อ.ส.ค. จับมือภาคีเครือข่าย

60

องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) จับมือภาคีเครือข่าย บูรณาการร่วมกันหาแนวทางเพิ่มปริมาณน้ำนม และลดค่าใช้จ่ายให้พี่น้องเกษตรกรโคนม

องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กรมปศุสัตว์ (ปศ.) และกรมส่งเสริมสหกรณ์ (กสส.) ร่วมจัดเสวนา “An Era of Change” เดินหน้าสู่โคนมยั่งยืนด้วยห่วงโซ่อุปทานข้าวโพดหมัก ในหัวข้อ “การเชื่อมโยงธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทานข้าวโพดหมักเพื่อพัฒนาการเลี้ยงโคนมแบบยั่งยืน” เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 ณ ศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงโคนมไทย-เดนมาร์ค อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี

นายสมพร ศรีเมือง
ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)

นายสมพร ศรีเมือง ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) กล่าวว่า “นับเป็นโอกาสดียิ่งที่ มีการจัดเสวนาขึ้น เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ในการบริหารห่วงโซ่อุปทานข้าวโพดหมัก รวมทั้งการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานให้เป็นรูปธรรม เพื่อการพัฒนาการเลี้ยงโคนมแบบยั่งยืนของประเทศไทยการเลี้ยงโคนมเป็นอาชีพที่เกิดขึ้นได้ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) พระองค์ทรงวางรากฐานอย่างเป็นระบบ โครงสร้างอาชีพการเลี้ยงโคนมให้กับเกษตรกรรายย่อยรวมตัวเป็นสหกรณ์ เพื่อให้สามารถดำเนินกิจกรรมตั้งแต่การส่งเสริมการเลี้ยงโคนม การจำหน่ายผลผลิต การเลี้ยงโคนมของเกษตรกรไทยเป็นอาชีพที่มั่นคงได้จนถึงปัจจุบันด้วยพระอัจฉริยะภาพที่ได้พระราชทานเป็นแนวทางไว้”
​โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจาก ผู้ผลิตข้าวโพดหมักจากจังหวัดนครราชสีมา สระบุรี และลพบุรี เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมตัวแทนจากจังหวัดสระบุรี เจ้าหน้าที่จากองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) และผู้เชี่ยวชาญด้านสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. โดยมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้เข้าร่วมงานทั้งที่เข้าร่วม onsite และผ่านช่องทาง online รวมถึงการอภิปรายถึงปัญหา อุปสรรค และโอกาสในการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของข้าวโพดหมักให้มีความยั่งยืน อีกทั้งยังมีการจัดกิจกรรมเชื่อมโยงธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ผู้ผลิตข้าวโพดหมัก และตลาดรับซื้อน้ำนม เพื่อต่อยอดความร่วมมือทางธุรกิจในอนาคต ซึ่งข้าวโพดหมักเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ที่ผ่านกระบวนการหมักที่เหมาะสม สามารถเก็บไว้ได้นานโดยที่คุณค่าทางอาหารไม่เปลี่ยนแปลง ทำให้เกษตรกรมีอาหารที่มีคุณภาพและมีปริมาณเพียงพอตลอดทั้งปี ส่งผลให้โคได้รับอาหารที่มีคุณภาพ สามารถลดต้นทุนในการเลี้ยงโคและเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำนมที่มีคุณภาพสูง โดยคาดหวังสัดส่วนโครีดให้มากถึง 60-70% ให้มีน้ำนมเฉลี่ย 15 ลิตร/ตัว/วัน และถ้าเกษตรกรสามารถปลูกสร้างแปลงหญ้าได้จะช่วยลดต้นทุนค่าอาหาร 40-50% ของต้นทุนค่าอาหาร เพื่อรักษาต้นทุนการผลิตน้ำนม 1 ลิตร ต่อ 15 บาท ทั้งนี้การพัฒนาและเชื่อมโยงธุรกิจข้าวโพดหมักยังช่วยสร้างงานในชุมชน เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการในพื้นที่ และสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืนให้แก่ชุมชนในเขตพื้นที่การเลี้ยงโคนม

นายสมพร กล่าวต่อว่า “โครงการนี้นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่ อ.ส.ค. มุ่งหวังที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในประเทศไทย โดยการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ข้าวโพดหมักในระบบห่วงโซ่อุปทาน จะช่วยลดปริมาณการพึ่งพาอาหารข้นที่มีราคาสูง ช่วยเพิ่มคุณภาพน้ำนมดิบ และเพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกรไทยในการแข่งขันในตลาดน้ำนมทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นการส่งเสริมและสืบสานอาชีพพระราชทาน ให้มีความยั่งยืน สืบไป”

องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย