70 ปี กรมตรวจบัญชีสหกรณ์

652

70 ปี กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เดินหน้าสร้างความเข้มแข็งด้านการเงินการบัญชีที่มีคุณภาพ

กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จัดงานวันคล้ายวันสถาปนากรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ครบรอบ 70 ปี โดยได้รับเกียรติจาก นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธี พร้อมมอบโล่รางวัลและประกาศเกียรติคุณบุคลากรดีเด่น กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2564 จำนวน 36 รางวัล รางวัลผลงานนวัตกรรมดีเด่น จำนวน 11 รางวัล และรางวัลการประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปี กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ โดยมีนายอำพันธุ์ เวฬุตันติ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ นางสาวอัญมณี ถิรสุทธิ์ รองอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ นางรพีพร กลั่นเนียม รองอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ผู้บริหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ให้การต้อนรับ ณ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรุงเทพฯ และถ่ายทอดผ่านระบบออนไลน์ ทาง Web Conference โปรแกรม Zoom และแอปพลิเคชัน SmartAuditor

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบการบริหารจัดการด้านการเงินและการบัญชีของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร เกษตรกร และประชาชน โดยมีหน้าที่โดยตรงในการกำกับดูแลด้านการเงินและการบัญชีของสหกรณ์ วางระบบบัญชีและมาตรฐานการสอบบัญชี ให้ความรู้ด้านการบริหารการเงินการบัญชี แก่คณะกรรมการและสมาชิกของสหกรณ์ รวมถึงถ่ายทอดความรู้และส่งเสริมการจัดทำบัญชีให้แก่เกษตรกร เยาวชน และประชาชน ซึ่งเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงและยั่งยืนให้กับขบวนการสหกรณ์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิกสหกรณ์ว่า จะได้รับผลประโยชน์ที่พึงได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม อันเป็นการยืนยันถึงหลักการและอุดมการณ์แห่งสหกรณ์ นั่นคือ สหกรณ์ของสมาชิก เพื่อสมาชิก และโดยสมาชิก ซึ่งในปัจจุบันสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร มีทุนดำเนินงานกว่า 3.58 ล้านล้านบาท และมีมูลค่าดำเนินธุรกิจสูงถึง 2.17 ล้านล้านบาท มีผลกำไร 99,509.04 ล้านบาท จึงนับเป็นกลไกในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศและมีส่วนสำคัญในการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจฐานรากได้ ทั้งนี้ ได้มอบนโยบายให้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ดำเนินงานตามภารกิจ ใน 3 ด้าน ได้แก่

  1. ด้านการสอบบัญชีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้ตรวจสอบบัญชีอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และโปร่งใส มีการให้ข้อสังเกตที่เป็นประโยชน์ ที่จะทำให้การดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ในอนาคต มีความเจริญก้าวหน้าและเป็นที่พึ่งให้แก่สมาชิกได้ ในขณะเดียวกันหากสหกรณ์ได้ว่าจ้างผู้สอบบัญชีรับอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชี ขอให้ผู้ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลผู้สอบบัญชีรับอนุญาตได้กำกับผู้สอบบัญชีให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ที่กรมฯ จะต้องให้คำแนะนำและตรวจสอบบัญชี ทั้งสิ้น 12,054 แห่ง แยกเป็นสหกรณ์ จำนวน 7,781 สหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกร จำนวน 4,273 โดยในปี 2565 กรมฯ มีเป้าหมายในการเข้าตรวจสอบบัญชีสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร รวม 9,828 แห่ง แยกเป็นสหกรณ์ 6,331 สหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกร 3,498 กลุ่ม  
  2. ด้านการสอนบัญชี นอกจากการสอนบัญชีให้คณะกรรมการ ผู้ตรวจสอบกิจการ เจ้าหน้าที่บัญชี สมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรแล้วได้มอบนโยบายให้กรมฯ ให้ความสำคัญกับการสอนบัญชีรับ – จ่ายในครัวเรือน และบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพ ให้กับเกษตรกร รวมถึงลูกหลานของเกษตรกรด้วย เพื่อจะได้นำไปใช้ในการวางแผนการใช้จ่ายเงินในอนาคต ช่วยเสริมสร้างศักยภาพด้านการประกอบอาชีพเกษตรกรรมให้เกษตรกรได้อย่างมั่นคงและเป็นโอกาสในการต่อยอดสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ขณะนี้ได้มอบนโยบายให้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อจัดทำ MOU ร่วมกัน บรรจุหลักสูตรการทำบัญชีรับ – จ่ายในครัวเรือน ให้กับเด็กนักเรียน ทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา อันจะเป็นการวางรากฐานให้กับเยาวชนไทยได้มีวินัยในการใช้จ่ายเงิน โดยคาดว่าจะลงนามภายในเดือนเมษายน 2565 และเริ่มการสอนเทอมการศึกษาหน้า ในเดือนพฤษภาคม 2565ซึ่งในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา กรมฯ ได้สอนบัญชีรับ – จ่ายในครัวเรือน ให้กับเด็กและเยาวชน ตามโครงการต่างๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้น 45,066 ราย โดยในปีงบประมาณ 2565 มีเป้าหมายดำเนินการ 4,500 ราย
  3. ด้านการกำกับดูแล สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร มอบหมายให้กรมฯ ส่งเจ้าหน้าที่ไปช่วยให้คำแนะนำให้สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร จัดทำบัญชีให้ถูกต้อง ครบถ้วน หากสหกรณ์ใดยังไม่สามารถดำเนินการจัดทำบัญชีด้วยตนเองได้ จะมีเจ้าหน้าที่กรมฯ ช่วยดูแลสอนแนะอย่างใกล้ชิด รวมถึงแนะนำให้มีการใช้โปรแกรมสำเร็จรูปที่กรมฯ ได้พัฒนาขึ้น สำหรับสหกรณ์ที่ตั้งใหม่และมีความพร้อมด้านเทคโนโลยี นอกจากนี้ ยังได้กำชับให้กำกับ ควบคุมผู้สอบบัญชีรับอนุญาตให้ทำการตรวจบัญชีอย่างโปร่งใส เป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

“ในโอกาสที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ สถาปนาครบรอบ 70 ปี ขอให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกภาคส่วนของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ พร้อมเดินหน้าก้าวสู่ปีต่อ ๆ ไป เพื่อร่วมกันยกระดับมาตรฐานการทำบัญชีและมาตรฐานการจัดทำรายงานทางการเงินของสถาบันเกษตรกร ด้วยความมุ่งมั่นที่จะให้ขบวนการสหกรณ์ไทยเติบโตก้าวหน้าไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว

ด้านนายอำพันธุ์ เวฬุตันติ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 70 ปี ที่ผ่านมา กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้อยู่เบื้องหลังการสร้างความเข้มแข็งด้านการเงินการบัญชี ให้แก่สถาบันเกษตรกร รวมทั้งดูแลผลประโยชน์ของมวลสมาชิก โดยดำเนินการในหลากหลายมิติทั้งการตรวจสอบบัญชี การวางระบบบัญชี การพัฒนามาตรฐานการสอบบัญชี การพัฒนาสมรรถนะด้านการเงินการบัญชีให้แก่คณะกรรมการและสมาชิกสหกรณ์ รวมทั้งการสร้างเครือข่ายอาสาสมัครเกษตรด้านบัญชี ซึ่งเป็นการดำเนินการเพื่อยกระดับการพัฒนาทั้งในระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยในปีงบประมาณ 2565 กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาการดำเนินงาน ตามวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้ คือ “ภายในปี 2565 สหกรณ์และเกษตรกรมีความเข้มแข็งด้านการเงินการบัญชีที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้” และกำหนดเป้าหมายการพัฒนางานในก้าวต่อไป ภายใต้สภาวการณ์ปัจจุบันที่ต้องเผชิญความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จากสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 และความก้าวหน้าของเทคโนโลยี โดยพัฒนางานสอบบัญชี มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการสอบบัญชี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบ ทั้งด้านความถูกต้อง ความแม่นยำ และความรวดเร็วในการทำงาน ควบคู่กับการสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันเกษตรกรและประชาชนผ่านบัญชี ด้วยการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างข้อมูลที่มีคุณค่า Smart4M เพื่อให้บริการแก่สถาบันสหกรณ์ได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งสอนแนะการทำบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพให้กับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ เยาวชนและประชาชนทั่วไป ได้มีความรู้และเข้าใจในการนำข้อมูลบัญชีไปใช้ในการบริหารจัดการภาคการเกษตรและสร้างความมั่นคงทางการเงินในครัวเรือน รวมถึงการพัฒนาสมรรถนะบุคลากรให้มีความเป็นมืออาชีพและพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ที่จำเป็นทั้งด้านความรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพด้านสมรรถนะไอที ด้านความรู้เฉพาะเกี่ยวกับธุรกิจที่ตรวจสอบและที่สำคัญคือการพัฒนาความสามารถด้านการสื่อสาร เพื่อพัฒนาทักษะให้ผู้สอบบัญชีสามารถเป็นที่ปรึกษาด้านการเงินการบัญชีให้แก่สหกรณ์

“กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ในทศวรรษวิถีถัดไป ยังคงมุ่งมั่นตั้งใจร่วมมือกับทุกภาคีเครือข่ายและพันธมิตรทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายในการสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันเกษตรกร พร้อมทำหน้าที่ผู้สอบบัญชีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ด้วยการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีคุณภาพอันจะเป็นประโยชน์แก่สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร รวมไปถึงสมาชิกเกษตรกรและประชาชนทั่วไปได้อย่างยั่งยืน” อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าว

กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ข่าว