“สาคู” พืชมหัศจรรย์ เกษตรฯ เร่งต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ชุมชน

389

“สาคู” พืชมหัศจรรย์ เกษตรฯ เร่งต่อยอดภูมิปัญญาแป้งสาคูบ้านไสขันผลักดันสู่ผลิตภัณฑ์ชุมชน

ภูมิปัญญาท้องถิ่นมีส่วนสำคัญในวิถีชีวิตของเกษตรกรและการประกอบอาชีพการเกษตรมาตั้งแต่อดีต และยังคงมีการใช้ประโยชน์จนถึงทุกวันนี้ ปัจจุบันเริ่มสูญหายตามกาลเวลา เนื่องจากขาดผู้สืบทอด ไม่มีผู้นำกลับมาใช้ประโยชน์ และมีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาทดแทน กรมส่งเสริมการเกษตรได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตร จึงได้กำหนดแนวทางการส่งเสริมการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและนวัตกรรมในการผลิตทางการเกษตร รวมทั้งอนุรักษ์พันธุ์พืชพื้นถิ่นและฟื้นฟูวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนเกษตร

นายอนุชา ยาอีด ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ให้ข้อมูลว่า กรมส่งเสริมการเกษตร โดยกองวิจัยและพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร ได้ให้ทุกจังหวัด ศึกษา รวบรวมข้อมูล และจัดเก็บองค์ความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่นและนวัตกรรมเกษตร ตลอดจนเผยแพร่ข้อมูลองค์ความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นและนวัตกรรมด้านการเกษตรทางสื่อต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2564 และให้สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา คัดเลือกภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตร เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอด โดยในปี 2565 ได้คัดเลือกภูมิปัญญาเรื่อง “แป้งสาคู” ของวิสาหกิจชุมชนต้นตำรับแป้งสาคูรวมใจบ้านใสขัน ตำบลโคกสะบ้า อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง เป็นจุดดำเนินการ โดยการจัดเวทีเพื่อค้นหาแนวทางการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วม ในปีแรกมีการจัดเวที จำนวน 4 ครั้ง และปีที่ 2 ปีที่ 3 จะดำเนินการจัดเวทีพัฒนาต่อยอดปีละ 1 ครั้ง ร่วมกับทุกภาคส่วน ซึ่งในปี 2566 ได้รับความร่วมมือจากสาธารณสุขจังหวัด/อำเภอ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด พาณิชย์จังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล เกษตรกรต้นแบบ YSF ในพื้นที่ ร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตรทั้งส่วนกลาง เขต จังหวัด และอำเภอ ดำเนินการทบทวนแนวการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นฯ จากเวทีปี 2565 ซึ่งทางชุมชน มีความต้องการพัฒนา 4 ด้าน คือ

  1. ด้านการผลิต (มาตรฐานโรงเรือนผลิต และมาตรฐาน อย. แต่ละชนิดผลิตภัณฑ์)
  2. การเพิ่มมูลค่าและการแปรรูป (คุณค่าโภชนาการจากแป้งสาคู/GI/การตลาด)
  3. การท่องเที่ยว (เชิงเกษตร/ท่องเที่ยวชุมชนครบวงจร)
  4. การอนุรักษ์ (แหล่งปลูกสาคู/ภูมิปัญญาการผลิตแป้ง)

โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ เป็นอย่างดีในการพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างคุณค่า รายได้จากสินค้าและบริการที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน ผลักดันให้เกิดแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตรในชุมชน และต่อยอดสู่การท่องเที่ยวชุมชนต่อไป

นายสุดสาคร  สังฆ์รักษ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต้นตำรับแป้งสาคูรวมใจบ้านใสขัน ตำบลโคกสะบ้า อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง กล่าวว่า สาคูเป็นพืชที่พบได้ทั่วไปในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยตั้งแต่จังหวัดชุมพรถึงนราธิวาส พบมากบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช สตูล กระบี่ ปัตตานี นราธิวาส พัทลุงและตรัง โดยพื้นที่ป่าสาคูส่วนใหญ่จะขึ้นบริเวณที่มีแม่น้ำหรือคลองไหลผ่าน โดยสาคูจะขึ้นตามสองข้างทางน้ำ ชาวบ้านในอดีตได้ใช้ประโยชน์จากป่าสาคูหลากหลายรูปแบบ ทั้งด้านเกษตรกรรม การจัดการน้ำ โดยมองว่าป่าสาคูมีความสำคัญในฐานะเป็นป่าริมน้ำที่ช่วยชะลอการไหลของน้ำและชาวบ้านได้นำน้ำจากคลองป่าสาคูมาใช้ในการทำนาและการใช้ประโยชน์อย่างอื่น เช่น เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำจำพวก ปลา กุ้ง หอย เต่า รวมทั้งเป็นแหล่งที่จะมีพืชชนิดอื่นขึ้นอยู่ด้วย ทำให้บริเวณที่มีสาคูขึ้นจึงเป็นแหล่งอาหารชั้นดีของชาวบ้าน นอกจากนี้ชาวบ้านยังนำส่วนต่าง ๆ ของสาคูทั้งลำต้น ใบ มาใช้ประโยชน์ทั้งในแง่ของการนำลำต้นมาทำแป้ง (สาคู) ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นแป้งชนิดแรกๆ ที่คนนำมาทำเป็นอาหาร การนำใบสาคูมาทำจากเพื่อมุงหลังคา การนำทางสาคูมาทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในครัวเรือน หรือการที่ชาวบ้านนำต้นสาคูมาเป็นอาหารของสัตว์เลี้ยงหรือนำมาเพื่อเลี้ยงด้วงสาคู ทำให้สาคูได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดีเพราะมีคุณค่าในด้านการใช้ประโยชน์มากมายตามที่กล่าวมาข้างต้น

นายสุดสาคร สังฆ์รักษ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “แป้งสาคู” หมายถึง แป้งที่ผลิตได้จากปาล์มสาคู มีลักษณะเป็นผงแป้งละเอียดหรือเป็นเม็ด เนื้อแป้งอาจมีสีน้ำตาลหรือสีชมพูอมขาว ขึ้นอยู่กับกระบวนการผลิต และสายพันธุ์ของต้นสาคู ซึ่งแป้งชนิดนี้ นิยมใช้ประโยชน์สำหรับประกอบอาหารเป็นหลัก โดยเฉพาะใช้ทำขนมหวาน อาทิ ขนมปากหม้อ และลอดช่อง เป็นต้น โดยเนื้อขนมจะมีความเหนียวนุ่ม และหวาน มีขั้นตอนและวิธีการผลิต 9 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้

  1. เลือกต้นสาคูที่แก่เต็มที่ หรือระยะออกดอกเขากวาง ซึ่งสังเกตุที่บริเวณดอกเป็นช่อปลายยอดเหนือลำต้น ซึ่งเป็นเครื่องหมายบ่งบอกว่าต้นสาคูมีความสมบูรณ์และอยู่ในระยะที่เหมาะสมในการผลิตแป้ง
  2. ตัดต้นสาคูให้เป็นท่อนสั้นๆ ประมาณ 0.5-1.0 เมตร ใช้มีดหรือขวานปอกเปลือกแข็งด้านนอกออก จะเห็นเนื้อในสาคูสีขาว ผ่าเป็นชิ้นๆ ไม่ต้องใหญ่มากให้ขนาดพอดีกับเครื่องขูด
  3. ใช้เครื่องมือที่เป็นไม้ตอกตาปู หรือที่เรียกว่าไม้ “ตรูน” นําไปขูดเนื้อสาคูให้ละเอียดเป็นผง ปัจจุบันทางกลุ่มจึงได้ผลิตชุดหัวขูดขึ้นมาเอง โดยใช้หลักการทำงานเดียวกันกับเครื่องขูดมะพร้าว ซึ่งการใช้เครื่องขูดนี้ทำให้ได้เนื้อสาคูที่ละเอียดเป็นผงกว่าวิธีดั้งเดิม สามารถผลิตแป้งที่มีประสิทธิภาพ สกัดแป้งออกจากเนื้อในให้ได้มากกว่าวิธีแบบดั้งเดิม ป้องกันการปนเปื้อนจากจุลินทรีย์และการย่อยตัวเองของแป้งด้วย
  4. นำส่วนที่เป็นเนื้อสาคูทำการขูดให้ได้ขุยเนื้อสาคู (ลักษณะคล้ายการขูดมะพร้าว) ไปขยํากับน้ำบนผ้ากรอง ทําเหมือนการคั้นกะทิเพื่อแยกแป้งออกมา กรองด้วยผ้าขาวบาง น้ำแป้งจะไหลลงในภาชนะที่รองรับ ในปัจจุบันทางกลุ่มนำขุยเนื้อสาคูใส่ถังหรือภาชนะ เติมน้ำให้ท่วมเนื้อแป้ง ปั่นประมาณ 20 นาที โดยใช้เครื่องมือปั่นที่ทางกลุ่มได้คิดค้นผลิตขึ้นมาเอง กรองเอาขุยเนื้อสาคูออกด้วยผ้าขาวดิบ ทิ้งน้ำไว้ 1 คืน (6 – 8 ชม.) เพื่อให้แป้งตกตะกอน
  5. เทน้ำออก เอาเนื้อแป้งห่อผ้าขาวเพื่อให้เนื้อแป้งสะเด็ดน้ำ ใช้เวลาประมาณ 3-5 วัน จะได้ปริมาณเนื้อแป้งสด มีความชื้นประมาณ 65-75 %
  6. นำแป้งสดที่ได้ไปตากแดดจนแห้ง จะได้แป้งสาคูผงพร้อมใช้
  7. หากต้องการทำแป้งสาคูเม็ดให้นำแป้งสาคูที่ตากหมาดๆมาร่อนด้วยถาดหรือกระด้ง จะได้เป็นสาคูเม็ดแล้วนำไปตากแดดต่อจนแห้งสนิท
  8. การคัดขนาดเม็ดแป้งสาคู โดยการร่อนกับตะกร้าเป็นขนาดต่าง ๆ จะได้แป้งสาคู 3 รูปแบบ คือ แป้งสาคูชนิดผง แป้งสาคูชนิดเม็ดเล็ก และแป้งสาคูชนิดเม็ดใหญ่
  9. บรรจุใส่ถุง เช่น ถุงละ 0.5 กิโลกรัม หรือ ถุงละ 1 กิโลกรัม

ปัจจุบันเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากราคายางพาราตกต่ำและสถานการณ์โควิด-19 รวมทั้งลูกหลานที่ปิดภาคเรียน หันไปตระเวนรับซื้อต้นสาคูในราคาต้นละ 300-400 บาท มาแปรรูปเป็นแป้งสาคูและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ขนมจากแป้งสาคูขาย สร้างรายกว่า 5,000-6,000 บาทต่อเดือน มีลูกค้าและผู้สนใจมารับซื้อถึงบ้านนอกจากนี้มีการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์อีกด้วย หากท่านใดสนใจเรียนรู้และต้องการเยี่ยมชมภูมิปัญญาท้องถิ่น การล่องเรือชมระบบนิเวศน์ป่าสาคู หรือสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ สามารถติดต่อได้ที่ นายสุดสาคร สังฆ์รักษ์ โทรศัพท์ 095-0737330

สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา, กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว