พืชเศรษฐกิจทางเลือกใหม่

1,281

หนุนปลูก ‘โกโก้’ พืชเศรษฐกิจทางเลือกใหม่ สร้างกำไรดี แนะเลือกสายพันธุ์ พื้นที่เหมาะสม

นายนิกร แสงเกตุ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ชัยนาท (สศท.7) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า “โกโก้” นับเป็นสินค้าเศรษฐกิจที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีแผนส่งเสริมพัฒนาการผลิตและการตลาดให้เป็นสินค้าสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความต้องการของตลาดโลกสูง ส่งออกยุโรป ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ อีกทั้ง เป็นพืชทางเลือกชนิดหนึ่งที่สามารถปลูกเป็นพืชทดแทนและเป็นพืชแซมในสวนผสม เป็นพืชที่ดูแลง่าย เจริญเติบโตเร็ว ทนแล้ง และให้ผลผลิตสูง

จากการลงพื้นที่ของ สศท.7 เพื่อติดตามสถานการณ์การผลิตและตลาดโกโก้ ในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคกลาง (ชัยนาท สระบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี) พบว่า มีพื้นที่ปลูกรวม 495 ไร่ เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 100 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 15 กรกฎาคม 2564) เกษตรกรนิยมปลูกพันธุ์ ไอ.เอ็ม.1 เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่เจริญเติบโตเร็วให้ผลผลิตสูง มีกลิ่นหอมเมื่อแปรรูป และเป็นที่ต้องการของตลาด ต้นทุนการผลิตโกโก้เฉลี่ยอยู่ที่ 6,630 บาท/ไร่/ปี (เริ่มให้ผลผลิตในปีที่ 3 และเก็บเกี่ยวจนถึงอายุต้น 30 ปี) เกษตรกรจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทุก 15 วัน และเก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี ผลผลิตจะออกมากที่สุดช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน ผลผลิตเฉลี่ย 2,400 – 3,000 กิโลกรัม/ไร่/ปี ราคาที่เกษตรกรขายได้ (ผลสด) ณ วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 อยู่ที่ 8 – 10 บาท/กิโลกรัม เกษตรกรได้ผลตอบแทน 22,400 บาท/ไร่/ปี คิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 15,770 บาท/ไร่/ปี

สำหรับสถานการณ์ตลาดโกโก้ของทั้ง 5 จังหวัด พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่จะจำหน่ายผลผลิต (ผลสด) ให้กับบริษัท เจ.พี.วาย. โกโก้ไทย จำกัด ซึ่งได้ทำ Contract Farming กับเกษตรกร จำนวน 47 ราย โดยมีสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด เป็นหน่วยงานกำกับดูแล โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2560 (มีการต่อสัญญารอบละ 10 ปี) ซึ่งทางบริษัทได้ทำสัญญารับซื้อผลผลิตกับเกษตรกรในราคาประกันผลผลิต 8 บาท/กิโลกรัม นอกจากนี้ ทางบริษัทได้สนับสนุนด้านองค์ความรู้ เทคโนโลยีการผลิตเพื่อให้เกษตรกรสามารถทำการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพและได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ รวมถึงมีการส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจฟาร์มเพื่อดูแลคุณภาพและมาตรฐานของผลผลิตทำให้ได้ราคาดี จึงเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกและขยายพื้นที่ปลูกโกโก้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากได้ราคาตามมาตรฐานและมีแหล่งรับซื้อที่แน่นอน

ผู้อำนวยการ สศท.7 กล่าวเพิ่มเติมว่า การปลูกโกโก้เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาดนั้น เกษตรกรควรคำนึงถึงความเหมาะสมของพื้นที่ การเลือกสายพันธุ์ให้เหมาะสม และวิธีการดูแลรักษาโกโก้ให้ได้คุณภาพดี ทั้งนี้ สศท.7 มีกำหนดจะลงพื้นที่สำรวจข้อมูลอีก 2 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร และปทุมธานี ช่วงเดือนสิงหาคม 2564 อย่างไรก็ตาม ในระยะนี้ยังพบการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID 19) ซึ่งทำให้มีแนวโน้มต้องชะลอการลงพื้นที่ ทั้ง 2 จังหวัด หากสถานการณ์ดังกล่าวคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทาง สศท.7 จะได้ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลอีกครั้ง สำหรับท่านใดสนใจข้อมูลการผลิตโกโก้ของทั้ง 5 จังหวัดภาคกลาง สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.7 โทร 0 5640 5005 หรืออีเมล [email protected] 

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ข่าว