ขับเคลื่อนจัดการโรคเหี่ยวกล้วยหินต่อเนื่อง

1,454

เกษตรฯ บูรณาการขับเคลื่อนจัดการโรคเหี่ยวกล้วยหินต่อเนื่อง หวังสร้างพื้นที่ปลอดโรค

กล้วยหินเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะจังหวัดยะลา แต่ในปัจจุบันประสบปัญหาการระบาดของโรคเหี่ยว ทำให้เครือกล้วยมีลักษณะแคระแกร็น ผลลีบ ปลายหวีแห้งดำ ขอบเครือกล้วยมีสีน้ำตาล เนื้อภายในมีสีน้ำตาลจนถึงดำ บางผลมีอาการเน่าเละ ฉ่ำน้ำ ใบแก่เปลี่ยนเป็นสีเหลือง และไม่สามารถเก็บผลผลิตกล้วยหินได้ เมื่อเกิดการระบาดของโรคเหี่ยวขึ้นในพื้นที่ จึงต้องดำเนินการควบคุมด้วยการทำลายต้นกล้วยหินและหน่อพันธุ์ที่ติดโรคในบริเวณที่ระบาดทิ้งเป็นจำนวนมาก รวมถึงต้องพักแปลงเพื่ออบดินฆ่าเชื้อและตัดวงจรการระบาดของโรค ซึ่งส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกรเป็นอย่างมาก

นายทวี มาสขาว รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร โดยกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสงขลา และกรมวิชาการเกษตรได้บูรณาการขับเคลื่อนการจัดการโรคเหี่ยวในกล้วยหิน มาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 โดยดำเนินการ 4 ด้าน ประกอบด้วย

1) การจัดทำแปลงสาธิตการจัดการโรคเหี่ยวกล้วยหิน เพื่อทดสอบเทคโนโลยีการจัดการโรคตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตรใน 8 อำเภอ พื้นที่จำนวน 69 ไร่ เกษตรกร 25 ราย ซึ่งผลการทดสอบให้ผลในทางที่ดี คือ เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตจากแปลงสาธิตได้ โดยที่ผลผลิตไม่ได้รับความเสียหายจากการเข้าทำลายของเชื้อสาเหตุโรค  

2) การสร้างแหล่งสำรองพันธุ์กล้วยหิน โดยการขยายพื้นที่ปลูกในพื้นที่ปลอดโรค (พื้นที่ที่ไม่เคยปลูกกล้วยหิน) ในอำเภอเมืองยะลา และอำเภอรามัน จำนวน 110 ไร่ และผลิตต้นพันธุ์กล้วยหินเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จำนวน 15,000 ต้น สนับสนุนให้กับเกษตรกร

3) การสร้างพื้นที่ปลอดโรคเหี่ยวนำร่อง โดยสนับสนุนให้เกษตรกรทำลายต้นกล้วยหินที่เป็นโรค และทำการอบดินฆ่าเชื้อก่อนปลูกใหม่ตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ดำเนินการนำร่องในพื้นที่อำเภอยะหา 53 ไร่ และอำเภอกาบัง 89 ไร่ รวมจำนวน 142 ไร่ ซึ่งในขณะนี้แปลงที่ดำเนินการเมื่อปี 2561 มีผลผลิตกล้วยแล้ว ในขณะที่พื้นที่ตำบลบาละ อำเภอกาบัง ไม่พบการระบาดของโรคเหี่ยวกล้วยหินอีกแล้ว และกำลังรอจะประกาศเป็นตำบลปลอดโรคเหี่ยวต่อไป

4) การสร้างการรับรู้เกี่ยวกับโรคเหี่ยวและวิธีการจัดการโรคให้กับเจ้าหน้าที่และเกษตรกรทุกอำเภอ ผ่านการอบรม จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ และนำเสนอข้อมูลการจัดการโรคเหี่ยวผ่านสถานีวิทยุและโทรทัศน์ รวมทั้งการจัดอบรมเรื่องการจัดการโรคเหี่ยวในกล้วยหินให้กับเกษตรกร

เนื่องจากโรคเหี่ยวกล้วยหินเป็นโรคที่เพิ่งพบการระบาดเมื่อไม่นานมานี้ จึงยังต้องมีการศึกษาและพัฒนาวิธีการจัดการที่เหมาะสมและเกษตรกรสามารถดำเนินการได้สะดวก จึงเกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและสถาบันการศึกษา ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ในการจัดทำแปลงศึกษาทดสอบวิธีการป้องกันกำจัดโรคเหี่ยวในกล้วยหินขึ้น เพื่อหาวิธีการที่เกษตรกรปฏิบัติได้ง่าย และสามารถจัดการโรคได้จริงในพื้นที่

