47
กรมส่งเสริมการเกษตร แนะวิธีฟื้นฟูและดูแลสวนไม้ผลหลังน้ำลด
กรมส่งเสริมการเกษตรมีความห่วงใยเกษตรกรชาวสวนไม้ผล ที่สวนไม้ผลและผลผลิตอาจเสียหายจากอุทกภัย จึงขอแนะนำวิธีฟื้นฟูและดูแลสวนไม้ผลหลังน้ำลดและขอให้เกษตรกรดำเนินการ ดังนี้
- เร่งระบายน้ำออกจากโคนต้นไม้ สวนไม้ผล หรือบริเวณที่มีน้ำขังโดยเร็ว ด้วยการขุดร่องระบายน้ำและใช้เครื่องสูบน้ำระบายน้ำออกจากสวนโดยเร็ว หากพื้นที่รอบสวนยังมีน้ำท่วมอยู่ จำเป็นต้องยกขอบแปลงเป็นคันดินเพื่อกันน้ำจากภายนอกทะลักเข้ามาในสวนด้วย
- อย่านำเครื่องจักรกลเข้าสวนขณะที่ดินยังเปียกอยู่ และไม่ควรเข้าไปเหยียบย่ำบริเวณโคนต้นพืช เพราะดินที่ถูกน้ำท่วมขังโครงสร้างของดินจะง่ายต่อการถูกทำลายและเกิดการอัดแน่นได้ง่าย ซึ่งเป็นผลเสียต่อการไหลซึมของน้ำและกระทบกระเทือนต่อระบบรากของไม้ผล
- เมื่อดินแห้ง ควรขุดเอาดิน ทราย หรือตะกอนต่าง ๆ ที่มากับน้ำและทับถมอยู่ในแปลงไม้ผลออก รวมทั้งเศษวัสดุต่าง ๆ ด้วย เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงานในแปลงไม้ผล
- ตัดแต่งกิ่งไม้ผลที่ฉีก หัก และแน่นทึบออก เพื่อให้ทรงพุ่มโปร่ง ช่วยลดการคายน้ำของพืช และเร่งให้พืชแตกใบใหม่เร็วขึ้น หากมีไม้ผลโค่นล้ม ควรทำการตัดแต่งกิ่งและพยุงต้นไม้ผลที่โค่นล้ม ควรทำการตัดแต่งกิ่งและพยุงต้นไม้ผลที่โค่นล้มให้ตั้งตรง และทำไม้ค้ำยันไว้รอบด้าน หากมีผลติดอยู่ให้ตัดแต่งออกเพื่อไม่ให้ต้นโทรม
- ฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ ช่วยให้ไม้ผลฟื้นตัวเร็วขึ้น เพราะระบบรากยังไม่สามารถดูดน้ำและธาตุอาหารจากดินได้ตามปกติ โดยฉีดพ่นปุ๋ยทางใบน้ำสูตร 12-12-12 หรือ 12-9-6 หรือใช้ปุ๋ยเกล็ดสูตร 21-21-21 หรือ 16-21-27 ละลายน้ำแล้วฉีดพ่นก็ได้
- เมื่อดินแห้งเป็นปกติ ควรพรวนดินให้แก่ไม้ผล เพื่อเพิ่มออกซิเจนให้แก่รากพืช จะช่วยให้รากพืชแตกใหม่ได้ดีขึ้น และใส่ปุ๋ยบำรุงไม้ผลด้วย
- ในสวนไม้ผลเมื่อถูกน้ำท่วมขังนานๆ หลังน้ำลดมันเกิดปัญหาโรครากเน่า โคนเน่า ควรป้องกันรักษาด้วยการ ใช้สารเคมีกันรา ราดหรือทาโคนต้น เช่น เมตตาแลดซิล (ริโดมิล) อีโฟไซท์-อลูมินั่ม (อาลิเอท) หรือ พีซีเอ็นบี (เทอราดลอร์, บลาสลิโคล) หรืออาจใช้สารชีวภัณฑ์ เช่น โตรโคเดอร์มา หรือปรับสภาพดินด้วยปูนขาว หรือโดโลไมท์ เพื่อให้ดินมีสภาพเป็นกลางหรือด่างเล็กน้อย ไม่เหมาะต่อการเกิดโรค
- การปลูกซ่อมแซมในสวนไม้ผลหลังถูกน้ำท่วม ควรปรับสภาพดินเมื่อเริ่มแห้งโดยการโรยปูนขาว หรือโดโลไมท์ ป้องกันการเกิดโรครากเน่าและโคนเน่า โรยปุ๋ยคอก และตากดินทิ้งไว้อย่างน้อย 1 เดือนก่อนขุดหลุมปลูก ห้ามดำเนินการในขณะที่ดินยังเปียกชุ่มหรือมีน้ำขังอยู่โดยเด็ดขาด
ทั้งนี้ เกษตรกรชาวสวนไม้ผลควรติดตามสถานการณ์สภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง แจ้งความเสียหายและขอรับการสนับสนุนเชื้อราไตรโคเดอร์มาฟื้นฟูไม้ผล ไม้ยืนต้นหลังน้ำลดได้ที่ศูนย์บริการเกษตรพิรุณราช ณ สำนักงานเกษตรอำเภอ และเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตรใกล้บ้านท่านทุกอำเภอ
กรมส่งเสริมการเกษตร