กยท. ร่วมทัพ ติดตาม รมว. เกษตรฯ

98

กยท. ร่วมทัพ ติดตาม รมว. เกษตรฯ ลงพื้นที่เปิดจุดรับซื้อปลาหมอคางดำ เตรียมส่งผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพเพื่อการเกษตร

วันนี้ (22 ก.ค. 67) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำโดย ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร พร้อมคณะผู้บริหารในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ที่บูรณาการความร่วมมือเพื่อเร่งขับเคลื่อนแก้ปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำที่ส่งผลต่อระบบนิเวศในแหล่งน้ำ ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ สำหรับผู้บริหารของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) นำโดยนายเพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยผู้บริหาร และพนักงาน กยท. ได้เข้าร่วมลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานแก้ไขปัญหาดังกล่าว พร้อมประชุมหารือร่วมกับผู้แทนสมาคมการประมง 16 จังหวัด ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของปลาหมอคางดำ เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด พร้อมร่วมสังเกตการณ์ขั้นตอนการรับซื้อปลาหมอคางดำ ณ จุดรับซื้อ และชมการสาธิตการทำน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำ โดยกรมพัฒนาที่ดิน

ทั้งนี้ เบื้องต้น กยท. จะดำเนินการสนับสนุนงบประมาณเพื่อรับซื้อปลาหมอคางดำในพื้นที่ระบาดทุกแห่ง ซึ่งขณะนี้กรมประมงได้มีการรวบรวมแพปลาที่ขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการด้านการประมง (ทบ.2) กับกรมประมง ในพื้นที่ที่มีการระบาด 14 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา รวมทั้งสิ้น 49 จุด สำหรับพิจารณาจัดตั้งเป็นจุดรับซื้อปลาหมอคางดำโดยการันตีราคารับซื้อที่กิโลกรัมละ 15 บาท ก่อนนำปลาหมอคางดำที่รับซื้อไว้มอบสถานีพัฒนาที่ดินแต่ละพื้นที่ผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพ เพื่อส่งมอบมาการยางแห่งประเทศไทยนำไปแจกจ่ายแก่เกษตรกรเพื่อนำไปใช้ในพื้นที่สวนยางในโครงการแปลงใหญ่ กว่า 200,000 ไร่ เป็นการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตในสวนยางของโครงการ โดยจะเริ่มเปิดจุดรับซื้อปลาหมอคางดำทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 นี้ เป็นต้นไป

“น้ำหมักชีวภาพจากปลามีธาตุอาหารสูง เหมาะกับการนำไปใช้ในการเกษตรเป็นอย่างมาก แต่ที่ผ่านมาไม่ได้มีปลาในจำนวนที่มากพอจะนำมาผลิต ดังนั้น การที่ กยท. รับซื้อปลาหมอคางดำมาทำเป็นน้ำหมักชีวภาพทดแทนปุ๋ยอินทรีย์บางส่วนที่ กยท. ต้องจัดหาปีละประมาณ 60,000 ตัน อยู่แล้ว อันเป็นประโยชน์กับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางที่ได้ใช้ปุ๋ยที่ดี มีคุณภาพ ราคาถูก และยังเป็นการเข้าไปช่วยแก้ปัญหาซึ่งเป็นวาระเร่งด่วนของชาติอีกทางหนึ่งด้วย ในอนาคต กยท. จะผลักดันให้น้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำ ผ่านมาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์ของกรมวิชาการต่อไป” ดร.เพิก กล่าวทิ้งท้าย

การยางแห่งประเทศไทย