เกษตรเขต 5 สงขลา ดำเนินการเชิงรุก “รับมือภัยแล้ง”

160

เกษตรเขต 5 สงขลา ขานรับนโยบาย ดำเนินการเชิงรุก “รับมือภัยแล้ง ปี 2567”

นายวุฒิศักดิ์ เพชรมีศรี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) กำลังปานกลาง ได้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรของประเทศไทย โดยเฉพาะภัยแล้ง ซึ่งภาคการเกษตรได้รับผลกระทบและทวีความรุนแรงมากขึ้น สร้างความเสียหายต่อผลิตผลทางการเกษตร เศรษฐกิจระดับครัวเรือนและเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง การให้ความรู้แก่เกษตรกร การเฝ้าระวังและการแจ้งเตือน การสร้างความพร้อมในการรับมือภัยแล้ง จะช่วยลดความสูญเสียได้อย่างมาก สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ (War room) ติดตาม สนับสนุนและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านพืช และจัดทำข้อมูลสนับสนุนพื้นที่ ได้แก่ ข้อมูลสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำ ปริมาณน้ำฝน และ สถานการณ์รายงานการเพาะปลูกพืช สนับสนุนจังหวัดและอำเภอ เพื่อติดตามและเฝ้าระวังก่อนการเกิดภัยพิบัติ เร่งแจ้งเตือนเกษตรกร และให้ความช่วยเหลือในกรณีเกิดภัย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมการรับมือสถานการณ์ภัยแล้งด้านพืช ตามแนวทาง “กสก.ปฏิบัติการรับมือภัยแล้ง ปี 67” ซึ่งประกอบด้วย

1.) การประเมินความเปราะบางของพื้นที่หรือชุมชน (ระดับอำเภอ ตำบล) ประกอบด้วย พืชที่เพาะปลูกและความต้องการน้ำในแต่ละระยะการเจริญเติบโต ปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่ ปริมาณน้ำฝนคาดการณ์ อุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ ระดับน้ำในดิน และการวิเคราะห์ผลกระทบและโอกาสในการเกิดความเสียหาย

2.) วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยง เช่น พื้นที่เสี่ยงในการเพาะปลูกข้าวนาปรัง พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำภาคการเกษตรนอกเขตชลประทาน พื้นที่เสี่ยงไม้ผลที่มีมูลค่าท่าเศรษฐกิจนอกเขตชลประทาน และพื้นที่เสี่ยงน้ำเค็มรุก

3.) วางแผนการปฏิบัติการรับมือภัยแล้ง เพื่อสื่อสารสร้างความตระหนัก ความเข้าใจถึงผลกระทบ และความเสี่ยงภัยแล้ง ด้านปริมาณผลผลิต คุณภาพ ปริมาณการสูญเสีย และความคุ้มค่าหากจะลงทุนเพาะปลูก และการให้ความรู้แนวปฏิบัติการจัดการป้องกันความเสี่ยงและผลกระทบ ตามการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยง เช่น การปรับลดปริมาณการเพาะปลูกเพื่อลดการสูญเสียหรือความเสียหาย หรือปรับเปลี่ยนเป็นการปลูกพืชใช้น้ำน้อย การใช้น้ำในการทำการเกษตรแบบประหยัด การติดตามสถานการณ์ภูมิอากาศ เพื่อจัดการสมดุลระบบการเจริญเติบโต

4.) ติดตามและประเมินข้อมูลภูมิอากาศ ปริมาณฝน อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ ความหนาแน่นของโรค แมลงศัตรูพืช อย่างสม่ำเสมอ

นายวุฒิศักดิ์ เพชรมีศรี
ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา

นายวุฒิศักดิ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในส่วนของภาคใต้ เกษตรกรได้แจ้งขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรแล้วจำนวน 355,545 ครัวเรือน เนื้อที่ทำการเกษตรจำนวน 4,827,035 ไร่ ซึ่งสำนักงานเกษตรอำเภอได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง ให้เกษตรกรมาแจ้งข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน หากมีมาตรการช่วยเหลือของทางภาครัฐ เกษตรกรจะได้ไม่เสียสิทธิ์ ในด้านของสถานการณ์การเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2566/2567 พื้นที่ปลูกจำนวน 25,246 ไร่ จำแนกเป็น พืชผัก 19,688 ไร่ พืชไร่ 1,850 ไร่ ข้าวนาปรัง 3,708 ไร่ ซึ่งได้เก็บเกี่ยวไปแล้ว 479 ไร่ และรอการเก็บเกี่ยวอีก 3,229 ไร่ (รายงานผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2567)

ด้านการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงและพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ โดยภาคใต้มีพื้นที่ทำการเกษตรโดยรวมทั้งข้าว ไม้ผล ไม้ยืนต้น จำนวน 5,802,996.27 ไร่ ไม่มีความเสี่ยงจำนวน 2,597,583.77 ไร่ ความเสี่ยงน้อยจำนวน 1,629,461.79 ไร่ ความเสี่ยงปานกลาง 726,328.59 ไร่ ความเสี่ยงสูง 338,860.64 ไร่ และพื้นที่การเกษตรตกกระทบในดัชนีแล้งความเสี่ยงสูงมาก เนื้อที่ 510,761.48 ไร่ โดยส่วนมากตกอยู่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมพร นครศรีธรรมราช และจังหวัดกระบี่ พืชที่ตกกระทบในดัชนีแล้งความเสี่ยงสูงมาก ได้แก่ ไม้ยืนต้น เนื้อที่ 489,697.02 ไร่ ไม้ผล เนื้อที่ 20,633.33 ไร่ และข้าว เนื้อที่ 431.13 ไร่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตร จะได้ลงพื้นที่เพื่อสร้างการรับรู้ การดูแลรักษาพืชพันธุ์และผลผลิตทางการเกษตร ตลอดจนมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้กิจกรรมการเกษตรในช่วงฤดูแล้งผ่านพ้นไปด้วยดี

“กรมส่งเสริมการเกษตร ยังมีแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร ให้มีความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีอยู่ในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Digital Literacy) โดยการติดตามสถานการณ์ความแห้งแล้งในพื้นที่ ผ่านแอปพลิเคชัน “เช็คแล้ง” ซึ่งการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศติดตามพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งและความเสียหายของพืชเกษตรรายแปลง ทั้งนี้ เกษตรกรที่สนใจสามารถเลือกใช้งานแอปพลิเคชัน “เช็คแล้ง” ได้แล้วผ่านเว็บแอปพลิเคชัน (https://cropsdrought.gistda.or.th) และโมบายแอปพลิเคชัน (ระบบ Android และ iOS) เพื่อใช้ประเมินสภาวะแห้งแล้งของพื้นที่การเกษตร ช่วยให้เกษตรกรสามารถวางแผนการเพาะปลูกในฤดูแล้ง วางแผนการสำรองน้ำใช้เพื่อการเพาะปลูกได้อย่างเพียงพอ และลดความเสียหายจากภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้น” นายวุฒิศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

กรมส่งเสริมการเกษตร