กสก. เดินหน้าดันกาแฟบ้านปางปูเลาะ สู่สินค้าเกษตร

68

กรมส่งเสริมการเกษตรเดินหน้าดันกาแฟบ้านปางปูเลาะสู่การพัฒนาศักยภาพสินค้าเกษตร จัดทำแผนขับเคลื่อนพะเยาโมเดล ภายใต้แนวคิด ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นำคณะรัฐมนตรี พร้อมด้วยร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้เกี่ยวข้องลงพื้นที่จังหวัดพะเยา เพื่อหารือแผนการพัฒนาพื้นที่เป็นสนามบินจังหวัดพะเยา ติดตามสถานการณ์การค้าชายแดนและการพัฒนาพื้นที่ก่อสร้างที่ทำการด่านชายแดน CIQ ณ จุดผ่านแดนถาวรบ้านฮวก อำเภอภูซาง และรับฟังการนำเสนอแผนพัฒนาอุทยานการเรียนรู้พะเยา (TK Park) อำเภอเมืองพะเยา พร้อมชมนิทรรศการและผลิตภัณฑ์ชุมชนของจังหวัดพะเยา รวมทั้งการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการที่จังหวัดพะเยา โดยได้เยี่ยมชมนิทรรศการการพัฒนากาแฟพะเยา ภายใต้โครงการพะเยาโมเดลสู่การพัฒนาศักยภาพสินค้าเกษตร ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ  โดยกาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดพะเยาและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ปัจจุบันมีพื้นที่ผลิตกาแฟ 1,934 ไร่ จำหน่ายผลผลิตในรูปผลสด (เชอรี่) กาแฟกะลา เครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์แปรรูป โดยเกษตรกรและผู้ประกอบการทั้งในและนอกพื้นที่

ด้านนายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากนโยบายด้านการพัฒนาสินค้าเกษตรมูลค่าสูงและการพัฒนาการเกษตรในรูปแบบพะเยาโมเดล กรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้ดำเนินการพัฒนากาแฟพะเยา โดยกำหนดเป้าหมาย นำร่องวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตกาแฟคุณภาพบ้านปางปูเลาะ หมู่ 13 ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ซึ่งได้รวมตัวกันเพื่อพัฒนาผลผลิตกาแฟให้ได้คุณภาพ มีพื้นที่ปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิก้า จำนวน 175 ไร่ ที่ระดับความสูง  900 – 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล บนพื้นที่ลาดชันและหุบเขา พื้นที่ปลูกกาแฟกระจายตัวอยู่ในเขต หมู่บ้านปางปูเลาะ หมู่ 13 และหมู่บ้านผาแดง หมู่ 10  ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา เพื่อพัฒนาต้นแบบในการผลิตสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าสูง สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัดพะเยา ในด้านการผลิตและเพิ่มมูลค่า เพื่อเป็นต้นแบบในการยกระดับรายได้ของเกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรม และนำไปสู่การขยายผลในพื้นที่ต่อไป ทั้งนี้จากการดำเนินงานพบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่จำหน่ายผลผลิตในรูปผลสด (เชอรี่) หรือ กาแฟกะลา ผ่านผู้รวบรวมทั้งในชุมชนและที่มาจากพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง โดยราคารับซื้อไม่มีความแน่นอนเป็นไปตามกลไกการตลาด ทำให้เกิดข้อจำกัดด้านรายได้ และยังมีความเสี่ยงในเรื่องการผลิต เช่น สภาวะอากาศที่แปรปรวน รวมทั้งศัตรูพืชที่อาจสร้างความเสียหายได้ตลอดเวลา

สำหรับเป้าหมายการดำเนินงานโครงการพะเยาโมเดล ในส่วนของกาแฟ แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ 1) เป้าหมายขั้นต้น เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกาแฟแบบมีส่วนร่วม ส่งเสริมการสร้างคู่ค้าใหม่และเพิ่มช่องทางการตลาด ส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตกาแฟส่งมาตรฐานสินค้าเกษตร สนับสนุนการใช้นวัตกรรมที่สอดคล้องกับวิธีการผลิตกาแฟคุณภาพในชุมชน 2) เป้าหมายขั้นกลาง เชื่อมโยงการตลาดกาแฟ การใช้นวัตกรรมสำหรับการผลิตกาแฟคุณภาพ ส่งเสริมการสร้างแบรนด์สินค้า รวมทั้ง การยกระดับคุณภาพโดยการพัฒนาให้เป็นกาแฟ ที่มีลักษณะเฉพาะทั้งรสชาติและกลิ่น ซึ่งจะมีอัตลักษณ์เป็นกาแฟ Specialty สร้างความน่าสนใจและโอกาสเข้าสู่ตลาด Premium ได้มากยิ่งขึ้น และ 3) เป้าหมายขั้นสูง มีระบบการตรวจสอบย้อนกลับสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค สร้างบาริสต้าท้องถิ่นให้เป็นมืออาชีพ นำกาแฟเข้าสู่เวทีการประกวดแข่งขันกาแฟระดับประเทศ สร้างงานวิจัยผลิตภัณฑ์/นวัตกรรม ส่งเสริมการจดทะเบียนสิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร ของผลิตภัณฑ์ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายสูงสุด คือ ผลผลิตกาแฟ (เชอรี่) เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 500 – 600 กิโลกรัมต่อไร่ ได้มาตรฐานสินค้าเกษตรการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับกาแฟ (GAP) มีแบรนด์กาแฟ และสร้างบาริสต้าให้เป็นที่รู้จักในเวทีต่างๆ 

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยาได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่และเกษตรกร ตลอดจนวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตกาแฟคุณภาพบ้านปางปูเลาะ ในการพัฒนาการผลิตและเพิ่มมูลค่า โดยสร้างรูปแบบการพัฒนาผ่านกลุ่มองค์กรเกษตรกร ครอบคลุมการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งขณะนี้ความก้าวหน้าของการดำเนินโครงการ ได้แก่ การลงพื้นที่สำรวจ และจัดเก็บข้อมูลพื้นฐานของกลุ่มและเกษตรกรเป้าหมาย จำนวน 20 ครัวเรือน และจัดเวทีวิเคราะห์ข้อมูลการผลิตกาแฟ เพื่อจัดทำแผนขับเคลื่อนโครงการภายใต้แนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” พร้อมทั้งประสานและดำเนินการร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดพะเยา (เกษตรที่สูง) ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่ ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมเชียงใหม่ ในการเตรียมความพร้อมและตรวจซ่อมเครื่องมือสำหรับการแปรรูปที่มีในชุมชนให้มีประสิทธิภาพพร้อมใช้งานมากยิ่งขึ้น โดยแผนดำเนินกิจกรรมขั้นต่อไปได้กำหนดจัดอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านมาตรฐาน GAP การอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านมาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ. 5701-2561 การศึกษาดูงานพื้นที่ปลูกกาแฟที่ได้มาตรฐานสินค้าเกษตร และสนับสนุนการจัดทำแปลงต้นแบบให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเพื่อเป็นต้นแบบในการยกระดับรายได้ของเกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรม และนำไปสู่การขยายผลในพื้นที่อื่น ๆ ตามข้อสั่งการของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อไป

กรมส่งเสริมการเกษตร