กฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า

178

กฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (EU Deforestation free Products)

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2566 คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศ Regulation (EU) 2023/1115 ว่าด้วย สินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า เพื่อควบคุมสินค้าที่วางจำหน่ายในสหภาพยุโรปและที่ส่งออกจากสหภาพยุโรปที่เชื่อมโยงกับการตัดไม้ทำลายป่าและการทำให้ป่าเสื่อมโทรม (associated with the deforestation and forest degradation) ใน EU Official Journal L 150/206 และให้มีผลบังคับใช้วันที่ 29 มิถุนายน 2566

กฎระเบียบฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการจำหน่ายสินค้าที่มีความเสี่ยงต่อการทำลายป่า ทั้งสินค้าภายในสหภาพยุโรปและสินค้านำเข้ามาจำหน่ายในสหภาพยุโรป ครอบคลุมสินค้า ได้แก่ (1) วัว (2) โกโก้ (3) กาแฟ (4) ปาล์มน้ำมัน (5) ยางพารา (6) ถั่วเหลือง และ (7) ไม้ รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ผลิตจากสินค้าดังกล่าว อาทิ ช็อคโกแลต เฟอร์นิเจอร์ กระดาษ ถ่าน และสินค้าที่มีน้ำมันปาล์มเป็นส่วนประกอบ

การประกาศใช้กฎหมายดังกล่าว มีผลบังคับใช้โดยตรงกับผู้ประกอบการในสหภาพยุโรปโดยผู้ประกอบการของสหภาพยุโรปที่จะมีการจำหน่าย นำเข้า หรือส่งออกสินค้าข้างต้น จะมีภาระผูกพันในการกรอกข้อมูล Due Diligence Statement (DDS) ในฐานข้อมูลของสหภาพยุโรป จะมีระดับความยากง่ายในการดำเนินการ Due Diligence Statement โดยพิจารณาจากความเสี่ยงของสินค้านั้น ๆ ว่าอยู่ในระดับความเสี่ยงใด สอดคล้องกับการจัดระดับความเสี่ยงของประเทศผู้ผลิต (Country Benchmarking) ที่จะมีการจัดเป็น 3 ระดับ คือ ความเสี่ยงสูง ความเสี่ยงต่ำ และความเสี่ยงมาตรฐาน โดยขณะนี้ทุกประเทศได้รับการกำหนดให้เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงมาตรฐาน และจะประกาศกฎระเบียบอันดับรองที่จัดระดับประเทศหรือเขตพื้นที่ของประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำหรือความเสี่ยงสูง ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2567 อย่างไรก็ตาม บัญชีรายชื่อดังกล่าวจะได้รับการทบทวนอยู่เสมอ

กฎหมายดังกล่าวได้กำหนดระยะเวลาเปลี่ยนผ่านไว้ 2 ช่วงระยะเวลา ดังนี้

1) กฎหมายมีผลบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบภายใน 18 เดือนนับตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ หรือ ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป สำหรับข้อกำหนดในมาตรา 3 – มาตรา 13 (ว่าด้วย การห้าม หรือ ข้อบังคับสำหรับผู้ประกอบการ/ผู้ค้า/ผู้แทนที่ได้รับอนุญาต การวางจำหน่ายในตลาด โดยผู้ประกอบการที่มีถิ่นที่ตั้งในประเทศที่สาม ความรับผิดชอบในการประกอบธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ข้อกำหนดด้านข้อมูล การประเมินความเสี่ยง การลดความเสี่ยง การจัดทำและดูแลระบบการตรวจสอบสถานะ due diligence การรายงาน การเก็บบันทึก และ due diligence แบบลดขั้นตอน) มาตรา 16 – มาตรา 24 (ว่าด้วย ข้อบังคับ/หน้าที่ในการดำเนินการตรวจสอบ สินค้าที่เกี่ยวข้องที่ต้องดำเนินการในทันที การตรวจสอบผู้ประกอบการและผู้ค้าที่ไม่ใช่วิสาหกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดย่อม การตรวจสอบผู้ค้าวิสาหกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดย่อม การเรียกคืนค่าใช้จ่ายโดยหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลัก ความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนข้อมูล การรายงาน มาตรการชั่วคราว และการดำเนินการแก้ไขในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตาม) มาตรา 26 (ว่าด้วย การควบคุม) มาตรา 31 (ว่าด้วย ข้อกังวลที่พิสูจน์ได้ของบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล) และมาตรา 32 (ว่าด้วย การเข้าถึงความยุติธรรม)

2) กฎหมายมีผลบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2568 เป็นต้นไป รวมถึงอนุโลมให้ในส่วน  ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในภาคผนวกของ Regulation (EU) No 995/2010 ซึ่งได้แก่ ไม้และผลิตภัณฑ์ (timber and timber products) สำหรับผู้ประกอบการที่ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ตั้งขึ้นเป็นกิจการขนาดเล็กมาก (micro-undertakings) หรือกิจการขนาดเล็ก (small-undertakings)

ข้อกังวลที่เกิดขึ้นจากกฎหมาย

การออกกฎหมายดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ LMCs ที่ผ่านมา กลุ่มประเทศ LMCs นำโดยประเทศบราซิลและอินโดนีเซีย ได้แสดงท่าทีไปยังสหภาพยุโรปต่อการออกกฎหมายดังกล่าว โดยกลุ่ม LMCs 14 ประเทศ ได้ร่วมลงนาม Joint Letter จำนวน 2 ฉบับ ฉบับแรกแสดงการคัดค้านต่อการออกกฎหมาย EUDR ของสหภาพยุโรป และแสดงความกังวลถึงผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อยในประเทศกำลังพัฒนา และการจัดระดับความเสี่ยงของประเทศผู้ผลิตว่าอาจเป็นการเลือกปฏิบัติทางการค้า สร้างภาระต้นทุนในห่วงโซ่อุปทาน และฉบับที่ 2 (รวมประเทศไทย) เมื่อเดือนกันยายน 2566 มีสาระสำคัญสอดคล้องกับร่างฉบับแรกและเพิ่มการขยายความและการระบุข้อห่วงกังวลให้ชัดเจนยิ่งขึ้น อาทิ การระบุข้อความเรื่อง geolocation การเรียกร้องให้สหภาพยุโรปให้การสนับสนุนและส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ

1) มาตรการ Due Diligence และ Traceability ที่สหภาพยุโรปกำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติในลักษณะ “One size fit all” จะสร้างภาระต้นทุนให้แก่ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า ผู้ผลิตและผู้บริโภค และอาจไม่มีผลบวกต่ออัตราการตัดทำลายป่าตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

2) EUDR ยังส่งผลกระทบอย่างมากต่อเกษตรกรรายย่อยในประเทศกำลังพัฒนาที่มีข้อจำกัดด้านเงินทุนและเทคโนโลยีและจะถูกกีดกันออกจากห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งจะกระทบต่อรายได้และการส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน

3) ขอให้สหภาพยุโรปกำหนดแนวทางการดำเนินการและวิธีปฏิบัติที่เหมาะสม รวมทั้งระบบการตรวจสอบสินค้าที่มาจากเกษตรกรรายย่อยจากประเทศกำลังพัฒนา และแนวทางปฏิบัติที่ยืดหยุ่นมากขึ้นต่อผู้ประกอบการรายย่อยของสหภาพยุโรป

ในส่วนของประเทศไทย ได้มีการดำเนินการต่าง ๆ อาทิ สปษ. สหภาพยุโรป ได้ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ เข้าหารือกับหน่วยงานต่าง ๆ ของสหภาพยุโรป และหารือร่วมกับกลุ่มประเทศ LMCs เพื่อหาแนวทางต่าง ๆ ร่วมกัน และเมื่อเดือนกันยายน 2566 การยางแห่งประเทศไทย ได้เดินทางเข้าพบหารือกับผู้แทนคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการบริหารของสมาคมผู้ผลิตยางล้อและยางพาราแห่งยุโรป เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าและแนวทางในการดำเนินงานด้านสินค้ายางพาราภายใต้มาตรการ EUDR ของไทย ซึ่งฝ่ายสหภาพยุโรปยอมรับว่าประเทศไทยมีการเตรียมการที่ดีทั้งในรายละเอียดและความก้าวหน้าในการดำเนินการที่สามารถสนับสนุนการดำเนินการตามกฎหมาย EUDR ได้

สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป