบลนาคาย อำเภอตาลสุม จังหวัดอุบลราชธานี ในครั้งนี้ มีความแตกต่างจากการจัดงาน Field Day ที่ผ่านมา โดยมีการนำเสนอผลงานวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ตามค่าวิเคราะห์ดิน สำหรับมันสำปะหลังอินทรีย์ ภายใต้โครงการ “การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังในระบบอินทรีย์ด้วยกลไก ตลาดนำการผลิต” ด้วยความร่วมมือระหว่าง กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กรมวิชาการเกษตร โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 อุบลราชธานี และ บริษัทอุบลไบโอเอทานอล จำกัด (มหาชน) โดยมีเป้าหมายเป็นกลุ่มเกษตรกร ตำบลนาคาย อำเภอตาลสุมและตำบลสำโรง อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี กลุ่มเกษตรกรตำบลคูเมือง ตำบลฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร กลุ่มเกษตรกรตำบลหนองไฮ อำเภอปทุมราชวงศา จังหวัดอำนาจเจริญ จำนวน 160 คน พื้นที่ปลูก 738 ไร่ ซึ่งมีการนำเสนอผลการเรียนรู้ที่ได้ถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรต้นแบบ ได้แก่ แนวทางการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์และการรับรองมาตรฐานอินทรีย์ การตรวจวิเคราะห์ดินและการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ตามค่าวิเคราะห์ดินโดยเทคโนโลยี Smart NPK และการป้องกันกำจัดโรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลังด้วยชุดตรวจโรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลังแบบ Strip Test ผลการดำเนินงานพบว่า แปลงต้นแบบที่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ตามค่าวิเคราะห์ดิน ร้อยละ 80 มีค่าวิเคราะห์ดินที่ดีขึ้น จำนวนหัวต่อเหง้าเพิ่มขึ้น ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น และกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 – 30 ชี้ให้เห็นว่า การลงทุนเพิ่มจากการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ตามค่าวิเคราะห์ดินนั้นให้ผลกำไรที่เพิ่มขึ้นตามมาด้วย

สำหรับแปลงของเกษตรกร นายรังสรรค์ อยู่สุข ที่ได้ดำเนินการตรวจวิเคราะห์ดินก่อนการเพาะปลูก และใส่ปุ๋ยอินทรีย์ตามค่าวิเคราะห์ดิน ในพื้นที่ 1 ไร่ เปรียนเทียบกับการดำเนินการในรูปแบบเดิม พบว่าน้ำหนักต่อต้นเฉลี่ยจากเดิม2.2 กิโลกรัม/ต้น เพิ่มขึ้นเป็น 3.84 กิโลกรัม/ต้น คิดเป็นร้อยละ 74.55 มีจำนวนหัวต่อต้นเฉลี่ยจากเดิม 13.2 หัว/ต้น เพิ่มขึ้นเป็น 15 หัว/ต้น คิดเป็นร้อยละ 13.64 ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ยจากเดิม 4.6 ตัน/ไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 7.2 ตัน/ไร่ คิดเป็นร้อยละ56.52 และมีเปอร์เซ็นต์แป้งเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 26 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 27 ซึ่งความสำเร็จที่ปรากฏ กรมส่งเสริมการเกษตรได้นำมาร้อยเรียงและอธิบายผ่านสถานีเรียนรู้ทั้ง 6 สถานี ให้แก่เกษตรกรรายอื่น ๆ ดังนี้

สถานีที่ 1 การตรวจวิเคราะห์ดิน และผลการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ตามค่าวิเคราะห์ดินในการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์

สถานีที่ 2 การใช้ชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช

สถานีที่ 3 การป้องกันและกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลัง

สถานีที่ 4 การบริหารจัดการแปลงมันสำปะหลังอินทรีย์ และการขอรับรองมาตรฐาน Organic Thailand

สถานีที่ 5 การสร้างเครือข่ายและเชื่อมโยงการตลาดมันสำปะหลังอินทรีย์

และสถานีที่ 6 การใช้เครื่องจักรสำหรับการปลูกมันสำปะหลัง

          นอกจากองค์ความรู้ที่เกษตรกรจะได้รับในวันนี้ ยังมีการให้บริการด้านการเกษตร การจัดนิทรรศการให้ความรู้จากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานภาคี กิจกรรมตลาดเกษตรกรจำหน่ายสินค้าของเกษตรกร กลุ่มองค์กรเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน Smart Farmer / Young Smart Farmer จากอำเภอตาลสุม และรับมอบปัจจัยการผลิตฟรีภายในงาน

กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว