กยท.รับมอบคู่มือ FSC เล่มแรกในไทย

1,453

การยางฯ รับมอบคู่มือ FSC เล่มแรกในไทย เตรียมเพิ่มเป้าขยายสวนยางมาตรฐาน FSC ทั่วประเทศ

วันนี้ (2 มิ.ย. 63) กยท. จัดพิธีรับมอบ “คู่มือการรับรองการจัดการป่าไม้ตามมาตรฐาน Forest Stewardship Council (FSC) สำหรับสวนยางพาราในประเทศไทย” คู่มือเล่มแรกในไทย จาก สกสว. และ ภาควิชาการจัดการป่าไม้ ม.เกษตรฯ เพื่อส่งไม้ต่อชาวสวนยาง เน้น ยกระดับมาตรฐานสวนยางทั้งประเทศ ณ ห้องประชุมรัษฎา อาคาร 2 ชั้น 2 การยางแห่งประเทศไทย สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยด้านธุรกิจและปฏิบัติการ เผยที่มาของการจัดงานในครั้งนี้ว่า การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) มองว่าในอนาคตทั่วโลกจะให้ความสำคัญกับการใช้ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่ผลิตจากผลผลิตของสวนยางพาราทั้งไม้และน้ำยางพาราที่ผ่านการรับรองมาตรฐานระดับสากล เช่น ต้องมีการจัดการที่ดี ถูกกฎหมาย หรือ ไม่บุกรุกป่าธรรมชาติ เป็นต้น กลุ่มองค์กรเอกชนทั่วโลกจึงได้จัดตั้งองค์กร FSC : Forest Stewardship Council เพื่อกำหนดมาตรฐานในการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนตามมาตรฐานสากล และเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก กยท. ได้ดำเนินการตามแผนงานส่งเสริมการทำสวนยางตามมาตรฐานฯ ตั้งแต่ปี 2562 เพื่อสร้างมาตรฐานสวนยางของไทย เข้าสู่ระบบการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนตามหลักสากล โดยปี 2563 จะดำเนินการนำร่องในพื้นที่กองจัดการสวนยาง 1 เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ จำนวน 8,050 ไร่ และเปิดรับสมัครเกษตรกรชาวสวนยางที่ต้องการเข้าร่วมโครงการฯ ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช, สุราษฎร์ธานี, ตรัง, กระบี่, พัทลุง, สงขลา และสตูล คิดเป็นจำนวนพื้นที่รวม 155,000 ไร่ และวางเป้าหมายในปี 2564 ว่าต้องการขยายการสร้างมาตรฐานสวนยางให้ครอบคลุมทั่วประเทศ  โดยเปิดรับสมัครเกษตรกรชาวสวนยางเข้าร่วมโครงการอีก โดยเพิ่มพื้นที่อีก 237,000 ไร่

“กยท. ได้รับมอบคู่มือฯ จาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และภาควิชาการจัดการป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และจะร่วมผลักดันให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม คู่มือการรับรองการจัดการป่าไม้ตามมาตรฐาน Forest Stewardship Council (FSC) สำหรับสวนยางพาราในประเทศไทย จะถูกถ่ายทอดสู่เกษตรกรเพื่อยกระดับและพัฒนาอาชีพการทำสวนยางพาราของไทยให้มั่นคงยั่งยืนขึ้น”

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า สกสว. มุ่งสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างองค์ความรู้ นโยบาย นวัตกรรม รวมทั้งสนับสนุนการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน จึงสนับสนุนโครงการวิจัย เรื่อง “การพัฒนาคู่มือและศักยภาพของผู้ทำสวนยางพารา และผู้ประกอบธุรกิจไม้ยางพาราให้ได้รับการรับรองการจัดการป่าไม้ในระดับนานาชาติ” ได้ผลงานจากการวิจัยที่สำคัญ คือ “คู่มือการรับรองการจัดการป่าไม้ตามมาตรฐาน Forest Stewardship Council (FSC) สำหรับสวนยางพาราในประเทศไทย” นับเป็นคู่มือฉบับแรกของไทยที่เป็นผลผลิตจากการวิจัยตามหลักวิชาการและได้ผ่านการนำไปทดลองสร้างการรับรู้ให้กับผู้ทำสวนยางพาราและผู้ประกอบธุรกิจที่ใช้ไม้และน้ำยางพาราในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย

“ผลงานวิจัยชิ้นนี้ จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในการรับรองมาตรฐานการจัดการสวนยางพาราในระดับสากล อันจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับสวนยางพาราทั้งระบบ รวมทั้ง การสร้างอำนาจต่อรองกับประเทศคู่ค้า และเพิ่มช่องทางการส่งออกไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก” ผอ.สกสว. กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.ขวัญชัย ดวงสถาพร หัวหน้าโครงการวิจัย ภาควิชาการจัดการป่าไม้ คณะวนศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีพื้นที่สวนยางพาราที่ได้รับการในการส่งสินค้าไปยังประเทศอื่นๆ นอกจากประเทศจีน เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น และภูมิภาคต่างๆ ที่มีการกำหนดเงื่อนไขนี้แล้วในบางผลิตภัณฑ์  อีกทั้ง จากวิกฤติโควิด-19 ทำให้การส่งออกสินค้าไปประเทศจีนมีอัตราลดลง ดังนั้น คณะนักวิจัยจึงได้พัฒนาคู่มือฉบับนี้ขึ้น ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจาก สกสว. และขณะทำการวิจัยได้รับการสนับสนุนในการรวบรวมข้อมูลจาก กยท.เป็นอย่างดี

โดยคู่มือฉบับนี้จัดเป็นคู่มือการรับรองการจัดการป่าไม้ตามมาตรฐาน FSC ฉบับแรกของประเทศไทยที่เป็นผลผลิตจากการวิจัยตามหลักวิชาการและได้ผ่านการนำไปทดลองสร้างการรับรู้ให้กับผู้ทำสวนยางพาราและผู้ประกอบธุรกิจที่ใช้ไม้และน้ำยางพาราในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย เพื่อให้เป็นคู่มือที่เหมาะสม ทันสมัย และง่ายต่อการศึกษาด้วยตนเอง จึงถือโอกาสนี้ส่งมอบให้ทาง กยท. เพื่อนำไปเผยแพร่และสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรผู้ทำสวนยางพาราในประเทศไทยและ ผู้เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในการรับรองมาตรฐานการจัดการสวนยางพาราในระดับสากลอันจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับสวนยางพาราทั้งระบบ เช่น การมีผลผลิตที่ยั่งยืน การเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร การพัฒนาอุตสาหกรรมและการค้าที่ใช้ผลผลิตจากสวนยางพารา รวมทั้ง การสร้างอำนาจต่อรองของประเทศไทยกับประเทศคู่ค้าเรื่องราคาผลิตภัณฑ์และเพิ่มช่องทางการส่งออกไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก

การยางเเห่งประเทศไทย ข่าว