“วิสาหกิจฯ เป็นสุขนาโก” ต้นแบบการเพิ่มมูลค่าข้าวอินทรีย์ยั่งยืน

209

สศท.4 ชู “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวอินทรีย์เป็นสุขนาโก” จ.กาฬสินธุ์ ต้นแบบการเพิ่มมูลค่าข้าวอินทรีย์อย่างยั่งยืน ต้นแบบการเพิ่มมูลค่าข้าวอินทรีย์อย่างยั่งยืน

นายนพดล ศรีพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 ขอนแก่น (สศท.4) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน โดยส่งเสริมการทำเกษตรกรรมยั่งยืนในรูปแบบต่างๆ เช่น เกษตรอินทรีย์ เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน วนเกษตร และการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ซึ่งเน้นการบริหารจัดการฐานทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มตลอดโซ่อุปทาน สามารถผลิตอาหารที่ปลอดภัย มีคุณภาพมาตรฐาน ตลอดจนดูแลรักษาระบบนิเวศให้มีความสมดุลยั่งยืน

สศท.4 ได้ให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน จึงได้ศึกษาแนวทางการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรอินทรีย์ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวอินทรีย์เป็นสุขนาโกตำบลนาโก อำเภอกุสินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งผลผลิตของกลุ่มได้รับรองมาตรฐาน Organic Thailand และได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 การประกวดข้าวสารบรรจุถุงคุณภาพดีเด่นแห่งประเทศไทย ประจำปี 2565 โดยกลุ่มวิสาหกิจฯ ได้จดทะเบียนจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน เมื่อปี 2557 มีนางสาววิจิตรา แสงทอง เป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจฯ ปัจจุบันมีเกษตรกรสมาชิก 56 ราย พื้นที่เพาะปลูกรวม 431 ไร่ นอกจากนี้ ยังมีเกษตรกรที่เป็นเครือข่ายข้าวอินทรีย์ในพื้นที่ตำบลนาโกอีก 246 ราย รวมพื้นที่เพาะปลูกของกลุ่มวิสาหกิจฯ และเครือข่าย จำนวน 1,998 ไร่

สถานการณ์การผลิตของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวอินทรีย์เป็นสุขนาโกเกษตรกรทำการเพาะปลูกข้าวอินทรีย์ทั้งข้าวเจ้านาปี (หอมมะลินาปี) และข้าวเหนียวนาปี (กข.6) ซึ่งหากจำแนกรายละเอียดของข้าวทั้ง 2 สายพันธุ์ พบว่า ข้าวเจ้านาปี (หอมมะลินาปี) มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 5,650.39 บาท/ไร่/ปี เกษตรกรเพาะปลูกช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม เก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม ได้ผลผลิตเฉลี่ย 467.93 กิโลกรัม/ไร่/ปี ราคาที่เกษตรกรขายได้ ณ ไร่นา ความชื้น 15% เฉลี่ยอยู่ที่ 14,460 บาท/ตัน หรือ 14.46 บาท/กิโลกรัม เกษตรกรได้รับผลตอบแทนเฉลี่ย 6,766.27 บาท/ไร่/ปี ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 1,115.88 บาท/ไร่/ปี ข้าวเหนียวนาปี (กข.6) มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 5,311.20 บาท/ไร่/ปี เกษตรกรเพาะปลูกช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม เก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม ได้ผลผลิตเฉลี่ย 484.86 กิโลกรัม/ไร่/ปี ราคาที่เกษตรกรขายได้ ณ ไร่นา ความชื้น 15% เฉลี่ยอยู่ที่ 12,860 บาท/ตัน หรือ 12.86 บาท/กิโลกรัม เกษตรกรได้รับผลตอบแทนเฉลี่ย 6,235.30 บาท/ไร่/ปี ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 924.11 บาท/ไร่/ปี

ด้านภาพรวมของสถานการณ์ตลาด พบว่า ข้าวเจ้านาปี (หอมมะลินาปี) ผลผลิตส่วนใหญ่ ร้อยละ 77 เกษตรกรจำหน่ายให้กับกลุ่มวิสาหกิจฯ เพื่อแปรรูปและจำหน่ายเป็นข้าวสารให้กับโรงพยาบาลร้อยเอ็ด ซึ่งได้มีการทำ MOU ร่วมกัน ทำให้ได้ราคาข้าวที่มั่นคงและเป็นธรรมในราคา 36 บาท/กิโลกรัม รวมถึงยังมีการจำหน่ายทางออนไลน์ผ่านเพจ Facebook “ข้าวสินเหล็กนาโก” การออกบูธ และจำหน่ายเป็นเมล็ดพันธุ์ ส่วนผลผลิตร้อยละ 23 เกษตรกรเก็บผลผลิตไว้บริโภคภายในครัวเรือนและเป็นเมล็ดพันธุ์ ข้าวเหนียวนาปี (กข.6) ผลผลิตส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.2 เกษตรกรจำหน่ายให้กับกลุ่มวิสาหกิจฯ เพื่อจำหน่ายเป็นเมล็ดพันธุ์ และมีการแปรรูปเป็นข้าวสารจำหน่ายให้กับผู้บริโภคผ่านทางออนไลน์ การออกบูธ และจำหน่ายที่ Tops Supermarket ส่วนผลผลิตร้อยละ 45.8 เกษตรกรเก็บผลผลิตไว้บริโภคภายในครัวเรือนและเป็นเมล็ดพันธุ์

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวอินทรีย์เป็นสุขนาโก มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวอินทรีย์อย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวอินทรีย์ อาทิ ขนมข้าวพองแบบแผ่น (Pop Rice) และน้ำสาเกหวาน หรือน้ำอามาซาเกะ โดย สศท.4 ได้ดำเนินการวิเคราะห์แนวทางการเพิ่มมูลค่าข้าวอินทรย์ของกลุ่มวิสาหกิจฯ ดังนี้ ขนมข้าวพองแบบแผ่น (Pop Rice) เป็นการนำข้าวหักจากกระบวณการสีมาอบกรอบ และเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวพองอบกรอบ ซึ่งประกอบด้วยรสต่าง ๆ เช่น หน้านมเนย หน้าอัลมอนด์ เป็นต้น ขายในราคาเฉลี่ยแผ่นละ 0.3 บาท หากพิจารณาการเพิ่มมูลค่า จะเห็นได้ว่าขนมข้าวพองเกิดจากข้าวหักซึ่งมีราคา 8 บาท/กิโลกรัม และข้าวหัก 1 กิโลกรัม สามารถผลิตขนมข้าวพองแบบแผ่น (Pop Rice) ได้ 450 แผ่น นั่นหมายความว่า จากมูลค่าข้าวหัก 8 บาท/กิโลกรัม เพิ่มมูลค่าขนมข้าวพองแบบแผ่น (Pop Rice) เท่ากับ 135 บาท/กิโลกรัม มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 127 บาท (เพิ่มขึ้น 15 เท่า) อีกหนึ่งสินค้าที่น่าสนใจ คือ น้ำสาเกหวาน หรือ น้ำอามาซาเกะ เป็นเครื่องดื่มที่เกิดจากการหมักข้าว และโคติ ด้วยอุณหภูมิและเวลาที่เหมาะสม จนได้เครื่องดื่มที่มีสีขาวขุ่นรสหวาน และอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ขายในราคาขวดละ 49 บาท หากพิจารณาการเพิ่มมูลค่าพบว่า จากข้าวสารเหนียว 300 กรัม สามารถผลิตน้ำอามาซาเกะได้ 10 ขวด หรือ 2 ลิตร ข้าวสารเหนียว 300 กรัม มีมูลค่าเท่ากับ 10.5 บาท (ราคา 35 บาท/กิโลกรัม) เท่ากับน้ำอามาซาเกะ 10 ขวด ซึ่งมีมูลค่า 490 บาท จะเห็นได้ว่าจากข้าวสารเหนียวมูลค่า 10.5 บาท สู่น้ำอามาซาเกะมูลค่า 490 บาท มีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 479.5 บาท (เพิ่มขึ้น 45 เท่า)

ปัจจุบันขนมข้าวพองแบบแผ่น (Pop Rice) เน้นขายตลาดภายในประเทศ ผลิตตามคำสั่งซื้อและอยู่ในระหว่างพัฒนากระบวณการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สำหรับเครื่องดื่มน้ำสาเกหวานหรืออามาซาเกะ (Amazake) มีเป้าหมายด้านการตลาดส่วนใหญ่ที่ตลาดตะวันออกกลาง ร้อยละ 40 , รองลงมา ตลาดจีน ร้อยละ 30 , อเมริกา ร้อยละ 20 และตลาดในประเทศ ร้อยละ 10 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาการค้ากับประเทศดูไบและพัฒนากระบวณการผลิต ทั้งนี้ หากท่านใดสนใจข้อมูลสามารถติดต่อได้ที่ นางสาววิจิตรา แสงทอง ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวอินทรีย์เป็นสุขนาโก ตำบลนาโก อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ โทร 08 1867 8516 หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.4 โทร 0 4326 1513 อีเมล์ [email protected]

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ข่าว