เกษตรฯ ชูแปลงใหญ่พัฒนาอะโวคาโด จ.ตาก

391

เกษตรฯ ชูระบบแปลงใหญ่พัฒนาอะโวคาโด จ.ตาก สร้างเป็นพืชอัตลักษณ์ ภายใต้สโลแกน “TAK CITY OF AVOCADO”

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดตาก ได้นำโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่เข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรในอำเภอพบพระ จังหวัดตาก ปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นไม้ผลเศรษฐกิจ ได้แก่ อะโวคาโด และมีการรวมกลุ่มสมาชิกจัดตั้งเป็นแปลงใหญ่อะโวคาโด อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ขึ้นในปี พ.ศ.2560 มีเกษตรกรเข้าร่วม จำนวน 50 ราย พื้นที่เข้าร่วม 300 ไร่ ปัจจุบันมีการขยายเครือข่ายเกษตรกรผู้สนใจในพื้นที่อำเภอพบพระ จำนวนรวม 6 แปลง เกษตรกรเพิ่มเป็น 257 ราย พื้นที่รวม 3,204 ไร่ ซึ่งผลสำเร็จตามเป้าหมายของดำเนินงานขับเคลื่อนแปลงใหญ่อะโวคาโด อำเภอพบพระ ในปัจจุบัน เกษตรกรสามารถปรับเปลี่ยนจากอโวคาโดพันธุ์พื้นเมืองเป็นพันธุ์ดี โดยการเปลี่ยนยอด จำนวน 4,635 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 60 ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP 28 แปลง และการรับรอง “ตากการันตี” 181 แปลง เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ร้อยละ 25 (จากไร่ละ 4,900 บาท เป็น 3,675 บาท) และสามารถเพิ่มผลผลิตได้ร้อยละ 20 ในส่วนของกลุ่มเกษตรกรมีการบริหารจัดการกลุ่มในรูปแบบคณะกรรมการบริหารจัดการ และมีการจดทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกอะโวคาโดอำเภอพบพระ เพื่อเป็นกลไกในด้านการตลาดต่อไป

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

“ในปี 2564 ที่ผ่านมา แปลงใหญ่อะโวคาโด อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ได้รับการสนับสนุนเครื่องคัดขนาดและคุณภาพผลอะโวคาโดจำนวน 1 ชุด จากโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด และในปี 2564 มีอะโวคาโดที่ให้ผลผลิตแล้ว 1,369 ไร่ ผลผลิตประมาณ 800 -1200 ตันต่อปี สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไม่น้อยกว่า 18 ล้านบาท สำหรับในปี 2565 นี้คาดว่าผลผลิตอะโวคาโดของกลุ่มจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 – 2,500 ตัน คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท รวมทั้งจังหวัดตากยังมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนอะโวคาโดให้เป็นพืชอัตลักษณ์ของจังหวัด ภายใต้สโลแกน “TAK CITY OF AVOCADO” สนับสนุนให้เกษตรกรมีการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมการเกษตรที่เหมาะสม พัฒนาคุณภาพผลผลิตอะโวคาโด Premium Grade และต่อยอดผลิตภัณฑ์โดยการแปรรูป ในด้านการตลาด มีการประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมการจำหน่ายผลผลิตออนไลน์ จำหน่ายผลผลิตสู่ตลาดโมเดิร์นเทรด รวมถึงพัฒนาสวนอะโวคาโดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยในขณะนี้อยู่ระหว่างการขอขึ้นทะเบียนพืช GI จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ในชื่อ อะโวคาโดตาก” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ได้พัฒนาพันธุ์อะโวคาโด พันธุ์พบพระ 08 ซึ่งเป็นสายพันธุ์พื้นเมือง ได้จากการนำยอดพันธุ์อะโวคาโดไม่ทราบสายพันธุ์ จากบ้านรวมไทยพัฒนาที่ 8 ตำบลรวมไทยพัฒนา อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ของนายรุ่ง บุญรอด ซึ่งได้จากการเพาะเมล็ดไม่ทราบชื่อพันธุ์ของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรตาก (ดอยมูเซอ) โดยนำมาเสียบยอดกับต้นตอพันธุ์พื้นเมืองที่ปลูกไว้ จากนั้นได้สังเกตการเจริญเติบของการเสียบยอดทั้ง 2 แบบ คือ การเสียบแบบนำยอดพันมาเสียบกับต้นตอพันพื้นเมืองที่ปลูกไว้แล้วและการเสียบแบบนำยอดพันมาเสียบกับต้นสต็อกที่ได้จากเพาะเมล็ดในถุงดำ ผลปรากฏว่าต้นพันธุ์  ที่เสียบยอดกับต้นตอพันธุ์พื้นเมืองเริ่มมีดอกในปลายเดือนมกราคม พ.ศ.2556 และติดผลในปลายเดือนกุมภาพันธ์ในปีเดียวกัน จำนวน 20-30 ผล จึงได้เลือกเก็บผลไว้เพียง 15 ผล และสามารถเก็บผลผลิตได้ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ.2556 โดยผลผลิตที่ได้มีน้ำหนักเฉลี่ย 250 กรัมถึง 500 กรัมต่อลูก เมื่อสุก เปลือกจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีม่วง เนื้อสีเหลืองอำพัน เนื้อเนียน เหนียวมัน แห้ง ไม่มีเสี้ยน และไม่มีจุดดำ ใช้เวลานับวันตั้งแต่ออกดอกจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 5 เดือน ลำต้นแข็งแรงเจริญเติบโตได้ดี ทนทานต่อโรค ซึ่งภายหลังจากที่เกษตรกรในพื้นที่อำเภอพบพระได้ทำการติดตามผลการปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตทั้งหมด 4 รุ่น พบว่า ผลผลิตที่ได้มีลักษณะและคุณภาพคงที่ จากนั้นจึงนำยอดพันธุ์รุ่นที่ 4 ไปขยายต่อเป็นรุ่นที่ 5 ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2560 โดยให้ผลผลิตในปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ.2561 ปรากฏว่าได้คุณลักษณะและคุณภาพไม่แตกต่าง คือ กลิ่น สีเนื้อ ความเหนียวมันแห้ง รูปทรงภายนอก เหมือนผลผลิตในรุ่นที่ 1 ถึง 4 จึงได้ตั้งชื่อพันธุ์ว่า “พบพระ 08” ความหมายคือ มีต้นกำเนิดอยู่ที่อำเภอพบพระ บ้านรวมไทยพัฒนาที่ 8 ซึ่งขณะนี้จังหวัดตากอยู่ระหว่างดำเนินการขอรับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร

กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว