เร่งสำรวจพื้นที่เกษตร

628

เฉลิมชัย สั่งกรมส่งเสริมการเกษตรเร่งสำรวจพื้นที่เกษตร เตรียมฟื้นฟูหลัง “โกนเซิน” ถล่ม

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากอิทธิพลพายุโซนร้อนโกนเซิน มีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ถึงแม้จะอ่อนกำลังลงเป็นดีเปรสชันแล้ว แต่ยังคงส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกรและพื้นที่เพาะปลูกที่อาจได้รับความเสียหาย จึงได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการเกษตรติดตามสถานการณ์ และกำชับเกษตรจังหวัดในพื้นที่ที่ประสบภัยเร่งลงพื้นที่สำรวจความเสียหายของพื้นที่เกษตรหลังน้ำลด เพื่อเสนอให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง พร้อมให้คำแนะนำแนวทางการฟื้นฟูพื้นที่แก่เกษตรกร รวมถึงเตรียมสำรองพันธุ์พืช เพื่อสนับสนุนเกษตรกรได้ทันท่วงที 

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

สำหรับหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือ จะเป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 หลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 ทั้งนี้ เกษตรกรที่จะได้รับความช่วยเหลือจะต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนเกิดภัยพิบัติ จึงจะได้รับการช่วยเหลือตามพื้นที่เสียหายจริง ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ โดยกำหนดอัตราการช่วยเหลือดังนี้ ข้าว 1,340 บาทต่อไร่ พืชไร่และพืชผัก 1,980 บาทต่อไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ 4,048 บาทต่อไร่ ขณะเกิดภัยพิบัติในพื้นที่ต่างๆ กรมส่งเสริมการเกษตรจะประเมินสถานการณ์เบื้องต้น และรายงาน สถานการณ์พื้นที่การเกษตรประสบภัยพิบัติ พร้อมจัดชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่ประสบภัยเพื่อให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่เกษตรกร รวมถึงออกเยี่ยมเยียนให้คำแนะนำในการดูแลรักษาพืชผลทางการเกษตรที่เสียหาย โดยภายหลังจากที่อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยหรือผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว เกษตรกรต้องยื่นแบบความจำนงขอรับการช่วยเหลือ (กษ 01) โดยให้ผู้นำรับรอง ก่อนจะมีการตรวจสอบทะเบียนเกษตรกร และพื้นที่เสียหายจริง เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามขั้นตอนต่อไป  

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตรตระหนักถึงความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับเกษตรกรหากเกิดปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ จึงมอบหมายให้ศูนย์ขยายพันธุ์พืชทั้ง 10 แห่ง ดำเนินโครงการผลิตพืชพันธุ์ดีเพื่อสำรองในกรณีช่วยเหลือ ฟื้นฟู ดูแลเกษตรกรผู้ประสบภัย และใช้ในภารกิจของกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งพืชพันธุ์ที่สำรองไว้ ใช้วิธีการเพาะกล้าในถาด และดูแลบำรุงรักษาให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด เพื่อให้ได้ต้นพืชที่แข็งแรง ซึ่งพร้อมจะสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถนำไปเพาะปลูกได้ง่ายและได้รับผลผลิตเร็วขึ้น กรณีที่ได้รับความเสียหายสิ้นเชิง ประกอบด้วยพืชผัก จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ กระเจี๊ยบเขียว ถั่วฟักยาว มะเขือเปราะ และพริก ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดในพื้นที่ของท่าน

กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว