กระทรวงเกษตรฯ ลุยพ่นฆ่าเชื้อ Covid-19

813

กระทรวงเกษตรฯ สั่งพ่นฆ่าเชื้อกันโควิด-19 ด้วยนวัตกรรมล่าสุดจากเยอรมัน

รมว. เฉลิมชัย ห่วงใยข้าราชการและเกษตรกรที่มาติดต่อ สั่งจัดเต็มกิจกรรมบิ๊กคลีนนิ่งพ่นฆ่าเชื้อกันโรคโควิด-19 ทั่วกระทรวงเกษตรฯ ด้วยนวัตกรรมล่าสุดจากเยอรมัน พร้อมตั้งศูนย์เฝ้าระวังผลกระทบสินค้าเกษตร และการลักลอบนำเข้าผลผลิตเกษตรตามชายแดนช่วงภัยและโควิด-19 ระบาด

            นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ดังนั้นเพื่อสร้างความปลอดภัยและความมั่นใจให้กับข้าราชการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเกษตรกรที่มาติดต่อประสานงานเพื่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน รวมถึงประชาชนทั่วไป จึงได้สั่งการให้มีการจัดกิจกรรมทำความสะอาด Big Cleaning เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ทั่วบริเวณพื้นที่ภายในและรอบกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในช่วงเช้าของวันนี้ (18 มีนาคม 2563) โดยเจ้าหน้าที่ดำเนินการฉีดพ่นฆ่าเชื้อภายในอาคารสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อฆ่าเชื้อไวรัสต่าง ๆ เป็นการลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มาติดต่อราชการและบุคลากรภายในหน่อยงาน โดยในการดำเนินการครั้งนี้ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากบริษัทเอกชนผู้เชี่ยวชาญที่เป็นนวัตกรรมล่าสุดจากเยอรมันที่มีประสิทธิภาพสูง อันประกอบด้วยเครื่องพ่นฝอยละเอียดเพื่อกำจัดเชื้อโรคและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ในการกำจัดเชื้อโรคที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดได้ถึง 100 เปอร์เซ็นต์มาร่วมดำเนินการฉีดพ่นเพื่อกำจัดเชื้อโควิด-19 เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับทุกฝ่ายในกระทรวงเกษตร และสหกรณ์

            นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้มีมาตรการตั้งจุดคัดกรอง (จุดวัดไข้) ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้ากระทรวง โดยขอความร่วมมือผู้ที่มาติดต่อราชการ แบ่งเป็น 1) กรณีนำรถยนต์ส่วนตัวมา หากมีผู้โดยสารน้อยสามารถลดกระจกลงเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจวัดไข้ แต่หากนำรถตู้และมีผู้โดยสารหลายคน ขอความร่วมมือให้ลงจากรถเพื่อตรวจคัดกรอง และ 2) กรณีเดินทางมาเอง ต้องผ่านจุดคัดกรองที่ ประตู 1 และ ประตู 3 อีกทั้งอำนวยความสะดวก ในการจัดวางเจลล้างมือฆ่าเชื้อโรคตามจุดต่างๆ  ทั้งนี้ได้มีการเตรียมพร้อมที่จะดำเนินการด้านอื่น ๆ ตามแนวทางหรือ คำแนะของกระทรวงสาธารณสุขต่อไป

            นายเฉลิมชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการดำเนินการเพื่อช่วยเหลือและติดตามสถานการณ์เกี่ยวกับโควิด-19 ในภาคการเกษตรนั้น ได้สั่งการให้จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังผลกระทบสินค้าเกษตรจาก โควิด-19 ขึ้น ซึ่งอำนาจหน้าที่ในการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตร เพื่อเตรียมการรับมือและลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่ส่งผล กระทบต่อสินค้าเกษตร ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐบาลตามความเหมาะสม

            ทั้งนี้ ในการดำเนินงานนั้นได้ขอความร่วมมือหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ทั่วประเทศเข้มงวดเกี่ยวกับ สุขอนามัยในส่วนของเกษตรกรที่จัดกิจกรรมท่องเที่ยวแบบบุฟเฟ่ต์ผลไม้และแรงงานในสถานประกอบการคัดบรรจุ และแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร โดยมอบหมายให้คณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) เฝ้าระวังและป้องกันโรคต่าง ๆ อย่างเข้มงวด แล้วรายงานสถานการณ์ต่อคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ซึ่งมีปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธานทุกระยะ

            นายเฉลิมชัย กล่าวอีกว่า พร้อมกันนี้ยังได้สั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้ติดตามสถานการณ์การผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญที่อาจได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและโควิด-19 พร้อมติดตามปัญหาการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรที่สำคัญด้วย ปัจจุบันพบว่าขณะนี้มีสินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิด อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง กาแฟ ถั่วเหลือง และมะพร้าว มีปริมาณการผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ ทั้งการบริโภคโดยตรงและ ใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมถึงราคาในประเทศบางสินค้าอยู่ในเกณฑ์ดี เมื่อเทียบกับราคาของต่างประเทศ ทำให้มี การลักลอบการนำเข้าเพื่อสวมสิทธิ์เป็นสินค้าเกษตรของไทยหรือการหลีกเลี่ยงทางภาษี เช่น ปาล์มน้ำมัน จึงได้ประสานขอความร่วมมือหน่วยงานความมั่นคง กอ.รมน. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้มงวด ตรวจสอบ จับกุมการลักลอบการนำเข้า โดยเฉพาะตามแนวชายแดน  

กระทรวงเกษตรเเละสหกรณ์ ข่าว