กยท. ผนึกกำลัง IRRDB โชว์งานวิจัยระหว่างประเทศ

131

กยท. ผนึกกำลัง IRRDB เปิดเวที โชว์งานวิจัยระหว่างประเทศ มุ่งพัฒนานวัตกรรม สู่การยกระดับอุตสาหกรรมยางทั้งระบบอย่างยั่งยืน

การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ร่วมกับ สภาวิจัยและพัฒนายางระหว่างประเทศ (International Rubber Research and Development Board: IRRDB) เปิดเวทีการประชุมวิชาการยางระหว่างประเทศ (International Rubber Conference : IRC 2024) ภายใต้แนวคิด “จุดประกายเสริมสร้างนวัตกรรมยางพารามุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืน” โดยได้รับเกียรติจาก ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการประชุมฯ พร้อมมอบแนวทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยาง รับมือความท้าทายในทุกมิติ มุ่งผลักดันงานวิจัย – นวัตกรรม สู่การพัฒนาวงการยางตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยการประชุมจัดในระหว่างวันที่ 19 – 21 กุมภาพันธ์ 2567 ณ โรงแรมดุสิตธานี พัทยา จ.ชลบุรี

ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ประเทศไทย ในฐานะประเทศสมาชิกที่เป็นผู้นำด้านการผลิตยางพารา  มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาการเกษตรเพื่อความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญและตระหนักถึงการกำหนดทิศทางในอนาคตของสินค้ายางพารา ซึ่งเป็นพืชที่สำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและของโลก เวทีประชุมวิชาการครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แบ่งปันความรู้ และความร่วมมือในการผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมยางพารา ภายใต้แนวคิด “จุดประกายเสริมสร้างนวัตกรรมยางพารามุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืน” ผ่านการนำนวัตกรรมและสำรวจแนวคิดใหม่ๆ จากผู้เชี่ยวชาญที่มากประสบการณ์และนักวิจัยรุ่นเยาว์ พัฒนาสู่แนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน รับมือกับความท้าทายในภาคอุตสาหกรรมยางพาราที่กำลังเผชิญ ทั้งการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ และความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม เพื่อสามารถขับเคลื่อนวงการยางพาราทุกภาคส่วนในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

 “ขอบคุณทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนจากทุกประเทศที่มีส่วนร่วมในการประชุมที่สำคัญนี้ สำหรับความทุ่มเท และความมุ่งมั่นในการพัฒนางานวิจัย และนวัตกรรมยางพาราทั้งระบบให้ก้าวไปข้างหน้าบนเส้นทางสู่อนาคตที่ยั่งยืน” ร้อยเอกธรรมนัส กล่าวทิ้งท้าย

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้จะเป็นเวทีสำคัญในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ของผู้เกี่ยวข้องในวงการยางตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ เชื่อว่าทุกความคิดเห็นและมุมมองที่หลากหลายจากการประชุมครั้งนี้ จะนำไปสู่การกำหนดแนวทางร่วมกัน เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมยางให้เกิดความยั่งยืนทั้งด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ โดยมุ่งประโยชน์ที่จะเกิดกับกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย นำไปสู่การพัฒนาความเป็นอยู่ของเกษตรกรฯ อย่างเป็นรูปธรรม   

นายณกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่าการนำเสนอผลงานทางวิชาการ งานวิจัย และการแลกเปลี่ยนข้อเสนอแนะ ความคิดเห็น ประสบการณ์ของตัวแทนหน่วยงานสถาบันวิจัยจาก 19 ประเทศสมาชิก (บังกลาเทศ บราซิล กัมพูชา แคเมอรูน จีน โกตดิวัวร์ ฝรั่งเศส กัวเตมาลา อินเดีย อินโดนีเซีย ไลบีเรีย มาเลเซีย เมียนมาร์ ไนจีเรีย ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา เวียดนาม และไทย) จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางานวิจัยให้มีประสิทธิภาพ นำไปสู่การพัฒนาวงการอุตสาหกรรมยาง โดยในปีนี้มีงานวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นไฮไลท์ สามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาวงการยางพาราตลอดห่วงโซ่อุปทานที่น่าสนใจ ได้แก่ โมเดลระบบกรีดยางที่มีผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต การจัดการความยั่งยืนจากเกษตรกรรายย่อยที่ประสบสำเร็จ นวัตกรรมในการบริหารความเสี่ยง เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร การผลิตพลังงานทางเลือกจากยางธรรมชาติ และการวิจัยด้านคุณสมบัติถุงมือยางธรรมชาติที่ไร้โปรตีน เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลงานที่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอด เพื่อยกระดับยางพาราสู่มาตรฐานสากล อันจะนำไปสู่การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อไป ทั้งนี้ ตัวแทนหน่วยงานสถาบันวิจัยทุกคนสามารถมีส่วนร่วมและเรียนรู้จากการลงพื้นที่ศึกษากระบวนการรวบรวมผลผลิตของกลุ่มเกษตรกรบางบุตร จ.ระยอง และการแปรรูปยางของสหกรณ์กองทุนสวนยางอำเภอบ่อทอง จำกัด จ.ชลบุรี

นอกจากนี้ ภายในงาน รมว.เกษตรฯ ยังได้มอบรางวัลด้านต่างๆ ได้แก่ รางวัลผู้อุทิศตนให้กับงานด้านอุตสาหกรรมยางพารามาอย่างยาวนาน รางวัลผลงานงานวิจัยดีเด่น 2024 รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ 2024 (สาขาต้นน้ำ/ปลายน้ำ) และการมอบใบประกาศให้กับสมาชิกสมทบ IRRDB จากภาคเอกชน

การยางแห่งประเทศไทย