ประมงลุยสร้างมาตรฐานฟาร์มปูนา ประเดิมมอบ “GAP มกษ. 7436 ปูนา”

212

กรมประมงลุยเดินหน้าสร้างมาตรฐานฟาร์มปูนา ประเดิมมอบ “GAP มกษ. 7436 ปูนา” รายแรกในกรุงเทพฯ

วันที่ 15 สิงหาคม 2566 เวลา 10.00 น. ณ ฟาร์มแคร๊บเฮ้าส์ แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง ลงพื้นที่มอบหนังสือรับรองตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี GAP มกษ. 7436 – 2563 ให้กับบริษัท แคร๊บเฮ้าส์ กรุ๊ป จำกัด เล็งเดินหน้ายกระดับมาตรฐานฟาร์มปูนาไทยรายแรกในกรุงเทพมหานคร

“ปูนา” จัดได้ว่าเป็นแหล่งอาหารโปรตีนสัตว์ราคาถูกและหาได้ง่ายในธรรมชาติและอยู่คู่กับคนไทยมาอย่างช้านาน เป็นปูน้ำจืดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจที่เกษตรกรและประชาชนในภาคเหนือ และภาคอีสานรู้จักและคุ้นเคยเป็นอย่างดี ปัจจุบันปูนาในธรรมชาติมีน้อยและลดจำนวนลงเนื่องจากพื้นที่แปลงนาตามธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากการใช้สารเคมี ดังนั้น การเลี้ยงปูนาที่ควบคู่ไปกับแนวทางการอนุรักษ์จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่จะช่วยเพิ่มผลผลิตปูนาได้

นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการภาคการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจให้มีผลผลิตเพียงพอต่อการบริโภค ซึ่งที่ผ่านมา กรมประมงได้ขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ที่มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ด้านผลผลิตสัตว์น้ำให้เกิดความมั่นคงด้านอาหาร  ภายใต้โครงการที่จัดตั้งขึ้นสอดคล้องกับนโยบาย BCG Model โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ ประชาชนมีรายได้ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมด้วยการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญในเรื่องของมาตรฐานอาหารปลอดภัย (Food Safety) ของผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ เพื่อยกระดับคุณภาพสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยด้านอาหารให้กับผู้บริโภค

สำหรับการลงพื้นที่มอบหนังสือรับรองการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการบริโภค มกษ.7436-2563 ในครั้งนี้ นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีเนื่องจากเป็นฟาร์มปูนาฟาร์มแรกในกรุงเทพมหานคร ที่ให้ความสนใจกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดนี้จนได้รับการรับรองในมาตรฐานดังกล่าว จากรายงานพบว่าปัจจุบันมีเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงปูนาขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (ทบ.1) กับทางกรมประมงจำนวน 224 ฟาร์มในพื้นที่ 48 จังหวัด มีเกษตรกรที่ผ่านการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี (GAP) กรมประมง จำนวน 37 ฟาร์ม มาตรฐานการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี (GAP) มกษ. 7436 – 2563 จำนวน 2 ฟาร์ม และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ มกษ 9000-2552 จำนวน 1 ฟาร์ม

ในส่วนของมาตรฐาน มกษ.7436-2563 เป็นมาตรฐานสมัครใจที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศกำหนดขึ้นในปีพ.ศ. 2563 มีขอบข่ายครอบคลุมกิจกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการบริโภค ทั้งการเลี้ยงในบ่อและการเลี้ยงในแหล่งน้ำสาธารณะ ตั้งแต่การเลี้ยง การจับ จนถึงหลังการจับก่อนการขนส่งออกจากฟาร์ม ประกอบด้วยข้อกำหนดที่สำคัญ ดังนี้ 1.สถานที่ 2.การจัดการการเลี้ยง 3. การจัดการสุขภาพสัตว์น้ำ 4. การใช้ยาสัตว์ สารเคมี และผลิตภัณฑ์จุลชีพ 5.สุขลักษณะภายในฟาร์ม 6. น้ำทิ้ง 7.การจับและการปฏิบัติหลังการจับก่อนการขนส่งออกจากฟาร์ม 8.ผู้ปฏิบัติงาน และ 9.การเก็บหลักฐานและการบันทึกข้อมูล โดยจุดเด่นของมาตรฐานฯ คือเกษตรกรสามารถขอการรับรองสัตว์น้ำหลายชนิดพร้อมกันได้ภายใต้มาตรฐานฉบับเดียว

