กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงบ้านโพนฮาด แนะปัจจัยความสำเร็จ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้

68

กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงบ้านโพนฮาด แนะปัจจัยความสำเร็จ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ความสามัคคี และความเข้มแข็งของสมาชิกกลุ่มฯ

กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงบ้านโพนฮาด จังหวัดร้อยเอ็ด ได้น้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาปรับใช้ในการดำเนินงาน สร้างความสามัคคี และความเข้มแข็งของสมาชิกกลุ่มฯ สนับสนุนกิจกรรม และการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ สามารถลดรายจ่ายเฉลี่ยต่อครัวเรือนได้ 1,500 – 2,000 บาทต่อเดือน และมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้นมากกว่า 4,000 บาทต่อเดือน

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินงานสนองพระราชดำริโครงการส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ขึ้นในปี 2556 เพื่อให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตของตนและครอบครัวในยุคโลกาภิวัตน์ได้อย่างดี และมีความปกติสุข โดยน้อมนําหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำเนินชีวิต ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยสามารถพึ่งตนเอง มีอาชีพมีรายได้ ทำให้สามารถปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ในครอบครัวได้ดีขึ้น มีกำลังสนับสนุนการศึกษาของบุตรหลาน ส่งผลให้ชุมชนเข้มแข็งอย่างมั่นคงและยั่งยืน

