เกษตรฯ เเนะรับมือน้ำเค็มรุกสวนกล้วยไม้

628

กรมส่งเสริมการเกษตร แนะเกษตรกรเตรียมพร้อมรับมือ น้ำเค็มรุกสวนกล้วยไม้

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในช่วง 4 – 5 ปีที่ผ่านมาสภาพอากาศมีความแปรปรวนค่อนข้างเร็ว ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรอย่างกว้างขวาง ทำให้เกิดวิกฤตภัยแล้งและน้ำทะเลหนุนสูงส่งผลให้น้ำเค็มรุกเข้าสวนกล้วยไม้ โดยในต้นปี 2565 กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ได้คาดการณ์ระดับน้ำทะเลหนุนที่ขึ้นสูงสุดไว้ 2 ช่วง ได้แก่ ในช่วงวันที่ 20 – 23 มกราคม 2565 และวันที่ 31 มกราคม 2565 ซึ่งอาจจะเกิดน้ำเค็มรุกพื้นที่ที่เป็นปากแม่น้ำซึ่งเชื่อมติดกับทะเลเป็นระยะเวลาสั้น ๆ และจะกลับคืนสู่สภาพปกติ กรมส่งเสริมการเกษตรจึงขอแจ้งเตือนเกษตรกรผู้ปลูกพืชซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำ ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม สมุทรสาคร นนทบุรี กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม ราชบุรี และจังหวัดฉะเชิงเทรา ควรเฝ้าระวังค่าความเค็มของน้ำไม่ควรเกินกว่า 0.75 กรัมต่อลิตร หรือค่าการนำไฟฟ้า (EC) สูงเกินกว่า 750 ไมโครซีเมนส์ต่อเซนติเมตร หากสวนกล้วยไม้ได้รับน้ำเค็มติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จะทำให้ต้นกล้วยไม้มีอาการปลายรากกุด ใบเริ่มลู่ลง นิ่ม และเหลืองก่อนที่จะหลุด เนื้อเยื่อแห้งไม่เจริญเติบโต และอาจรุนแรงถึงตายได้ในที่สุด

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตรเล็งเห็นผลกระทบด้านลบที่จะเกิดขึ้นกับสวนกล้วยไม้จึงขอแนะนำให้เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้ ควรเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ ดังนี้

  1. ตรวจวัดค่าการนำไฟฟ้าของน้ำที่จะใช้รดกล้วยไม้หรือนำมาผสมปุ๋ย และสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยใช้เครื่องวัด EC หรือ Salinity ด้วยตนเอง หรือส่งน้ำไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการของหน่วยงานราชการหรือติดตามสถานการณ์ค่าความเค็มได้ที่ http://hydrology.rid.go.th/sediment-wq/index.php/th/ หรือไลน์ของกลุ่ม/สมาคมกล้วยไม้ที่เกษตรกรสังกัด เพื่อเตรียมการรับมือได้อย่างทันท่วงที
  2. หากแหล่งน้ำที่นำมารดกล้วยไม้ยังมีคุณภาพดี ให้สูบน้ำเข้ามาเก็บกักในบ่อพักให้เต็ม เพื่อสำรองไว้กรณีเกิดน้ำทะเลหนุน และในอนาคตควรเพิ่มพื้นที่ในการเก็บกักน้ำ เช่น ขุดบ่อเพิ่ม หรือเพิ่มความลึกของบ่อเดิม ให้สามารถเก็บกักน้ำได้มากขึ้น
  3. ควรรักษาระดับน้ำในบ่อพักน้ำในสวนกล้วยไม้ให้สูงกว่าระดับน้ำข้างนอก เพื่อดันไม่ให้น้ำจากข้างนอกซึ่งอาจจะเป็นน้ำเค็มไหลซึมเข้าบ่อ กรณีน้ำในบ่อพักมีค่าความเค็มสูงขึ้นสามารถเจือจางได้ โดยการเติมน้ำจืดประมาณ 2 เท่าของน้ำเค็ม
  4. ปรับเปลี่ยนวิธีการให้น้ำอย่างประหยัด ด้วยการนำหัวสปริงเกอร์แบบประหยัดน้ำที่มีอัตราการใช้น้ำ 100 – 120 ลิตร ต่อ 1 หัว ในเวลา 1 ชั่วโมง มาใช้แทน
  5. หากน้ำมีค่าความเค็มสูงขึ้น ควรลดอัตราการผสมปุ๋ยลงจากเดิม เนื่องจากปุ๋ยเป็นเกลือชนิดหนึ่งซึ่งจะเพิ่มความเค็มของน้ำ และหากน้ำที่ผสมปุ๋ยแล้วมีค่าความเค็มสูงเกินไป ปุ๋ยจะไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่รากหรือต้นกล้วยไม้
  6. ควรเพิ่มปุ๋ยที่มีธาตุอาหารรองประเภทแคลเซียมและแม็กนีเซียม ซึ่งจะสามารถช่วยลดความเป็นพิษของเกลือโซเดียมและคลอไรด์ที่มาจากน้ำทะเลได้ในระดับหนึ่ง
  7. น้ำในแหล่งผลิตกล้วยไม้ส่วนใหญ่นอกจากมีความเค็มเนื่องจากเกลือโซเดียมและคลอไรด์แล้ว ยังมีเกลือไบคาร์บอเนต ซึ่งการปรับความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำ ควรทำให้อยู่ในช่วง pH 5.5 – 6.5 จะทำให้ปริมาณเกลือไบคาร์บอเนตลดลงและทำให้ธาตุอาหารต่างๆ ละลายออกมาในรูปที่เป็นประโยชน์กับกล้วยไม้มากขึ้น
  8. หากเกษตรกรผลิตกล้วยไม้ที่มีราคาสูงและต้องการกล้วยไม้ที่มีคุณภาพดี อาจจะพิจารณาใช้เครื่องกรองน้ำแบบ Reverse Osmosis ซึ่งสามารถกรองเกลือที่ละลายในน้ำอย่างได้ผล

ทั้งนี้ สำหรับเกษตรกรที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอและสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้านท่าน

กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว