เกษตรเขต 5 สงขลา ขับเคลื่อนงานวิจัย

56

เกษตรเขต 5 สงขลา ขับเคลื่อนงานวิจัย “แหนแดงในนาข้าวเพื่อลดต้นทุนการผลิต”

นายวุฒิศักดิ์ เพชรมีศรี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า จากสถานการณ์ปุ๋ยเคมีที่มีราคาแพงและมีความผันผวน กรมส่งเสริมการเกษตร จึงมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ปรับปรุงความเป็นกรดเป็นด่างของดิน ใช้ปุ๋ยแบบผสมผสาน (ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพ) และใช้พืชปุ๋ยสด โดยการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้มีการผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์และวัสดุอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง ทั้งยังส่งเสริมสนับสนุนให้ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) เป็นต้นแบบและกลไกในการขยายผลการปรับประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการจัดการดินและปุ๋ยอย่างเหมาะสมสู่ชุมชน โดยวิธีการที่เกษตรกรสนใจใช้เพื่อลดต้นทุนการผลิตพืช คือ การผลิตและใช้แหนแดง กรมส่งเสริมการเกษตรจึงจัดทำข้อเสนอโครงการขยายผลการผลิตและใช้แหนแดงเพื่อลดต้นทุนการผลิตสู่เกษตรกร โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร หรือ สวก. ด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจสามารถผลิตและใช้แหนแดง เพื่อลดต้นทุนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการใช้แหนแดงจะช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยไนโตรเจน เพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ปรับปรุงโครงสร้างดินดีขึ้นในระยะยาว เป็นการช่วยดูแลฟื้นฟูทรัพยากรดิน และสอดคล้องกับนโยบาย BCG ของรัฐบาล

นายวุฒิศักดิ์ เพชรมีศรี
ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา

ในปีงบประมาณ 2566 สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ได้นำองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผลการวิจัยเกี่ยวกับการผลิตและใช้แหนแดงของกรมวิชาการเกษตร และขยายผลสู่เจ้าหน้าที่และเกษตรกร โดยเริ่มดำเนินการนำร่องผ่านศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ที่ได้รับรางวัลดีเด่นในการประกวด และมีพืชหลักเป็น นาข้าว ได้แก่ ศดปช.เกาะยาว จังหวัดพังงา และ ศดปช.ป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง ซึ่งถือเป็น ศดปช. ที่มีศักยภาพและมีความพร้อมในการขยายผลสู่ชุมชน และในปีงบประมาณ 25667 สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา มีแผนที่จะขับเคลื่อนงานวิจัยการผลิตและใช้แหนแดงเพื่อลดต้นทุนการผลิตสู่เกษตรกร มาใช้ในงานส่งเสริมการเกษตรเพื่อให้เกษตรกรลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีและเพื่อการปรับปรุงบำรุงดิน สู่ ศดปช. ทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ต่อไป

“แหนแดง” เป็นเฟิร์นลอยน้ำชนิดหนึ่งที่มีขนาดเล็ก เปรียบเสมือนโรงงานผลิตปุ๋ยไนโตรเจนทางชีวภาพ เนื่องจากมีกระบวนการตรึงไนโตรเจนของสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินที่อาศัยอยู่ในโพรงใบของแหนแดง ทำให้แหนแดงมีประโยชน์ในด้านทดแทนหรือลดการใช้ปุ๋ยเคมีไนโตรเจน โดยกรมวิชาการเกษตร แนะนำให้เกษตรกรใช้แหนแดง สายพันธุ์อะซอลล่า ไมโครฟิลล่า (Azolla microphylla) มีลักษณะเด่นคือ มีขนาดใหญ่ ขยายพันธุ์ได้รวดเร็วให้ผลผลิตสูงกว่าสายพันธุ์พื้นเมืองถึง 10 เท่า ใช้ผสมกับดินปลูกช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยไนโตรเจน (N) และธาตุอาหารชนิดอื่น เช่น โพแทสเซียม (K) ได้ แหนแดงมีไนโตรเจนสูงถึง 4.6% ซึ่งมากกว่าพืชตระกูลถั่วที่มีไนโตรเจน 3% และที่สำคัญใช้ได้ทันทีไม่ต้องทำเป็นปุ๋ยหมัก ย่อยสลายเป็นธาตุอาหารให้แก่พืชได้เร็ว และแหนแดงยังเหมาะสำหรับการใช้ใน “นาข้าว” หากเกษตรกรใช้แหนแดงหว่านในแปลงนาข้าวก่อนปลูกข้าว อัตรา 200-300 กิโลกรัมต่อไร่ รอให้แหนแดงขยายพันธุ์ 1 เดือนจะได้แหนแดงในนาข้าวให้น้ำหนักสดประมาณ 3,000 กิโลกรัมต่อไร่ ข้าวจะได้รับปุ๋ยไนโตรเจนจากแหนแดงหลังไถกลบ ประมาณ 6 – 7.5 กิโลกรัมต่อไร่ซึ่งเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของข้าว เท่ากับว่าเกษตรกรจะลดค่าใช้จ่ายในการใช้ปุ๋ยยูเรียได้ 13-16 กิโลกรัม ซึ่งไนโตรเจน 1 กิโลกรัม เทียบเท่ากับยูเรีย 2.17 กิโลกรัม แต่ถ้าเกษตรกรหว่านแหนแดงหลังการปลูกข้าว อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ ข้าวจะได้รับปุ๋ยไนโตรเจนจากแหนแดงในฤดูปลูกถัดไป นายวุฒิศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

กรมส่งเสริมการเกษตร