เกษตรฯ ผุดไอเดียแปรรูปใบ“ชาไทย”

1,033

กรมส่งเสริมการเกษตร ผุดไอเดียแปรรูปใบแก่“ชาไทย” เป็น “หมอนดับกลิ่นไร้สารเคมี” สู้ภัยแล้ง

กรมส่งเสริมการเกษตร เผยไม่ต้องใช้น้ำมาก และไม่ปล่อยใบชาทิ้งเปล่าประโยชน์ เร่งส่งเสริมเกษตรกรแปลงใหญ่ ชาแปรรูปใบแก่ “ชาไทย” เป็นหมอนดับกลิ่นไร้สารเคมี

            กรมส่งเสริมการเกษตร จัดทำโครงการความร่วมมือในการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพการปลูกชาในพื้นที่โครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 โดยส่งเสริมให้เกษตรกรภาคเหนือปลูกชาทดแทนพืชเสพติด ตามคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญของสถานีชาต็อกไลรัฐอัสสัม สาธารณรัฐอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ปลูกชาอันดับสองของโลกรองจากจีน เพื่อพัฒนาการปลูกชาไทยหรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าชาอัสสัมในประเทศไทย โดยผลการส่งเสริมการปลูกตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากเกษตรกร ทำให้มีพื้นที่การปลูกและผลผลิตชาไทยในประเทศเพิ่มขึ้น

            นายอาชว์ชัยชาญ  เลี้ยงประยูร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ชาไทยหรือชาอัสสัม เป็นพืชที่เติบโตได้ดีภายใต้ร่มเงาของป่า ซึ่งป่าในประเทศไทยมีความชุ่มชื้นเหมาะแก่การเจริญเติบโตของชาชนิดนี้เป็นอย่างดี ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกชาไทยเป็นจำนวนมากในภาคเหนือ เช่น จังหวัดน่าน เชียงใหม่ และเชียงราย โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้เข้าไปแนะนำการปลูก ตลอดจนส่งเสริมเทคโนโลยี โดยเฉพาะในเรื่องระบบน้ำ เพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของยอดชาไทย ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด นำไปใช้ในการแปรรูปเป็นเครื่องดื่ม และเพิ่มรสชาติในอาหารและขนมนานาชนิด แต่เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบน้ำ อาจทำให้ผลผลิตยอดอ่อนชาไทยมีปริมาณลดลง  กรมส่งเสริมการเกษตร จึงแนะนำให้เกษตรกรสมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่ชาไทย เก็บใบชาแก่มาแปรรูปเป็นหมอนใบชา เพื่อใช้ประโยชน์จากต้นชาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิต ซึ่งใบชามีคุณสมบัติช่วยดับกลิ่นอับในจุดต่าง ๆ ของบ้านเรือน เช่น  ตู้เสื้อผ้า ตู้เย็น ตู้กับข้าว ห้องน้ำ ตลอดจนดับกลิ่นในรถยนต์ ได้อย่างปลอดภัยไร้สารพิษ เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ จึงเหมาะที่จะใช้ทดแทนลูกเหม็นดับกลิ่นที่ผลิตจากสารเคมี และตอบโจทย์ผู้รักสุขภาพในปัจจุบันด้วย

            รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า หมอนใบชา ยังมีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์อื่นอีกมากมาย เช่น มีกลิ่นหอมช่วยทำให้ร่างกายได้ผ่อนคลาย คลายเครียด เมื่อนำมาหนุนนอนจะช่วยกระตุ้นระบบหมุนเวียนโลหิต และยังช่วยบรรเทารักษาโรคหวัด และโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ทำให้หายใจคล่องอีกด้วย นอกจากนี้ กลุ่มนักเรียน และยุวเกษตรกรในพื้นที่ปลูกชาไทยในภาคเหนือ ยังมีการแปรรูปเป็นตุ๊กตาใบชาดับกลิ่นที่น่ารัก เหมาะสำหรับแขวนในรถยนต์หรือให้เป็นของขวัญ ของชำร่วย ซึ่งนับเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนเรียนรู้เรื่องการทำการเกษตรและการแปรรูปสินค้าเกษตรจากผลผลิตในท้องถิ่น และรู้สึกภูมิใจที่สามารถหารายได้ได้ด้วยตนเอง

            ทั้งนี้ ผู้สนใจอุดหนุนผลิตภัณฑ์ชุมชนผู้ปลูกชาอินทรีย์ สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
กลุ่มแปลงใหญ่ชาบ้านแม่เลย ต.สะเมิงเหนือ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ โทรศัพท์ 09 7918 2357 หรือ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตภัณฑ์ชาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ศรีนาป่าน-ตาแวน ต.เรื่อง อ.เมืองฯ จ.น่าน โทรศัพท์ 09 8748 5704

“เกษตรร่วมใจ รับมือภัยแล้ง ปี 2563”

กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตร : นาฏสรวง ข่าว, มีนาคม 2563