เปลี่ยนวิธีทำประมง

796

ชาวประมงพื้นบ้านชลบุรี เปลี่ยนวิธีทำประมงลูกหอยแครงเพื่อทรัพยากรอย่างยั่งยืน

วันที่ 29 มกราคม 2564 นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง และคณะฯ ลงพื้นที่คลองตำหรุ่ อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี เพื่อตรวจพื้นที่การทำประมงลูกหอยแครง และเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ เข้าตรวจสอบเหตุลักลอบทำการประมงหอยแครง บริเวณกลางอ่าวบางปะกง จังหวัดชลบุรี

นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า พื้นที่บริเวณกลางอ่าวบางปะกง จังหวัดชลบุรีนั้น เป็นพื้นที่ปากแม่น้ำ
ที่มีสภาพเป็นหาดโคลน หรือพื้นดินเลนละเอียด มีความลึกของน้ำไม่เกินสองเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่หอยแครงชอบฝังตัว จึงพบว่ามีความชุกชุมของลูกหอยแครงเป็นจำนวนมาก ชาวประมงพื้นบ้านจึงนิยมทำประมงลูกหอยแครงกัน โดยวิธีช้อนหอยลูกหอยแครงด้วยเครื่องมือสวิง มีลักษณะเป็นถุง ลากด้วยมือ โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือคราดประกอบเรือยนต์ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่อนุญาตให้ใช้ได้ตามกฎหมาย ตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ที่มีการกำหนดให้สามารถทำการประมงหอยแครงในเขตทะเลชายฝั่งได้โดยการจับด้วยมือหรือเครื่องมือที่ไม่ใช้ประกอบเรือกล แต่ ยังคงห้ามเครื่องมืออวนลากหรือคราดหอยในเขตทะเลชายฝั่ง ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการทำลายล้างสูงเช่นเดิม ส่วนในเขตทะเลนอกชายฝั่งให้ใช้คราดหอยประกอบเรือกลได้ แต่ต้องได้รับใบอนุญาตทำการประมงประมงพาณิชย์เท่านั้น ส่งผลให้พี่น้องชาวประมงที่ทำการประมงลูกหอยแครง มีรายได้ โดยเฉลี่ย 1,000-2,000 บาทต่อคนต่อวัน จากการออกสำรวจพบว่าในระหว่างวันที่ 26 – 29 มกราคม 2564 มีชาวประมงอย่างน้อย 100-200 ราย/วัน ใช้วิธีการทำการประมงโดยไม่ใช้เรือยนต์ประกอบเครื่องมือคราด สามารถใช้ประโยชน์ลูกหอยแครงได้อย่างคุ้มค่า และให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องชาวประมงในการเข้าถึงทรัพยากรอย่างเสมอภาค อีกทั้ง ยังช่วยลดการสูญเสียของทรัพยากร ลดผลกระทบต่อระบบนิเวศ และสร้างห่วงโซ่การผลิตทรัพยากรในธรรมชาติ ทำให้ลูกหอยมีอัตราการรอดสูงขึ้นได้ ซึ่งน่าชื่นชมและสนับสนุนให้เป็นตัวอย่างของการทำการประมงลูกหอยแครง ในลักษณะเช่นนี้ทั่วประเทศ เพื่อนำลูกหอยไปเลี้ยงในที่ที่มีอัตรารอดสูง สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่สำคัญอีกทางหนึ่งด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มชาวประมงที่ยังคงทำผิดกฎหมาย อยู่ประมาณ 50 ลำ ซึ่งไม่ถึง 1 % ของจำนวนเรือประมงพื้นบ้านทั้งหมด ประมาณ 6,200 ลำ ที่ทำประมงอย่างถูกกฎหมายในเขตพื้นที่อ่าวไทยตอนบน (จังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี) ซึ่งนายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง ได้มีนโยบายและข้อสั่งการ
ไปยังสำนักงานประมงจังหวัดพื้นที่อ่าวไทยรูปตัว ก  และหน่วยตรวจการประมงที่รับผิดชอบควบคุมพื้นที่ ดำเนินการประชุมกลุ่มชาวประมง และเร่งประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ ให้พี่น้องชาวประมงได้ปรับเปลี่ยนวิธีการทำการประมงลูกหอยแครง โดยใช้วิธีการที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย ซึ่งกรมประมงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หากพี่น้องชาวประมงเข้ามามีส่วนร่วมและเป็นกำลังหลักในการวางแผนเพื่อการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรด้วยวิธีการที่เหมาะสมถูกต้อง ร่วมกันปรับเปลี่ยนวิธีการ งดเว้นการใช้เครื่องมือทำการประมงที่ผิดกฏหมาย ก็จะสามารถลดความสุญเสีย ลดความขัดแย้ง สามารถสร้างเศรษฐกิจฐานราก สร้างอาชีพ และก่อให้เกิดความยั่งยืนของทรัพยากรประมงได้ต่อไปรองอธิบดี กล่าว

กรมประมง ข่าว