‘หม่อนไหม’ สินค้าเกษตรที่มีศักยภาพ

20

‘หม่อนไหม’ สินค้าเกษตรที่มีศักยภาพ ทดแทนการผลิตข้าวนาปีในพื้นที่ S3,N สร้างรายได้รายเดือนให้เกษตรกรจังหวัดชัยภูมิ

นางสุจารีย์ พิชา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 นครราชสีมา (สศท.5) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการศึกษาแนวทางการพัฒนาสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพ สินค้าหม่อนไหม เพื่อทดแทนการผลิตข้าวนาปีในพื้นที่เหมาะสมน้อย (S3) และพื้นที่ไม่เหมาะสม (N) ในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ ภายใต้โครงการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map)  เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้เป็นแนวทาง ปรับเปลี่ยนไปผลิตสินค้าอื่นที่มีศักยภาพ เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ บริหารจัดการสินค้าสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ได้รับผลตอบแทนคุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจ

นางสุจารีย์ พิชา
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 นครราชสีมา
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

จังหวัดชัยภูมิ มีเนื้อที่เพาะปลูกข้าว รวม 1,745,389 ไร่ ปลูกในพื้นที่ระดับความเหมาะสมน้อย (S3) และพื้นที่ไม่เหมาะสม (N) ร้อยละ 57 ของพื้นที่ปลูกทั้งจังหวัด จากการศึกษาของ สศท.5 พบว่า หม่อนไหมเป็นสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพ มีโอกาสทางตลาดสามารถปลูกทดแทนข้าวนาปีในพื้นที่เหมาะสมน้อย (S3) และพื้นที่ไม่เหมาะสม (N) เนื่องจากมีราคาดี เป็นที่ต้องการของตลาด สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรทุกเดือน เพราะมีระยะเวลาการเลี้ยงต่อรุ่นสั้นเพียงแค่ 25 – 30 วัน รวมถึงได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้ และปัจจัยการผลิตจากหน่วยงานในพื้นที่ จึงเป็นสิ่งจูงใจให้เกษตรกรมีการปรับเปลี่ยน โดยในปี 2566 มีพื้นที่ปลูกหม่อนรวม 12,111 ไร่ เกษตรกรผู้ปลูกรวม 6,194 ราย การเลี้ยงไหมของเกษตรกร แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ไหมหัตถกรรม เกษตรกรร้อยละ 86 เลี้ยงเป็นอาชีพเสริมรายได้ พื้นที่ปลูกหม่อน ประมาณ 1 – 2   ไร่/ครัวเรือน สามารถเลี้ยงไหมเฉลี่ย 7 รุ่น/ปี ซึ่งไหมส่วนใหญ่เป็นพันธุ์เหลืองสระบุรี โดยปี 2566/67 มีต้นทุนการผลิตต่อ 1 รุ่น เฉลี่ย 5,565.63 บาท/แผ่น ผลตอบแทนเฉลี่ย 6,058.10 บาท/แผ่น ผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 492.47 บาท/แผ่น หรือ 3,609.80 บาท/ปี/หม่อน 1 ไร่ คิดเป็นผลตอบแทนทั้งปีจะมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 44,405.87 บาท/ปี และไหมอุตสาหกรรม เกษตรกรร้อยละ 14 เลี้ยงไหมเชิงพาณิชย์ โดยเกษตรกรจะทำ Contract Farming กับบริษัทจุลไหมไทย จังหวัดเพชรบูรณ์ พันธุ์ที่ใช้เป็นพันธุ์ผสมต่างประเทศ ผลผลิตส่วนมากเป็นรังไหมสีขาว สำหรับการผลิตรังไหมอุตสาหกรรม โดยปี 2566/67 มีต้นทุนการผลิต 1 รุ่น เฉลี่ย 10,820.13 บาท/กล่อง ผลตอบแทนเฉลี่ย 14,703.26 บาท/กล่อง ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) 3,883.13 บาท/กล่อง หรือ 9,707.83 บาท/ปี/หม่อน 1 ไร่ คิดเป็นผลตอบแทนทั้งปีจะมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 36,758.15 บาท/ปี ซึ่งหากเทียบกับเกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปีในพื้นที่เหมาะสมน้อย (S3) และไม่เหมาะสม (N) ตามแผนที่ Agri-Map เกษตรกรได้ผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 373.07 บาท/ไร่/ปี

ราคาไหมที่เกษตรขายได้ ปี 2567 แบ่งเป็น เส้นไหมน้อยเกรด 1 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 2,000 บาท/กิโลกรัม และราคารังไหมอุตสาหกรรม ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 250 บาท/กิโลกรัม ด้านสถานการณ์ตลาด ผลผลิต  เส้นไหมหัตถกรรม ส่วนใหญ่ ร้อยละ 90 จำหน่ายให้แก่ผู้รวบรวมในพื้นที่ ซึ่งจำหน่ายต่อให้พ่อค้าคนกลางทั้งในและต่างจังหวัด ที่เหลือร้อยละ 10 เกษตรกรจำหน่ายเอง เช่น การออกบูธแสดงสินค้า การจำหน่ายออนไลน์ เป็นต้น ส่วนผลผลิตรังไหมอุตสาหกรรมทั้งหมด เกษตรกรจำหน่าย ให้แก่ โรงงานสาวไหม บริษัทจุลไหมไทย จังหวัดเพชรบูรณ์

ทั้งนี้ หม่อนไหมถือว่าเป็นสินค้าที่มีศักยภาพของจังหวัดชัยภูมิ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ให้การสนับสนุนองค์ความรู้ และปัจจัยการผลิต อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ยังพบปัญหา อาทิปริมาณผลผลิตรังไหมและเส้นไหมไม่เพียงต่อความต้องการของตลาด การผลิตยังไม่เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากขาดแคลนใบหม่อนในการเลี้ยงไหมในช่วงฤดูแล้ง หนอนไหมเป็นโรคตายก่อนทำรัง โดยเฉพาะช่วงฤดูฝน เป็นต้น สำหรับแนวทางการพัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้าหม่อนไหม ได้แก่ 1) สนับสนุนแหล่งน้ำที่เหมาะสมกับพื้นที่การผลิตหม่อน เช่น บ่อบาดาล ระบบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอในการดูแลรักษาผลผลิตได้ตลอดทั้งปี 2) ส่งเสริมการขอใช้ประโยชน์จากที่สาธารณะประโยชน์เพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูกต้นหม่อน  3) ส่งเสริมการผลิตและรับรองมาตรฐานใบหม่อนเลี้ยงไหมของกลุ่มเครือข่ายผู้ผลิตหม่อนใบ เพื่อจำหน่ายให้กลุ่มผู้เลี้ยงไหม 4) พัฒนาสายพันธุ์ไหม ให้ทนต่อโรคและสภาพอากาศ 5) พัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีเครื่องสาวไหม นำไปสู่การผลิตให้ได้มาตรฐาน ทั้งนี้ หากเกษตรกรหรือท่านใดที่สนใจข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพ สินค้าหม่อนไหม เพื่อทดแทนการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสม จังหวัดชัยภูมิ สามารถสอบถามได้ที่ สศท.5 นครราชสีมา โทร. 0-4446-5120 หรืออีเมล์ [email protected]

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร