ส่งออกยังสดใส

775

ส่งออกกล้วยไม้ไทยยังสดใส เกษตรฯ เร่งช่วยเหลือ มั่นใจ รักษาแชมป์โลกตลาดส่งออก

นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การส่งออกดอกกล้วยไม้ของไทย ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 ว่า ที่ผ่านมา “กล้วยไม้” นับเป็นสินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญของไทย โดยมีปริมาณส่งออกเป็นอันดับ 1 ของโลก สร้างรายได้เข้าประเทศกว่าปีละ 2,000 ล้านบาท จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้การเดินทางขนส่งระหว่างประเทศเกิดความไม่สะดวก ตลอดจนกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ไม่สามารถส่งออกดอกกล้วยไม้ไปยังตลาดสำคัญในยุโรปและอเมริกาได้ 

แม้การส่งออกดอกกล้วยไม้ของไทยจะได้รับผลกระทบ แต่ภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร ได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาด้วยความรวดเร็ว โดยหาตลาดทดแทนในกลุ่มประเทศอาเชียน จึงทำให้ปี 2563 มีปริมาณส่งออกทั่วโลกรวม 21,872 ตัน ลดลงเล็กน้อยเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ซึ่งคิดเป็นมูลค่า 1,370 ล้านบาท โดยสามารถส่งออกดอกกล้วยไม้ไปประเทศเวียดนาม ได้จำนวน 8,528 ตัน เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปี 2562 ที่ส่งออกได้จำนวน  2,913 ตัน และส่งออกดอกกล้วยไม้ไปประเทศเมียนมา ได้จำนวน 1,069 ตัน เพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าจากปี 2562 ที่ส่งออกได้จำนวน 171 ตัน

“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยคณะอนุกรรมการบริหารจัดการกลุ่มสินค้ากล้วยไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ ได้ตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรกลุ่มสินค้ากล้วยไม้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ประกอบการ อาทิ การจัดหาตลาด จับคู่ทางธุรกิจ การสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งเชื่อมั่นว่า มาตรการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตและตลาดภายใต้สถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวได้ และช่วยให้ไทยยังคงความเป็นผู้นำการส่งออกดอกกล้วยไม้อันดับ 1 ของโลกต่อไป” รองเลขาธิการ สศก. กล่าว

การประชุมเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 คณะทำงานฯ ได้เห็นชอบแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกร โดยสนับสนุนเพิ่มความต้องการบริโภคในประเทศ การจัดงานกล้วยไม้สัญจรไปยังจังหวัดต่าง ๆ และจับคู่ธุรกิจ เพื่อเพิ่มช่องทางและความยั่งยืนในการจัดจำหน่าย จัดกิจกรรมการสร้างค่านิยมต่อการใช้สินค้ากล้วยไม้ในโอกาสต่าง ๆ ตลอดจนการสร้างสินค้ากล้วยไม้ให้มีความทันสมัย และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่ง รวมไปถึงมาตรการเสริมสร้างการส่งออกในการหาตลาด และประชาสัมพันธ์สินค้ากล้วยไม้ในต่างประเทศที่มีศักยภาพ ทั้งตลาดอาเซียน และตลาดใหม่ อีกทั้ง ยังได้เตรียมแนวทางสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้กับเกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งจะเสนอขอรับการสนับสนุนจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ทั้งนี้ จะได้เสนอมาตรการดังกล่วต่อคณะอนุกรรมการบริหารจัดการกลุ่มสินค้ากล้วยไม้ ไม้ดอกไม้ประดับเพื่อพิจารณาต่อไป

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร