พบครั้งเเรก! ในนาข้าว

992

กรมการข้าวเตือนภัยหนอนกระทู้ข้าวโพด พบระบาดในแปลงนาครั้งเเรก

นายสุดสาคร ภัทรกุลนิษฐ์ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า ช่วงฤดูฝนอาจพบการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพด ซึ่งเกิดจากปัจจัยของสภาพแวดล้อมที่แมลงขาดแคลนพืชอาหารหลัก สร้างความเสียหายให้แก่ชาวนาเป็นจำนวนมาก กรมการข้าวห่วงใยและเฝ้าดูแลชาวนาอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด ทั้งช่วงได้รับผลกระทบ และเฝ้าระวังพื้นที่อื่น ๆ ที่อาจพบการระบาดของหนอนกระทู้ซ้ำเติมชาวนา

วันที่ 6 กรกฎาคม 2563 ศูนย์วิจัยข้าวเชียงรายตรวจพบการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดในนาข้าวเป็นครั้งแรก บนพื้นที่แปลงนาของเกษตรกร ตำบลผางาม อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย จากนั้นเจ้าหน้าที่กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงราย สอบถามไปยังเกษตรกรในพื้นที่ ตำบลห้วยซ้อ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย พบการระบาดของหนอนชนิดนี้ในพื้นที่ 1,000 ไร่ หมู่ 4, 9 , 11 , 17 และ 22 ของเกษตรกรกว่า 100 ราย

หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด เป็นแมลงศัตรูพืชที่มาจากถิ่นอื่น ถือเป็นแมลงศัตรูข้าวอันดับรอง สร้างความเสียหายเป็นพื้นที่กว้างและทำลายอย่างมหาศาลในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งระบาดรุนแรงในนาข้าวของประเทศอินเดีย สามารถระบาดข้ามพรม แดนได้ หนอนกระทู้ชนิดนี้มีพืชอาหารมากกว่า 80 ชนิด นอกเหนือจากข้าวโพด พืชอาศัยอื่นที่เป็นแหล่งอาหาร เช่น อ้อย ข้าวฟ่าง ข้าวสาลี มะเขือเทศ มันฝรั่ง ยาสูบ ฝ้าย ทานตะวัน กล้วย กระเทียม ขิง มันหวาน พริกหยวก พืชวงศ์กะหล่ำ พืชวงศ์แตง พืชวงศ์ถั่ว พืชวงศ์หญ้า รวมถึงข้าว ซึ่งหนอนกระทู้ชนิดนี้ เป็นแมลงที่อันตราย เนื่องจากสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ตัวเต็มวัยสามารถบินได้ไกลเฉลี่ย 100 กิโลเมตรต่อคืน จึงมีความเสี่ยงที่จะแพร่ระบาดไปอีกหลายประเทศ โดยเฉพาะในเอเชียรวมทั้งประเทศไทย

การป้องกันและการกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด หากพบการทำลาย 20% ในข้าวโพดอ่อน (7-60 วัน) และ 40% ในข้าวโพดต้นแก่ (60 วัน-เก็บเกี่ยวผลผลิต) ให้ดำเนินการหาวิธีป้องกันกำจัดที่เหมาะสม ซึ่งอาจทำได้โดยใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลง ดังต่อไปนี้

  1. กลุ่ม 5 สารสไปนีโทแรม (spinetoram) 12% SC อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร / สารสไปนีโทแรม (spinetoram) 25% WG อัตรา 10 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร
  2. กลุ่ม 6 สารอีมาเมกตินเบนโซเอต (emamectin benzoate) 1.92% EC อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร / สารอีมาเมกตินเบนโซเอต (emamectin benzoate) 5% WG อัตรา 10 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร
  3. กลุ่ม 22 สารอินดอกซาคาร์บ (indoxacarb) 15% EC อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร
  4. กลุ่ม 18+5 สารเมทอกซีฟิโนไซด์+สไปนีโทแรม (methoxyfenozide + spinetoram) 30+6% SC อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร
  5. กลุ่ม 28 สารคลอแรนทรานิลิโพรล (chlorantraniliprole) 5.17% SC อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร
  6. กลุ่ม 28 สารฟลูเบนไดอะไมด์ (flubendiamide) 20% WG อัตรา 10 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร

การใช้สารชีวภัณฑ์ พ่นด้วยเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัสทูริงเจนซิส สายพันธุ์ไอซาไว หรือสายพันธุ์เคอร์สตากี้ ชนิดผง อัตรา 40-80 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 4-7 วัน เมื่อพบการระบาด หรือการปล่อยศัตรูธรรมชาติ เช่น แตนเบียนไตรโคแกรมม่า แมลงหางหนีบ มวนพิฆาต มวนเพชฌฆาต และการใช้วิธีกล เช่น เก็บกลุ่มไข่และตัวหนอนทำลาย  ใช้กับดักแสงไฟ หรือกับดักอื่นๆ เพื่อทำลายตัวเต็มวัย  และไถพลิกดิน ไถพรวน เพื่อกำจัดดักแด้ที่อยู่ในดิน

กรมการข้าว ข่าว