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงบ้านโพนฮาด อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 88 ราย มีการดำเนินกิจกรรมหลักในกลุ่มฯ จำนวน 5 กิจกรรม ได้แก่ 1) กิจกรรมการปักพัดยศ โดยมี นางวรรณา แก้วคันโท เป็นประธาน มีสมาชิกจำนวน 41 ราย มีการปักพัดยศตามรูปแบบ สมณศักดิ์ของพระสงฆ์ชั้นต่าง ๆ สมาชิกสามารถปักพัดยศได้ประมาณ 500 – 600 หน้า ต่อเดือน ซึ่งจะทำในเวลาว่างช่วงกลางวันเพื่อเป็นอาชีพเสริม เป็นงานฝีมือที่สร้างรายได้ให้สมาชิกเฉลี่ยครัวเรือนละ 4,000 – 7,000 บาทต่อเดือนทั้งนี้การปักพัดยศของกลุ่มถือเป็นเพียงกลุ่มเดียวของภาคอีสานที่ดำเนินการอยู่ 2) กิจกรรมกลุ่มปลูกผักปลอดภัย โดยมี นางหอมจันทร์ บุญครอง เป็นประธาน มีสมาชิกจำนวน 75 ราย มีการปลูกพืชผักรอบหนองน้ำโพนฮาด และในพื้นที่ของแต่ละครัวเรือน เป็นพืชผักสวนครัวปลอดภัยจากสารพิษตามฤดูกาล เช่น ผักบุ้ง คะน้า บรอคโคลี่ กะหล่ำปลี โหระพา พริก มะเขือ แมงลัก ผักกวางตุ้ง คะน้า ผักชี สลัด เป็นต้น สมาชิกมีรายได้เฉลี่ย 300 – 500 บาทต่อวัน มีรายได้เฉลี่ยครัวเรือนละ 3,500 บาทต่อเดือน จำหน่ายในตลาดชุมชน ตลาด Big C จังหวัดร้อยเอ็ด โรงพยาบาลร้อยเอ็ด โรงพยาบาลร้อยเอ็ดธนบุรี โรงพยาบาลเกษตรวิสัย และตลาดออนไลน์ เป็นต้น 3) กิจกรรมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร โดยมีนางนงนาถ มะโนลัย และนางสมรัตน์ บุญสงกา เป็นผู้ประสานงานกลุ่ม มีสมาชิกจำนวน 88 ราย สินค้าหลักของการแปรรูป คือ ข้าวสารบรรจุถุง โดยเป็นข้าวขาวดอกมะลิ 105 บรรจุถุง ถุงละ 0.5 และ 1 กิโลกรัม (แพ็คสุญญากาศ) และแป้งข้าวหอมมะลิ 105 โดยมีการต่อยอดนำมาเป็นส่วนผสมของการผลิตสบู่ และขนมต่าง ๆ เช่น ขนมโดนัท เค้กกล้วยหอม ขนมดอกจอก ฯลฯ จำหน่ายในตลาดชุมชน นอกจากนี้ยังจัดกิจกรรมการอบรมและศึกษาดูงานของกลุ่มฯ รวมถึงสถานศึกษาและองค์การบริหารส่วนตำบลใกล้เคียง ออกบู๊ทนิทรรศการ งานแสดงสินค้า และตลาดออนไลน์ เป็นต้น ทำให้สมาชิกมีรายได้เฉลี่ย 2,000 – 4,000 บาทต่อเดือน 4) กิจกรรมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์/น้ำหมักชีวภาพ โดยมีนายสุวรรณ บุญสงกา เป็นประธานมีสมาชิกจำนวน 88 ราย  โดยกลุ่มมีการส่งเสริมให้สมาชิกมีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์และน้ำหมักชีวภาพเพื่อใช้เองในครัวเรือน และมีการทำน้ำหมักชีวภาพส่วนกลางเพื่อใช้ในชุมชน อีกทั้งเป็นจุดถ่ายทอดความรู้ แก่เกษตรกรที่มาอบรมและศึกษาดูงาน มีการบริการปล่อยน้ำหมักชีวภาพให้แก่สมาชิกที่ปลูกผักรอบหนองฮาดทุกสัปดาห์ ทำให้พืชผักเจริญเติบโตได้ดี สมาชิกไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมี จึงทำให้ลดต้นทุนการผลิตพืชผักได้ และ 5) กิจกรรมการจัดทำบัญชีครัวเรือน โดยมี นางสายันต์ แก้วน้อย เป็นประธานมีสมาชิกจำนวน 88 ราย มีการส่งเสริมการทำบัญชีครัวเรือนเป็นประจำทุกวัน มีการสรุปรายรับ-รายจ่ายเป็นประจำทุกเดือน เพื่อนำมาวางแผนการใช้จ่ายในครัวเรือน เกิดการออมเงินของสมาชิก สร้างภูมิคุ้มกันในการดำเนินชีวิตโดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้สนับสนุนปัจจัยการผลิต รวมทั้งดำเนินการจัดกระบวนการเรียนรู้ การศึกษาดูงาน เกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การผลิตสินค้าและบริการ และการบริหารจัดการกลุ่ม ส่งเสริมให้กลุ่มมีการนำเทคโนโลยีทางการเกษตรเข้ามาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพผลผลิต ส่งเสริมให้สมาชิกทั้งในระดับครัวเรือนและชุมชนมีความรู้ด้านการตลาด การจำหน่ายผลผลิตของสมาชิกรวมถึงการเข้าถึงแหล่งทุน การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม ทั้งในชุมชน และภายนอกชุมชน การประชาสัมพันธ์เผยแพร่แนวปฏิบัติที่ดี มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อสมาชิกจะได้ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ทั้งนี้ กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียง ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด มีการดำเนินการใน 5 อำเภอ ได้แก่ 1) กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงบ้านปอภาร ตำบลปอภาร อำเภอเมืองร้อยเอ็ด มีสมาชิกจำนวน 73 ราย 2) กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงบ้านโพนฮาด ตำบลดงครั่งน้อย อำเภอเกษตรวิสัย มีสมาชิกจำนวน 88 ราย 3) กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงบ้านผือฮี ตำบลดงแดง อำเภอจตุรพักตรพิมาน มีสมาชิกจำนวน 33 ราย 4) กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงบ้านนานวล ตำบลนานวล อำเภอพนมไพร มีสมาชิกจำนวน 31 ราย และ 5) กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงบ้านมะหรี่ ตำบลภูเงิน อำเภอเสลภูมิ มีสมาชิกจำนวน 60 ราย  รวมมีสมาชิกทั้งสิ้นจำนวน 285 ราย ซึ่งสมาชิกกลุ่มทุกคนมีอาชีพ สามารถลดรายจ่าย มีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถพึ่งพาตนเอง มีเป็นอยู่ในครอบครัวที่ดีขึ้น กลุ่มมีเงินออม เกิดเป็นชุมชนเข้มแข็งอย่างมั่นคงและยั่งยืน

กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว