กปม. เยี่ยมชมโครงการธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำ จ.พะเยา

43

อธิบดีกรมประมง…เยี่ยมชมความสำเร็จ “โครงการธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำ แหล่งน้ำหนองบัว จ.พะเยา” หลังเปิดจับสัตว์น้ำ 3 ปี ได้มากกว่า 4.6 ตัน สร้างรายได้คืนชุมชนกว่า 3 แสนบาท

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากนโยบายของร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการส่งเสริมเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ภายใต้การดำเนินการขององค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น ก่อให้เกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมา กรมประมงได้ขับเคลื่อนการดำเนิน “โครงการธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วม” อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชนให้เป็นแหล่งผลิตสัตว์น้ำของชุมชน ภายใต้หลักการ “ร่วมคิด ร่วมทำร่วมรับผลประโยชน์ และร่วมติดตามประเมินผล” ส่งผลให้ปัจจุบันมีธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำเกิดขึ้นกว่า 160 แห่ง ในพื้นที่ 50 จังหวัดทั่วประเทศ มีสมาชิกเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 10,851 ราย มีการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อเพิ่มผลผลิตในแหล่งน้ำกว่า 26 ล้านตัว สามารถจับสัตว์น้ำขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้มากกว่า 457 ตัน เกิดรายได้เข้ากองทุนโครงการฯ กว่า 15.8 ล้านบาท และปันผลคืนให้แก่สมาชิกแล้วมากกว่า 1.4 ล้านบาท โดยในปี 2567 กรมประมงเตรียมขยายการดำเนินการในแหล่งน้ำใหม่เพิ่มเติมอีก 20 แห่ง และยังคงติดตามการดำเนินการในแหล่งน้ำเก่า 60 แห่ง เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง

สำหรับธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วม “แหล่งน้ำหนองบัว” ตั้งอยู่ที่ หมู่บ้านไคร้ป่าคา ตำบลน้ำแวน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา มีเนื้อที่กว่า 29 ไร่ เดิมแหล่งน้ำแห่งนี้มีการใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรเท่านั้น แต่เมื่อปี 2564 กรมประมงได้เข้ามาดำเนินการจัดตั้งโครงการธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วมโดยการบริหารจัดการแหล่งน้ำหนองบัว และจดทะเบียนเป็นองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มรายได้และสร้างเป็นแหล่งอาหารสัตว์น้ำให้กับคนในชุมชน จนปัจจุบันมีสมาชิกเข้าร่วมโครงการจำนวน 148 ราย ระดมหุ้นได้เป็นเงิน 38,500 บาท มีการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำโดยร่วมกันอนุบาลลูกปลาในกระชังเพื่อเพิ่มอัตราการรอดก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำและจำหน่าย จำนวน 415,010 ตัว มีการเลี้ยงหอยขมในกระชังเพื่อเป็นทางเลือกในการเสริมรายได้ให้กับคนในชุมชน และลดต้นทุนด้านอาหารสัตว์น้ำโดยนำฟางข้าวเหลือใช้จากการทำนามาสร้างอาหารสัตว์น้ำจากธรรมชาติ (การทำแซนวิชอาหารปลา) นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรม หนองบัว ฟิชชิ่ง ปาร์ค เปิดโอกาสให้คนในชุมชนสามารถจับสัตว์น้ำจากแหล่งน้ำหนองบัวได้ โดยสัตว์น้ำภายใต้โครงการฯ ที่สามารถจับได้ ประกอบด้วย ปลานิล ปลานวลจันทร์เทศ ปลายี่สกเทศ ปลากระแห ปลาสร้อยขาว ปลาไน และกุ้งก้ามกราม ซึ่งจากการเปิดจับสัตว์น้ำตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบันสามารถสร้างรายได้เข้ากองทุนโครงการฯ ทั้งหมด 147,000 บาท มีการจับสัตว์น้ำขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้กว่า 4.65 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 3 แสนบาท

อธิบดีฯ กล่าวในตอนท้ายว่า โครงการฯ แหล่งน้ำหนองบัวแห่งนี้ นับเป็นอีกหนึ่งแห่งที่ประสบผลสำเร็จเห็นเป็นรูปธรรมกลายเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการแหล่งน้ำให้เป็นศูนย์กลางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของชุมชน สามารถผลิตอาหารสัตว์น้ำให้เพียงพอต่อการบริโภค เสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร เป็นการลดรายจ่ายและสร้างรายได้ ภายใต้แนวคิด “สร้าง การมีส่วนร่วม เสริม ทักษะองค์ความรู้ เพิ่ม ผลผลิตสัตว์น้ำ ยก ระดับคุณภาพชีวิต พัฒนา ความยั่งยืนของเครือข่าย” เกิดเงินทุนหมุนเวียน สร้างเศรษฐกิจฐานรากในชุมชนได้อย่างยั่งยืนต่อไป

กรมประมง