ถ่ายทอดความรู้

923

ศูนย์ขยายพันธุ์พืชตรัง จัดงานถ่ายทอดความรู้การผลิตขยายพันธุ์พืชพันธุ์ดี

นายทวี มาสขาว รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า พันธุ์พืชที่มีคุณภาพ เป็นปัจจัยหลักที่สำคัญและจำเป็นสำหรับเกษตรกรในการผลิตพืช เพื่อให้มีผลผลิตสูงและมีคุณภาพดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรโดยตรง เนื่องจากการใช้พันธุ์พืชที่มีคุณภาพดีจะลดปริมาณการใช้พันธุ์พืชต่อไร่ ทำให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น แต่ที่ผ่านมาการผลิตพืชเศรษฐกิจหลายชนิด เกษตรกรยังไม่สามารถเข้าถึงพืชพันธุ์ดีได้ โดยเฉพาะพันธุ์พืชที่ได้มาจากการวิจัยและพัฒนาของหน่วยงานราชการ รวมทั้งยังไม่มีหน่วยงานราชการใดมีภารกิจรับผิดชอบโดยตรงในการผลิตและขยายพันธุ์พืชในชั้นพันธุ์ขยายและพันธุ์จำหน่ายไปสู่เกษตรกร ทำให้พืชพันธุ์ดีเหล่านี้ยังมีไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ เกษตรกรจึงต้องใช้พันธุ์พืชที่ไม่มีคุณภาพหรือต้องซื้อหาจากภาคเอกชน ซึ่งมีราคาแพง ส่งผลให้การเพาะปลูกพืชของเกษตรกรไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ผลผลิตพืชเศรษฐกิจบางชนิดของประเทศไทยผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ภายในประเทศ ต้องมีการนำเข้าผลผลิตหรือวัตถุดิบอื่นทดแทนจากต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี โดยแนวทางในการ แก้ปัญหาการขาดแคลนพันธุ์พืชที่มีคุณภาพและราคาแพง คือการเพิ่มปริมาณการผลิตพันธุ์พืชพันธุ์ดี โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้ปรับปรุงศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร (พันธุ์พืชเพาะเลี้ยง) จำนวน 10 ศูนย์ เป็นศูนย์ขยายพันธุ์พืช ที่ 1 – 10 ซึ่งมีบทบาทและภารกิจหลักในการขยายพันธุ์พืช ใน 4 สายการผลิต คือ ต้นพันธุ์ ท่อนพันธุ์ เมล็ดพันธุ์ และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งจำเป็นต้องมีการจัดหาแม่พันธุ์พืชพันธุ์ดี และจัดสร้างเกษตรกรเครือข่ายการผลิตขยายพันธุ์พืช รวมทั้งการจัดทำสื่อเรียนรู้ประชาสัมพันธ์และจัดงานสถานีถ่ายทอดความรู้ด้านการผลิตและขยายพันธุ์พืชเพื่อให้เกษตรกรได้รับรู้ถึงการดำเนินงานผลิตขยายพันธุ์พืชของศูนย์ขยายพันธุ์พืชดังกล่าวและเข้าถึงพืชพันธุ์ดีได้ต่อไป

นายทวี มาสขาว รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

ดังนั้น เพื่อเป็นการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์การผลิตและขยายพันธุ์พืชพันธุ์ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ หน่วยงานภาครัฐ สื่อมวลชน เอกชน เกษตรกร และประชาชนทั่วไป ในพื้นที่ภาคใต้ กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้จัดงานวันถ่ายทอดความรู้ การผลิตขยายพันธุ์พืชพันธุ์ดีขึ้น ในวันพุธที่ 16 กันยายน 2563 ณ ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 2 จังหวัดตรัง หมู่ที่ 9 ตำบลโคกหล่อ อำเภอเมือง จังหวัดตรัง

 ด้านนายเสนอ รัตนสำเนียง ผู้อำนวยการศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 2 จังหวัดตรัง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกิจกรรมภายในงานวันถ่ายทอดความรู้การผลิตขยายพันธุ์พืชพันธุ์ดี ประกอบด้วยนิทรรศการแสดงผลงานและการสาธิต การขยายพันธุ์พืชพันธุ์ดี 4 สายการผลิต ได้แก่ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การผลิตท่อนพันธุ์ ต้นพันธุ์ และเมล็ดพันธุ์ สมุนไพรและการแปรรูป โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ของศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 2 จังหวัดตรัง และการแสดงและจำหน่ายสินค้าของเครือข่ายเกษตรกร, Smart Farmer, Young Smart Farmer วิสาหกิจชุมชน และกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรของจังหวัดตรัง โดยในการจัดงานครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมงาน ประกอบด้วย หน่วยงานราชการ เอกชน สื่อมวลชน เกษตรกร และประชาชนทั่วไป จำนวน 300 คน

 ทั้งนี้ ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 2 จังหวัดตรัง มีพื้นที่รับผิดชอบ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดตรัง พัทลุง สงขลา สตูล นราธิวาส ยะลา และจังหวัดปัตตานี โดยมีบทบาท ภารกิจ และหน้าที่รับผิดชอบ ในการศึกษา พัฒนา วิจัย ทดสอบ ประยุกต์และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืชพันธุ์ดี วางแผนการผลิตพืชพันธุ์ดีให้สอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกร ผลิตพืชพันธุ์ดีให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการผลิตและขยายกระจายพันธุ์พืช เพื่อใช้ในงานส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร ฝึกอาชีพด้านการผลิตและขยายพันธุ์พืชแก่เกษตรกรทั่วไปและผู้สนใจ ให้บริการข้อมูลข่าวสารวิชาการด้านการผลิตขยายพันธุ์พืช และสนับสนุนปัจจัยการผลิตที่จำเป็น รวมทั้งให้บริการทางการเกษตรอื่นๆ

 ปัจจุบัน ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 2 จังหวัดตรัง ดำเนินการจัดแปลงแม่พันธุ์พืชพันธุ์ดี ทั้งไม้ผลและไม้ประดับ จำนวน 13 แปลง เช่น มะละกอ มังคุด จำปาดะ สะตอ โกสน และแปลงสาธิต เช่น พืชสมุนไพร ไม้ป่า ไม้ยืนต้น พืชท้องถิ่น แปลงอนุรักษ์พันธุกรรมพืช

สำหรับพืชเด่น 4 สายการผลิตของศูนย์ ประกอบด้วย

  1. พืชที่ใช้วิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช ได้แก่ กล้วย (กล้วยหิน กล้วยน้ำว้า หอมทอง) และกล้วยไม้ป่า จำนวน 20 สายพันธุ์ (สนับสนุนโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ)
  2. พืชที่ใช้วิธีการผลิตต้นพันธุ์ ได้แก่ พริกขี้หนูพันธุ์เดือยไก่ มะเขือเปราะพันธุ์คางกบ มะละกอฮอลแลนด์ และพริกไทย (พันธุ์ซาราวัค  ซีลอน และพันธุ์ปะเหลียน)
  3. พืชที่ใช้วิธีการผลิตท่อนพันธุ์ ได้แก่ อ้อยคั้นน้ำ (พันธุ์สิงคโปร์)
  4. พืชที่ใช้วิธีการผลิตเมล็ดพันธุ์ ได้แก่ พริกขี้หนูเดือยไก่ ถั่วพุ่ม มะเขือเทศ และกระเจี๊ยบเขียว

สำหรับเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างที่สนใจพันธุ์พืชพันธุ์ดี หรือหลักสูตรฝึกอาชีพต่างๆ สามารถติดต่อได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์  075-582312-3ในวันและเวลาราชการ หรือเข้าชมเว็ปไซต์ของทางศูนย์ฯ ได้ที่ www.aopdt08.doae.go.th

กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว