กรมประมงเปิดเวทีสัมมนา

793

เปิดสัมมนา “โครงการปรับปรุงและพัฒนาการทำประมงอวนล้อมจับปลาโอดำฝั่งอ่าวไทย”

วันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม 2563 ณ โรงแรมคริสตัล อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา กรมประมง ร่วมกับศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย สมาคมอวนล้อมจับประเทศไทย ผู้ประกอบการชาวประมงที่เกี่ยวข้อง และบริษัท Key Traceability (ผู้ประเมินตามมาตรฐาน MSC) จัดงานสัมมนา “โครงการปรับปรุงและพัฒนาการทำประมงอวนล้อมจับปลาโอดำฝั่งอ่าวไทย” (Gulf of Thailand Longtail Tuna Fishery Improvement Project : Tonggol FIP) เพื่อสร้างความเข้าใจถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนโครงการฯ ในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การทำประมง การปฏิบัติตามจรรยาบรรณในการทำประมง การใช้ประโยชน์ทรัพยากรปลาโอดำที่อยู่บนพื้นฐานของความยั่งยืน รวมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้ในการทำประมงอวนล้อมจับปลาโอดำของประเทศไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับปลาโอดำสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก จากการทำประมงที่ยั่งยืนตลอดห่วงโซ่การผลิต

ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ปัจจุบันผู้บริโภคผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำทั่วโลกต่างหันมาให้ความสนใจในเรื่องของการใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างยั่งยืนกันมากขึ้น และคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการการทำประมงอย่างมีความรับผิดชอบ ประเทศไทยซึ่งเป็นฐานการผลิตสินค้าประมงรายใหญ่ของโลกจึงต้องดำเนินการผลิตสินค้าที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลกเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ประมงของไทย

ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง
รองอธิบดีกรมประมง

ปลาโอดำ (Longtail tuna : Thunnus tonggol)  จัดเป็นปลาเศรษฐกิจที่มีความสำคัญชนิดหนึ่งของประเทศไทย เนื่องจากเป็นปลาที่มีคุณภาพดี เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค และมีราคาค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับปลาในตระกูลเดียวกัน โดยมีปริมาณการส่งออกแต่ละปีประมาณ 13,700 ตัน สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศกว่าสองพันล้านบาท ซึ่งมีรูปแบบของผลิตภัณฑ์ในการส่งออก เช่น บรรจุกระป๋องแช่เย็น แช่แข็ง และอื่น ๆ โดยวัตถุดิบส่วนใหญ่ได้มาจากการทำประมงอวนล้อมจับ ดังนั้น การสร้างความมั่นใจให้ประเทศคู่ค้าในตลาดโลกว่าปลาโอดำไทยเป็นสินค้าที่ได้มาจากการทำประมงอย่างรับผิดชอบและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างยั่งยืน  สินค้านั้นจำเป็นที่จะต้องได้รับฉลากการรับรองการทำประมงอย่างยั่งยืน (Marine Steawardship Council หรือ MSC) ซึ่งเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคจะเลือกซื้อเป็นลำดับแรก อย่างไรก็ตาม การได้มาซึ่งฉลากรับรองการทำประมงที่ยั่งยืนนั้น สินค้าจะต้องผ่านการประเมินตัวชี้วัดในด้านต่าง ๆ 3 ด้าน ได้แก่ ปริมาณความยั่งยืนของสัตว์น้ำเป้าหมาย ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการทำการประมง และการบริหารประมงที่มีประสิทธิภาพ  ซึ่งกระบวนการที่จะทำให้เงื่อนไขทั้ง 3 ด้านบรรลุเป้าหมายการทำประมงที่ยั่งยืน จะเกิดขึ้นได้ต้องมีความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ผู้จับ ผู้ค้า ผู้แปรรูป ผู้ส่งออก โดยปกติในการยื่นขอใบรับรองฯ นั้น ต้องผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ซึ่งมีหลายขั้นตอน และใช้เวลาในการดำเนินการเป็นเวลานาน โดยประเทศที่ประสงค์จะยื่นขอใบรับรองจาก MSC ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่การประเมินโดยสามารถจัดทำโปรแกรมการบริหารจัดการ  (Fishery Improvement Program : FIP) ซึ่งโปรแกรมดังกล่าวต้องมีแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน สามารถปฏิบัติได้จริง มีความก้าวหน้าอย่างสม่ำเสมอ  โดยมีหน่วยงานกลางเป็นผู้ประเมินและเผยแพร่ผลการปฏิบัติงานบนเว็บไซต์ www. Fisheryprogress.org และเมื่อผ่านการประเมินจะสามารถยื่นขอใบรับรอง MSC เพื่อติดบนฉลากสินค้าได้

ในส่วนของประเทศไทย สำหรับปลาโอดำนั้น ได้เริ่มดำเนินการจัดทำ FIP มาตั้งแต่ปี 2559 โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกรมประมง ศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC)  สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย สมาคมอวนล้อมจับประเทศไทย ผู้ประกอบการ ชาวประมงที่เกี่ยวข้อง โดยมีบริษัท Key Traceability เป็นผู้ประเมินผลและรายงานผลการดำเนินงานทั้ง 3 หลักการดังกล่าวข้างต้น ซึ่งขณะนี้สถานะการประเมินของไทยยังไม่สามารถผ่านการประเมินตัวชี้วัดของการรับรองได้ครบทั้ง 3 ด้าน โดยเฉพาะความร่วมมือของผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิต  จึงเป็นที่มาของประชุมในครั้งนี้ โดยกรมประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ร่วมจัดสัมมนาในหัวข้อต่างๆ อาทิ การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ FIP สู่การทำประมงไทยที่ยั่งยืน หลักจรรยาบรรณของ FIP สำหรับเรือประมงที่เข้าร่วม การศึกษาทรัพยากรปลาโอในทะเลจีนใต้ของศูนย์พัฒนาการประมงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โครงการพัฒนาอุปกรณ์ที่ช่วยลดแรงงานประมงและการพัฒนาระบบการเก็บสัตว์น้ำในเรือประมงอ้วนล้อมปลาโอดำ รวมทั้ง ชีววิทยาปลาโอดำลักษณะที่มีถิ่นอาศัยบริเวณอ่าวไทย นอกจากนี้ ยังมีการร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในรายละเอียดของโครงการปรับปรุงและพัฒนาการทำประมงอวนล้อมจับปลาโอดำฝั่งอ่าวไทย Tonggol FIP ระหว่างกรมประมง กับผู้แทนทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

รองอธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า ความสำคัญของการได้รับใบรับรอง MSC ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายต่อการค้าสินค้าสัตว์น้ำของประเทศไทยในเวทีโลก เนื่องจากการได้รับรองมาตรฐานดังกล่าว จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อสินค้าสัตว์น้ำของไทย ว่าเป็นสินค้าที่ผลิตจากการทำประมงอย่างมีความรับผิดชอบ โดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรปลาโอดำจากการทำประมงที่ยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs14 (Life below water) ขององค์การสหประชาชาติ  แต่การดำเนินการนี้จะสำเร็จได้ต้องมาจากความร่วมมือของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ตั้งแต่ชาวประมงผู้จับปลาโอดำ แพปลา ท่าเทียบเรือ โรงงานแปรรูป และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งห่วงโซ่การผลิต และเชื่อว่าหากประเทศไทยมีความร่วมมืออย่างจริงจัง ก็จะเพิ่มโอกาสในการแข่งขันให้สามารถยืนหยัดอยู่บนเวทีการค้าโลกได้สง่างามอย่างแน่นอน

กรมประมง ข่าว