                  ด้านคุณศรีเพ็ญ พงศ์ทรัพย์เจริญ เจ้าของฟาร์มแคร๊บเฮ้าส์ แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า ฟาร์มแคร๊บเฮ้าส์ได้เริ่มก่อตั้งขึ้นในปี 2560 โดยจากเดิมทดลองเลี้ยงในบ่อดิน และบ่อปูน แต่เนื่องจากได้ผลผลิตต่ำ และปูนามีลักษณะปนเปื้อนดินซึ่งไม่น่ารับประทานจึงหันมาทดลองเพาะเลี้ยงด้วยกระชังพลาสติก เพื่อลดปัญหาปูนาปนเปื้อนดินโคลน และลดปัญหาปรสิตปูนา ส่งผลให้ทางฟาร์มมีจุดเด่นนั่นคือการเพาะเลี้ยงปูนาในกระชังน้ำใส ซึ่งผลผลิตที่ได้เป็นที่ต้องการของตลาด และด้วยความมุ่งมั่นของทางฟาร์มที่จะพัฒนากระบวนการเพาะเลี้ยงมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ทางกรมประมงได้มอบหนังสือรับรองมาตรฐานมกษ. 7436-2563 กับทางฟาร์มแคร๊บเฮ้าส์ ปัจจุบัน ทางฟาร์มได้มีการนำปูนามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ปูนาที่หลากหลาย อาทิ ปูนาน้ำใสดอง หลนปูนา ลาบปูนา เป็นต้น นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ยังได้รับอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ประมงธงเขียว และอยู่ระหว่างการนำสินค้ามาจำหน่ายที่ร้าน Fisherman Shop @ Bangkhen ของกรมประมง และเนื่องจากปูนาต่างได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภค ส่งผลให้ไม่สามารถผลิตปูนาได้ทันต่อความต้องการ และจากข้อมูลการเพาะเลี้ยงปูนาในกระชังพลาสติกพื้นที่ 2 ไร่ ในปี 2565 ทางฟาร์มสามารถสร้างผลผลิตปูนาได้ 1.5 ตัน ซึ่งไม่เพียงพอต่อการนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ทางฟาร์มจึงได้เริ่มสร้างเครือข่ายลูกฟาร์มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 เพื่อส่งต่อผลผลิตปูนา ปัจจุบันทางฟาร์มมีลูกฟาร์มประมาณ 300 ฟาร์มทั่วประเทศ โดยจากการเก็บข้อมูลภาพรวมผลผลิตในปี 2565 พบว่าทางฟาร์มสามารถสร้างผลผลิตได้ประมาณ 40 ตัน คิดเป็นมูลค่า 10-20 ล้านบาท นอกจากนี้ทางฟาร์มยังได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ปูนาแบบครบวงจร เพื่อเป็นการส่งต่อข้อมูลความรู้ให้กับผู้ที่สนใจในรูปแบบการจัดอบรมการเลี้ยงปูนาแบบครบวงจร อาทิ การคัดเลือกพันธุ์ปู การปรับสภาพการเลี้ยง การอนุบาลลูกปู ฯลฯ

รองอธิบดีกรมประมงฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ปูนา…เป็นสัตว์น้ำอีกชนิดหนึ่งที่มีศักยภาพในการพัฒนาการเพาะเลี้ยงเพื่อการค้า และเพิ่มรายได้แก่เกษตรกร ซึ่งในอนาคตจึงมีความเป็นไปได้ที่ “ปูนา” จะเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่ ที่ตอบสนองความต้องการของตลาดที่เติบโตขึ้นทั้งภายในและภายนอกประเทศ และมีธุรกิจการแปรรูปอาหารต่อเนื่อง ทำให้ปูนาที่เพาะเลี้ยงได้มีระบบการตลาดที่ชัดเจน ผลผลิตมีการรับซื้อตลอด และตลาดปูนาเติบโตควบคู่กับตลาดอาหารไทยที่ต้องใช้ปูนาเป็นวัตถุดิบ ทั้งนี้ หากเกษตรกรหรือผู้ประกอบการที่สนใจ ยื่นคำขอรับการตรวจรับรองมาตรฐาน มกษ. 7436-2563 สำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการบริโภคหรือติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ กองพัฒนาระบบการรับรองมาตรฐานสินค้าประมงและหลักฐานเพื่อการสืบค้น (กมป.) อาคารเชิดชาย อมาตยกุล ชั้น 5 กรมประมง เกษตรกลาง แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 โทรศัพท์ 0-2579-7738 02-558-0189 , YouTube channel : FCSTD DoF, Thailand , Facebook Page @ fisheriesthacert, Line official : @227ffebt ®

กรมประมง ข่าว