ลุยช่วยน้ำท่วมสุโขทัย

598

เกษตรฯ ติดตามนายกลงพื้นที่ให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพให้แก่ผู้ประสบอุทกภัย อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย

วันที่ 26 กันยายน 2564​ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายณัฎฐกิตติ์ ของทิพย์ รองอธิบดีกรมการข้าว และผู้บริหารหน่วยงานในสังกัด ลงพื้นที่ติดตามพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพให้แก่ประชาชนผู้ประสบอุทกภัย อำเภอศรีสำโรง จำนวน 2 จุด ได้แก่ บ้านคลองชัด หมู่ที่ 8 ต.วังใหญ่ และวัดดอนจันทร์ หมู่ที่ 4 ต.บ้านไร่ จากนั้นได้เดินทางไปติดตามสถานการณ์อุทกภัยและการดูแลประชาชน ณ วัดบ้านซ่าน ต.บ้านซ่าน อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย 

กระทรวงเกษตรฯ ได้มีการสำรวจความเสียหายเบื้องต้นในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย (ข้อมูล ณ วันที่ 24 ก.ย. 64) แบ่งเป็น ด้านพืช เกษตรกร 14,464 ราย พื้นที่คาดว่าจะเสียหาย 169,297 ไร่ ข้าว 150,774 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 16,761 ไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้น 1,762 ไร่ โดยในพื้นที่ อ.ศรีสำโรง เกษตรกร 4,593 ราย พื้นที่คาดว่าจะเสียหาย 69,703 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 67,082 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 2,224 ไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่น ๆ 397 ไร่ ด้านประมง เกษตรกร 2,504 ราย พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับผลกระทบ (บ่อปลา) 3,087 ไร่ ในพื้นที่ อ.ศรีสำโรง เกษตรกร 300 ราย พื้นที่เพาะเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับผลกระทบ (บ่อปลา) 350 ไร่ ด้านปศุสัตว์ เกษตรกร 6,336 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 233,325 ตัว โค-กระบือ 26,036 ตัว สุกร 6,479 ตัว แพะ-แกะ 1,040 ตัว สัตว์ปีก 199,770 ตัว แปลงหญ้า 431 ไร่ ในพื้นที่ อ.ศรีสำโรง เกษตรกร 2,412 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 101,052 ตัว 

นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงหลักเกณฑ์การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ปี 62 โดยมีการปรับอัตราการให้ความช่วยเหลือให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น ตามหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตร ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่เกิดภัย 1 ก.ย. 64 โดยช่วยเหลือกรณีเสียหายสิ้นเชิง (ตาย/สูญหาย) แบ่งเป็น

  • ด้านพืช ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ ได้แก่ ข้าว ไร่ละ 1,340 บาท พืชไร่และพืชผัก ไร่ละ 1,980 บาท ไม้ผล ไม้ยืนต้น และอื่น ๆ ไร่ละ 4,048 บาท 
  • ด้านประมง (สัตว์น้ำ) ได้แก่ ปลาทุกชนิด/สัตว์น้ำอื่น ไร่ละ 4,682 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่ กุ้ง/หอยทะเล ไร่ละ 11,780 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่ และกระชัง/บ่อซีเมนต์ตรม. ละ 368 บาท ไม่เกินรายละ 80 ตรม. 
  • ด้านปศุสัตว์ ได้แก่ โค ตัวละ 13,000 – 35,000 บาท (ไม่เกินรายละ 5 ตัว) กระบือ ตัวละ 15,000 – 39,000 บาท (ไม่เกินรายละ 5 ตัว) สุกร ตัวละ 1,500 – 3,000 บาท (ไม่เกินรายละ 10 ตัว) แพะ/แกะ ตัวละ 1,500 – 3,000 บาท (ไม่เกินรายละ 10 ตัว) ไก่พื้นเมือง/ไก่งวง ตัวละ 30–80 บาท (ไม่เกินรายละ 300 ตัว) ไก่ไข่/เป็ดไข่ ตัวละ 30 – 100 บาท รายละไม่เกิน 1,000 ตัว) ไก่เนื้อ ตัวละ 20 – 50 บาท (ไม่เกินรายละ 1,000 ตัว) เป็ดเนื้อ/เป็นเทศ ตัวละ 30 – 80 บาท (ไม่เกินรายละ 1,000 ตัว) นกกระทา ตัวละ 10 – 30 บาท (ไม่เกินรายละ 1,000 ตัว) นกกระจอกเทศ ตัวละ 2,000 บาท (ไม่เกินรายละ 10 ตัว) และห่าน ตัวละ 100 บาท (ไม่เกินรายละ 300 ตัว) 
  • ด้านอื่น ๆ ได้แก่ การช่วยเหลือค่าขนย้ายดินโคลนไม่เกิน 35,000 บาท/ราย การช่วยเหลือค่าปรับเกลี่ยพื้นที่ เหมาจ่าย 800 บาท/ไร่ การช่วยเหลือค่าปรับพื้นที่ทำนาเกลือ ไร่ละ 1.220 บาท ไม่เกิน 30 ไร่ การช่วยเหลือค่าเครื่องมือประกอบอาชีพไม่เกิน 11,400 บาท/ครัวเรือน และการช่วยเหลือค่าซ่อมแซมคอกสัตว์/โรงเรือน/ยุ้งข้าว ครัวเรือนละไม่เกิน 5,700 บาท 

สำหรับกรณีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการประกันภัยกับ ธ.ก.ส. แบ่งเป็น ข้าวนาปี ปีการผลิต 2564 (Tier1+2) ได้รับความคุ้มครอง 1,500 บาท/ไร่ และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2564 (Tier1+2) ได้รับความคุ้มครอง 1,740 บาท/ไร่ 

ด้านนายณัฎฐกิตติ์ ของทิพย์ รองอธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า ในส่วนของกรมการข้าวจะให้การสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ประสบภัยพิบัติจนทำให้ต้นข้าวที่ปลูกไว้เสียหายสิ้นเชิง หรือเสียหายมากกว่าร้อยละ 80 และจังหวัดประกาศเป็นเขตประสบภัยพิบัติในกรณีฉุกเฉินแล้ว และให้การสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่ห่างไกลความเจริญและขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อการเพาะปลูก เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีการจัดทำแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ใช้ปลูกในฤดูต่อไป หรือกระจายให้เกษตรกรอื่นในชุมชนใช้เพาะปลูก โดยคุณสมบัติของเกษตรกรผู้จะได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าว ต้องเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติจนขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ใช้ปลูกในฤดูเดียวกัน และมีความประสงค์จะขอรับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวที่จะเพาะปลูกในฤดูเดียวกัน หรือเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่ห่างไกลความเจริญและขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อการเพาะปลูก เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีการจัดทำแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ใช้ปลูกในฤดูต่อไป หรือกระจายให้เกษตรกรอื่นในชุมชนใช้เพาะปลูก

รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวต่อไปว่า สำหรับปริมาณเมล็ดพันธุ์ที่กรมการข้าวให้ความช่วยเหลือนั้น จะสนับสนุนให้เกษตรกรรายละไม่เกิน 10ไร่ ๆ ละ 7 กิโลกรัม (นาดำ) และไร่ละ 15 กิโลกรัม (นาหว่าน) ซึ่งปริมาณการสนับสนุนบรรเทาฟื้นฟูขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการเกิดภัยพิบัติร้ายแรงในแต่ละครั้ง หรือสภาพการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าวในพื้นที่ โดยให้เป็นดุลพินิจของคณะกรรมการสำรองเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อความมั่นคงแห่งชาติ และกรมการข้าวขอสงวนสิทธิ์ในการจัดสรรการช่วยเหลือตามปริมาณ/ชนิดเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณตามกิจกรรม

โอกาสเดียวกันนี้ พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบเมล็ดพันธุ์ข้าวให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย จำนวน 5 ราย ได้แก่ 1. นางลำยอง นิลนน 2.นางเซน คนเกวียน 3.นายสุชาติ หลักไหล 4.นายศรัญยู ชูโฉม และ 5.นายสมร มากมี ​

อย่างไรก็ตามกระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมมาตราการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ และมาตรการอื่น ๆ กรณีเสียหายสิ้นเชิง โดยสามารถติดต่อขอรับสิทธิ์การช่วยเหลือได้ที่สำนักงานเกษตร/ประมง/ปศุสัตว์อำเภอ หรือเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรฯ ใกล้บ้านท่าน ทั้งนี้ หลักเกณฑ์/คุณสมบัติเกษตรกรที่ได้รับการช่วยเหลือ จะต้องเป็นเกษตรกรที่มีพื้นที่การผลิตเสียหายสิ้นเชิงอยู่ในพื้นที่ประกาศเขตฯ และขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก่อนเกิดภัย​

กรมการข้าว ข่าว