สวก. ดัน มก. เปิดตัว “Chef Robot” ครั้งแรกของไทย!

162

สวก. ดัน มก. เปิดตัว “Chef Robot” ครั้งแรกของไทย !!! โชว์หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมอาหารไทย

สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) ผนึกกำลังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมอาหารไทยให้พร้อมก้าวสู่อุตสาหกรรม 5.0  สร้าง“หุ่นยนต์พ่อครัว” หุ่นยนต์ปรุงอาหารอัตโนมัติปัญญาประดิษฐ์ ที่ผสานกับเทคโนโลยี AI ลดปัญหาด้านแรงงานคนที่มีความผันแปรสูง มาพร้อมการควบคุมมาตรฐานและคุณภาพด้วยระบบ Sensors QC  รสชาติและกลิ่นอาหาร สามารถปรุงอาหารได้รวดเร็ว ตรงเวลา มาตรฐานรสชาติแม่นยำ พร้อมต่อยอดหนุนใช้วงการแพทย์ด้วยการช่วยควบคุมด้านโภชนาการอาหารสำหรับผู้ป่วยเพิ่มโอกาสรอดมากขึ้น

ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง
ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร

ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า สวก. ให้ความสำคัญกับการยกระดับสินค้าเกษตรและเป็นผู้ให้บริการทางการเกษตรครบวงจร (Agricultural Service Provider) ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยให้กับ รศ.ดร.เชาวลิต มิตรสันติสุข และคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนิน “โครงการระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติสำหรับปรุงอาหารและตรวจวัดกลิ่นรสอาหารด้วยเครือข่ายตัวรับรู้อัจฉริยะและปัญญาประดิษฐ์เพื่อยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมอาหารไทย” ด้วยการสร้าง “หุ่นยนต์ต้นแบบพ่อครัว” ที่สามารถปรุงอาหารด้วยเครือข่ายตัวรับรู้อัจฉริยะต่อยอดเข้ากับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ โดยการผสานเทคโนโลยีการจดจำรูปแบบ (Pattern recognition) ที่สามารถควบคุมการผลิตการทำซ้ำต่อเนื่องคุณภาพคงที่ และจดจำเทคโนโลยีวัสดุตรวจจับ (Sensors) และจมูกอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic noses) ประสิทธิภาพสูงซึ่งตอบสนองต่อกลิ่นรสอาหาร รสเปรี้ยว รสหวาน รสเค็ม รสอูมามิ และความเผ็ด ตามสูตรมาตรฐานและสามารถปรับแต่งรสชาติอาหารตามต้องการและการเรียนรู้ด้วยตนเองจากข้อมูล (Machine learning) มาประยุกต์ใช้เข้าด้วยกัน และคัดเลือกเมนูอาหารไทยที่ครองใจคนทั่วโลกอย่าง “ต้มยำกุ้ง” มาเป็นเมนูนำร่องในการดำเนินโครงการ โดยตั้งเป้าต่อยอดใช้ประโยชน์กับกลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่มหลัก  ได้แก่

1. กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร/เกษตรกร : สามารถช่วยลดต้นทุนด้านการผลิต ทั้งในเรื่องของแรงงานคน โดยเฉพาะพ่อครัวที่ต้องใช้ทักษะและความคิดสร้างสรรค์ในการปรุงอาหารให้ได้สูตรออกมาอร่อยถูกใจผู้บริโภค และลูกมือที่มีความรับผิดชอบต่องาน ซึ่งแน่นอนว่ายิ่งความต้องการบริโภคอาหารมากเท่าไรผู้ประกอบการยิ่งต้องสรรหาบุคลากรเข้ามาทำงานเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตให้ทันต่อความต้องการ รวมไปถึงการควบคุมคุณภาพอาหารให้คงที่ทั้งปริมาณและรสชาติ เนื่องจากมนุษย์มีความเหนื่อยล้า หากต้องทำงานต่อเนื่อง     

    2. กลุ่มโรงพยาบาล นักโภชนาการ/ผู้รักสุขภาพที่ต้องควบคุมโภชนาการด้านอาหาร : สามารถงานช่วยคุมปริมาณแคลอรีให้สอดคล้องกับสุขภาพผู้ป่วย การปรับวิธีการกินเป็นปัจจัยสำคัญต่อสุขภาพ และได้รับผลการรักษาอย่างสูงสุด การจัดอาหารให้เหมาะสมกับโรคตามหลักโภชนบำบัด มีจุดมุ่งหมายที่สำคัญ คือ ช่วยรักษาหรือบรรเทาอาการของโรค เพิ่มโอกาสรอดชีวิต ลดเวลานอนโรงพยาบาล รวมทั้งป้องกันการเกิดภาวะทุพพลภาพ (Malnutrition) ที่อาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างที่ได้รับการรักษาโรค

    ด้านรศ.ดร.เชาวลิต มิตรสันติสุข หัวหน้าคณะโครงการวิจัยฯ กล่าวเสริมว่า “หุ่นยนต์พ่อครัว”ถูกออกแบบมารองรับการบันทึกสูตรอาหารได้เป็นดิจิทัล และมีกระบวนการเริ่มต้นจากการเก็บข้อมูลของลักษณะงานเพื่อนำมาประมวลผลก่อนที่จะเกิดการเคลื่อนที่ไปสู่การปรุงอาหารได้อย่างอัตโนมัติ โดยมีระบบ Sensors ตรวจวัดรสชาติกลิ่น อุณหภูมิ และเวลาได้อย่างแม่นยำ สามารถปรุงอาหารให้มีรสชาติคงที่ได้ในปริมาณมาก ที่สำคัญมีระบบทำความสะอาดตัวเองซึ่งช่วยลดการลงแรงงานมนุษย์ได้เป็นอย่างมาก และปัญหาอุปสรรคที่สำคัญของร้านอาหารต้องเผชิญเมื่อขยายธุรกิจนั่นคือ การหาและฝึกอบรมพนักงานจำนวนมากซึ่งอาจทำให้การเติบโตร้านอาหารช้าลงได้ และถึงแม้จัดหาบุคคลากรได้เพียงพอ แต่การควบคุมคุณภาพอาหารให้สม่ำเสมอเป็นเรื่องที่ท้าทายเป็นอย่างมาก จากข้อมูลห้องครัวทั่วไปจะมีขนาด 10 ตร.ม. สำหรับการทำงานของพนักงาน 6 – 10 คน แต่ด้วยหุ่นยนต์พ่อครัว สามารถลดจำนวนคนให้เหลือ 1-2 คน ซึ่งหมายความว่าร้านอาหารแฟรนไชส์ที่มีสาขา 500 แห่ง อาจลดพนักงานในครัวจาก 5,000 คน เหลือเพียงหลักร้อยเท่านั้น และในส่วนของด้านการผลิตจากการทดลองปรุงเมนูต้มยำกุ้งพร้อมกัน 3 เตา พบว่าหุ่นยนต์พ่อครัวใช้เวลารอบละประมาณ 5 นาที  คำนวณเวลาการลงแรงขั้นต่ำของมนุษย์ที่ 8 ชั่วโมง หุ่นยนต์สามารถปรุงต้มยำกุ้งได้ 150 ถ้วย ได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุดพักโดยรสชาติได้มาตรฐานเดียวกันทุกถ้วย

    นอกจากนี้ในการพัฒนาด้านการแพทย์ คณะวิจัยได้นำระบบ Sensors มาใช้ควบคุมการใส่เครื่องปรุงรส เช่น น้ำปลา น้ำมะนาว และซอสต่างๆ สามารถจ่ายเครื่องปรุงรสโดยอัตโนมัติที่มีระบบวัดอัตราการไหลที่ละเอียดถึง 0.01 mL ซึ่งเป็นค่าที่แม่นยำสูง และเป็นตัวช่วยที่สำคัญสำหรับโรงพยาบาลที่ต้องการผลิตอาหารปริมาณมากสำหรับผู้ป่วยในแต่ละมื้อ หุ่นยนต์พ่อครัวได้ถูกออกแบบให้เคลื่อนย้ายได้สะดวกและติดตั้งง่ายบนพื้นที่ประมาณ 2 x 3 ตารางเมตร  ในอนาคตคณะวิจัยตั้งเป้าพัฒนาระบบการจัดการผลิตใหม่ที่สามารถเชื่อมต่อกับ Platform Delivery เพื่อก้าวเข้าสู่ Industry 5.0 ที่เน้นความรวดเร็วและความแม่นยำของหุ่นยนต์ร่วมกับความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ เพื่อสร้าง Mass Customization ที่ปรับเปลี่ยนรสชาติตามความต้องการของผู้บริโภคจากคำสั่งซื้อปริมาณมาก ปัจุบันการใช้เทคโนโลยีในการผลิตอาหารเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย และตลาดหุ่นยนต์ทำอาหารเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีการคาดการณ์ว่าในปี 2028 มูลค่าของตลาดจะพุ่งสูงไปถึง 4.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยอัตราการเติบโตต่อปีที่ระดับสูงถึง 12.6% ตั้งแต่ปี 2021 – 2028 อีกทั้งการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุที่ต้องการมีชีวิตอย่างสมบูรณ์และสุขภาพดีในวัยชรา

    ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผอ.สวก. กล่าวในตอนท้ายว่า การสร้างนวัตกรรมหุ่นยนต์พ่อครัว นับเป็นโอกาส
    ในการสร้างธุรกิจใหม่ๆ โดยเฉพาะการให้บริการทำอาหารผ่านทางออนไลน์นั้น ซึ่งอาจเป็นโอกาสในการให้บริการ
    ข้ามประเทศในอนาคต โดยใช้สูตรจากเชฟหรือผู้ทำอาหารไทยปรุงอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยให้กับกลุ่มลูกค้า
    ทั้งในและต่างประเทศ สำหรับผู้สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักสนับสนุนงานวิจัย (กลุ่มงานอาหาร) เบอร์โทรศัพท์ 02-579-6719 ต่อ 1304,1305

    สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร ข่าว