โดยในปี 2563 นี้ กรมส่งเสริมการเกษตรจะดำเนินการสร้างพื้นที่ปลอดโรคเหี่ยวนำร่อง โดยสนับสนุนให้เกษตรกรทำลายต้นกล้วยหินที่เป็นโรค และทำการอบดินฆ่าเชื้อก่อนปลูกใหม่ตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ดำเนินการนำร่องในพื้นที่อำเภอบันนังสตา จำนวน 150 ไร่ คาดหวังให้เป็นพื้นที่ปลอดโรคต้นแบบ พร้อมสร้างการรับรู้เกี่ยวกับโรคเหี่ยวและวิธีการจัดการโรคให้กับเจ้าหน้าที่และเกษตรกรทุกอำเภอโดยการอบรม จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ นำเสนอข้อมูลการจัดการโรคผ่านสถานีวิทยุและโทรทัศน์ และจัดอบรมเกษตรกรในการจัดการโรคเหี่ยวกล้วยหิน จำนวน 450 รายด้วย

สำหรับแนวทางการจัดการโรคเหี่ยวกล้วยหิน กรมส่งเสริมการเกษตรขอแนะนำให้เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหิน ดำเนินการดังนี้

1) หมั่นสำรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบการระบาดให้รีบกำจัดหรือทำลายต้นกล้วยที่เป็นโรคด้วยสารกำจัดวัชพืชไตรโคเพอร์ บิวทอกซี่เอทิล เอสเตอร์ 66.8 อีซี ด้วยการใช้ไม้เสียบลูกชิ้นแช่ในสารดังกล่าวทิ้งไว้ข้ามคืนแล้วนำมาเสียบบริเวณโคนต้นกล้วยลึกประมาณ 5 นิ้ว จำนวน 5 ไม้ต่อต้น ทิ้งไว้ 1 เดือนหรือจนกว่าต้นกล้วยจะแห้งตายแล้วจึงเผาทำลาย หากมีปลีให้ตัดทิ้งเพื่อป้องกันแมลงจะนำเชื้อไปแพร่กระจายสู่ต้นอื่น

2) ทำความสะอาดเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการเกษตรทุกครั้งหลังใช้งานด้วยน้ำยาฟอกขาว

3) ทำการฆ่าเชื้อโรคและปรับความเป็นกรดด่างในดินไม่ให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรค ด้วยการโรยปูนขาวอัตรา 5 กิโลกรัมต่อกอ สำหรับต้นกล้วยในบริเวณแปลงเดียวกันที่ยังไม่เป็นโรคให้ใช้ชีวภัณฑ์บาซิลัส ซับทีลิส สายพันธุ์ BS-DOA ของกรมวิชาการเกษตร อัตรา 25 กรัม ผสมน้ำ 10 ลิตร รดให้ทั่วกอทุก 1 เดือน เป็นระยะเวลา 12 เดือน หรือใช้สารชีวภัณฑ์สเตรปโตไมซีส ผสมกับปุ๋ยอินทรีย์ อัตราปุ๋ย 100 กิโลกรัมต่อเชื้อสด 1 กิโลกรัม โรยรอบกอกล้วยอัตรา 5 กิโลกรัมต่อกอ

4) หมั่นทำความสะอาดกอกล้วยเพื่อลดการระบาดของเชื้อก่อโรค และแมลงพาหะ  

5) ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 16-16-16 เพื่อบำรุงให้ต้นสมบูรณ์แข็งแรง ร่วมกับธาตุแคลเซียม แมกนีเซียม และ

6) ใช้หน่อพันธุ์กล้วยหินปลอดโรค

กล้วยหินมีแหล่งกำเนิดดั้งเดิมในพื้นที่จังหวัดยะลา เป็นพืชประจำถิ่นที่พบเจริญเติบโตได้ในบริเวณหินกรวด ริมแม่น้ำ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ (ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส) สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและชุมชนท้องถิ่นจากการแปรรูปกล้วยหินเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ จังหวัดยะลาจึงให้ความสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาการผลิตและอนุรักษ์พันธุ์กล้วยหินไว้ 

กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว