อาหารเลี้ยงปลาดุกสูตรใหม่

1,169

กรมประมงพัฒนาสูตรอาหารเลี้ยงปลาดุกเพื่อลดต้นทุนช่วยเกษตรกร

วันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม 2564 นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง นำคณะนักวิชาการและเจ้าหน้าที่ร่วมตรวจเยี่ยมฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาดุกของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี เพื่อติดตามผลการดำเนินงานลดต้นทุนด้วยสูตรอาหารของกรมประมงภายหลังจากการฝึกอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรได้นำไปประยุกต์ใช้ ซึ่งพบว่าสัตว์น้ำมีการเจริญเติบโตที่ดีและมีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาดอีกด้วย

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมงได้มุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนางานวิจัยด้านการประมงสาขาต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะในเรื่องของการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต กรมฯ จึงได้มีนโยบายส่งเสริมให้นักวิจัยได้เร่งสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ อยู่เสมอ และนำงานวิจัยมาปรับประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับวิถีการประกอบอาชีพด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการเพิ่มศักยภาพในการผลิตสัตว์น้ำให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยคำนึงถึงการลดต้นทุนในการผลิต แต่ยังคงรักษาคุณภาพและมาตรฐานเพื่อเพิ่มมูลค่าและขีดความสามารถในการแข่งขัน

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์
รองอธิบดีกรมประมง

สำหรับการลงพื้นที่จังหวัดนนทบุรีครั้งนี้ เป็นการติดตามงานที่กรมประมงได้นำผลงานวิจัยเรื่อง “การใช้หัวไก่สด หัวไก่หมักในการเลี้ยงปลาดุกลูกผสม” มาดัดแปลงสูตรเพื่อผลิตเป็นอาหารที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงปลาดุกในฟาร์มเพาะเลี้ยงของเกษตรกร  โดยใช้วัตถุดิบที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น และมีราคาถูก ซึ่งกรมประมงได้ฝึกอบรมให้เกษตรกรได้นำสูตรไปประยุกต์ใช้ ผลปรากฏว่า ปลาดุกมีอัตราการเจริญเติบโตที่ดีและคุณภาพเป็นไปตามความต้องการของตลาด โดยปลาดุกมีขนาดโตขึ้น 20% เมื่อเทียบกับอาหารที่ใช้เดิม

นางพิศมัย สมสืบ ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์น้ำ กล่าวเพิ่มเติมว่า หน่วยงานได้เร่งวางแนวทางการนำงานวิจัยมาช่วยลดต้นทุนในการผลิตอาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง  เพราะถือเป็นต้นทุนการผลิตส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 60 จากการรับทราบปัญหาของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาดุกในเขตพื้นที่ตำบลละหาร อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี กรมประมงจึงได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลละหาร จังหวัดนนทบุรี จัดฝึกอบรมโครงการ “การผลิตอาหารสัตว์น้ำเพื่อลดต้นทุนในการเลี้ยงสัตว์น้ำ” ให้แก่เกษตรกรจำนวน 50 ราย เมื่อช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมา โดยได้นำ
องค์ความรู้จากงานวิจัยถ่ายทอดให้เกษตรกรได้ทำการปรับปรุงสูตรอาหารในการเลี้ยงปลาดุกเพื่อให้สามารถลดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น ซึ่งแต่เดิมเกษตรกรใช้โครงไก่บด และเศษวัตถุดิบที่เหลือจากโรงงานอุตสาหกรรม เช่น เศษขนมปัง เศษอาหารไก่ กากมันวัว มาผสมรวมกัน โดยไม่มีสัดส่วนที่แน่นอน ทำให้เวลาให้อาหารปลาในบ่อ อาหารจะเหลวละลายน้ำเร็ว ต้องใช้ปริมาณอาหารจำนวนมาก และยังส่งผลให้น้ำในบ่อเลี้ยงเน่าเสียได้ง่ายอีกด้วย แต่หลังจากที่เกษตรกรได้นำหลักความรู้ในการฝึกอบรมไปใช้ในการผลิตอาหารสัตว์น้ำอย่างเหมาะสม กลับพบว่าสามารถลดต้นทุนค่าอาหารในการเลี้ยงได้ถึง 30-40 เปอร์เซ็นต์

สูตรอาหารสำหรับเลี้ยงปลาดุกอย่างง่ายที่กรมประมงแนะนำ มีส่วนผสมของวัตถุดิบ ดังนี้

วัตถุดิบอาหาร 10 กิโลกรัมอาหาร 1 กิโลกรัม
1. อาหารปลานิล/ปลาดุกโปรตีน 30-32%3.2 กิโลกรัม320 กรัม
2. โครงไก่บดสด8.8 กิโลกรัม (2.2 กิโลกรัมแห้ง)880 กรัม
3. เศษขนมปัง/เศษอาหารไก่4.5 กิโลกรัม450 กรัม
4. ยีสต์ขนมปัง 50 กรัม5 กรัม
5. วิตามินและแร่ธาตุรวม5-10 กรัม0.5-1 กรัม
รวมน้ำหนักอาหาร10 กิโลกรัม1 กิโลกรัม

ด้านนายสะอัส อินเดริด อายุ 71 ปี ปราชญ์เกษตรประจำปี 2562 และเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาดุก ตำบลละหาร อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี  ให้ข้อมูลว่า ตนได้ประกอบอาชีพเลี้ยงปลาดุกมานานกว่า 10 ปี ซึ่งที่ผ่านมาใช้วิธีการเลี้ยงแบบธรรมชาติในบ่อดิน จำนวน 2 บ่อ ขนาด 1.5 งาน 1 บ่อ ปล่อยปลาลงเลี้ยง 20,000 ตัว และขนาด 2 งาน 1 บ่อ ปล่อยปลาลงเลี้ยง 25,000 ตัว แต่เดิมใช้วิธีการให้อาหารโดยนำส่วนผสมของวัตถุดิบทุกอย่างมาบดรวมแบบไม่มีสัดส่วนที่แน่นอน ทำให้คุณภาพอาหารที่ได้จะไม่เหนียวเป็นก้อน เมื่อนำไปให้ปลากินก็จะเหลือเศษอาหารตกค้างในบ่อค่อนข้างเยอะ น้ำเน่าเสียได้ง่าย และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายด้านอาหารจำนวนมาก แต่หลังจากที่ได้เข้ารับการฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการปรับปรุงสูตรอาหารในการเลี้ยงปลาดุกจากกรมประมง ปรากฏว่าจากการใช้สัดส่วนในการผสมวัตถุดิบที่เหมาะสมแล้วนำมาบดรวมกันทำให้อาหารมีความเหนียวมากขึ้น และเมื่อนำไปให้ปลาในบ่อเลี้ยงจะไม่แตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย สามารถลดสาเหตุของน้ำเสียและลดการเปลี่ยน ถ่ายน้ำได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญช่วยลดทุนในการผลิตอาหารได้จากเดิมมาก ใช้ระยะเวลาการเลี้ยงเพียง 5 เดือนสามารถจับผลผลิตเพื่อจำหน่ายสร้างรายได้เลี้ยงครัวเรือนได้เป็นอย่างดี

รองอธิบดีกรมประมง กล่าวเสริมในตอนท้ายว่า กรมประมงจะเร่งผลักดันให้มีการพัฒนางานวิจัยเพื่อลดต้นทุนในการผลิตเสริมสร้างประสิทธิภาพสำหรับใช้เลี้ยงสัตว์น้ำชนิดอื่น ๆ ต่อไป  ทั้งนี้ เพื่อให้ภาคการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทยมีความเข้มแข็ง และเกษตรกรมีความมั่งคงในการประกอบอาชีพอย่างยั่งยืน

กรมประมง ข่าว