เกลือทะเลปัตตานี แหล่งผลิตหนึ่งเดียวในภาคใต้

545

เกลือทะเลปัตตานี แหล่งผลิตหนึ่งเดียวในภาคใต้ มรดกจากภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่การพัฒนาเพื่อเป็นมรดกทางการเกษตรโลก

กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ขับเคลื่อนการดำเนินงานพัฒนาเกลือทะเลปัตตานี ตามแผนปฏิบัติการพัฒนาเกลือทะเลไทย ของกรมส่งเสริมการเกษตร ระยะ 5 ปี (ปี 2566 – 2570) ตามพันธกิจ 5 ด้าน ประกอบด้วย การพัฒนาคุณภาพกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์เกลือทะเล การสร้างมาตรฐานเกลือทะเลให้เป็นที่ยอมรับ การเพิ่มช่องทางการตลาดเกลือทะเล การพัฒนาระบบฐานข้อมูลเกษตรกรและข้อมูลเกลือทะเลเพื่อการบริหารจัดการ และการเพิ่มมูลค่าเกลือทะเลสู่ทิศทางการพัฒนาระหว่างปี 2566-2570 โดยมีเป้าหมายในระยะ 5 ปี ดังนี้  

  1. มาตรฐานเกลือทะเลไทย ในปี 2566
  2. Smart Farmer and Smart Product ในปี 2567
  3. การท่องเที่ยวเส้นทางสายเกลือทะเล ในปี 2568
  4. Sustainable Development ในปี 2569
  5. การขอขึ้นทะเบียนมรดกทางการเกษตรโลก (GIAHS) ในปี 2570

นายอนุชา ยาอีด ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า เพื่อให้การพัฒนาเกลือทะเลปัตตานีไปสู่เป้าหมาย สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดปัตตานี ผนึกกำลังเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องบูรณาการทีมงานเกลือทะเล เพื่อร่วมขับเคลื่อน ซึ่งประกอบด้วย ผู้รับผิดชอบโครงการเกลือทะเล ผู้รับผิดชอบงานวิสาหกิจชุมชน งานท่องเที่ยวเกษตร งานชายแดนใต้ งานพระราชดำริ และงานตลาดเกษตรกร ลงพื้นที่เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกัน โดยทีมงานทั้งหมดลงพื้นที่ตำบลบานา ตำบลตันหยงลุโละ ตำบลบาราโหม ซึ่งเป็นพื้นที่ผลิตเกลือทะเลของจังหวัดปัตตานี เพื่อดูพื้นที่การผลิต พบปะเกษตรกรผู้ผลิต ผู้นำชุมชน เพื่อให้ทราบข้อมูลและสถานการณ์การผลิตเกลือทะเล และประชุมทำความเข้าใจแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานพัฒนาเกลือทะเลปัตตานีในปี 2566 พร้อมกำหนดแผนการดำเนินการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการพัฒนาเกลือทะเลไทย ปี 2566-2570 ของกรมส่งเสริมการเกษตรต่อไป

ในอดีตจังหวัดปัตตานี สามารถผลิตเกลือได้หลายพื้นที่ครอบคลุมอำเภอเมืองและอำเภอยะหริ่ง แต่จากภาวะทางเศรษฐกิจและชุมชนเมืองที่ขยายออกไปทำให้ในปัจจุบันเหลือเพียงการทำนาเกลือในพื้นที่ตำบลบานา และตำบลตันหยงลุโละ ของอำเภอเมืองปัตตานีเท่านั้น กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา และสำนักงานเกษตรจังหวัดปัตตานี จึงส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ทำนาเกลือรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นแปลงใหญ่นาเกลือทะเล โดยได้จัดตั้ง 2 กลุ่มตามที่ตั้งของแปลง คือ แปลงใหญ่นาเกลือตำบลบานา และแปลงใหญ่นาเกลือตำบลตันหยงลุโละ มีเกษตรกรสมัครเข้าร่วมจำนวน 91 ราย พื้นที่รวม 424 ไร่ มีการดำเนินการอบรมให้ความรู้ในเรื่องการผลิตเกลือคุณภาพ การบริหารจัดการกลุ่ม การตลาดสินค้าเกษตร การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า การจัดหาวัสดุอุปกรณ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมอบให้กับเกษตรกร เช่น ผ้ายางปูพื้นนาเกลือ รถเข็นเกลือ ลูกกลิ้ง ฯลฯ ปัจจุบันเกษตรกรได้นำวิทยาการจากพื้นที่ผลิตเกลือที่สำคัญของประเทศไทย คือ นาเกลือเพชรบุรี มาปรับใช้ในการทำนาเกลือ เช่น การใช้ไฮโดรมิเตอร์ (hydrometer) และการใช้เครื่องวัดความเค็มน้ำทะเล (Salinity Refractometer) มาปรับใช้ในการวัดค่าความเค็มของน้ำทะเลในกระทงนาต่าง ๆ การใช้ผ้ายางพลาสติกปูผืนนาปลงหรือนาวาง เพื่อการผลิตเกลือขาวและดอกเกลือ ซึ่งช่วยลดเวลาการตกผลึกของเกลือและไม่มีเศษดินปนเปื้อนเม็ดเกลือ เพิ่มคุณภาพเกลือขาว 100 %

นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการโครงการพัฒนาเกลือทะเลครบวงจรเพื่อบูรณาการการดำเนินงานพัฒนาเกลือทะเลไทยของหน่วยงานทั้ง ภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร ในการส่งเสริมและพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตเกลือทะเล ตั้งแต่การสำรวจและจัดเก็บข้อมูลการทำนาเกลือ การจัดทำแปลงนาเกลือต้นแบบเกลือทะเล การพัฒนาคุณภาพการผลิตเกลือทะเลให้ได้มาตรฐาน รวมทั้งพัฒนาสินค้าเกลือทะเลให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสินค้าเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค และในปี พ.ศ. 2565 ดำเนินการส่งเสริมการผลิตเกลือคุณภาพสูง โดยการส่งเสริมให้มีจำนวนแปลงที่ได้การรับรอง GAP มากขึ้น การจัดทำแผนการจัดการพื้นที่การผลิตที่เหมาะสมสำหรับเกลือทะเล (Zoning) โดยทบทวน ปรับปรุง ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเกลือทะเลปัตตานี และจัดทำแผนการจัดการพื้นที่การผลิตสินค้าเกลือ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) และปัจจัยที่ส่งผลต่อการเพิ่มมูลค่าของเกลือทะเล นอกจากนี้ มีการบูรณาการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและเพิ่มช่องทางการตลาดในการจำหน่ายผลผลิตและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเกลือทะเล อีกทั้งยังมุ่งเป้าที่จะยกระดับแหล่งเกลือทะเลสู่การรับรองเป็นพื้นที่มรดกเกษตรโลก (GIAHS) เพื่อส่งเสริมอนุรักษ์มรดกทางการเกษตร สร้างความมั่นคงทางอาหารและการพัฒนาทางเศรษฐกิจให้สำเร็จในปี 2570

เกลือทะเลจากเมืองปัตตานีจะมีราคาสูงกว่าเกลือจากแหล่งอื่น เพราะรสชาติที่กลมกล่อม ไม่เค็มขม จึงเป็นที่นิยมของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการปรุงอาหารโดยตรง หรือนำไปเป็นส่วนประกอบหลักในการแปรรูปหรือถนอมอาหาร เช่น น้ำปลา น้ำบูดู ปลาเค็ม สาเหตุที่เกลือปัตตานีมีรสชาติเช่นนั้นเป็นเพราะน้ำทะเลในอ่าวปัตตานีที่นำมาทำเกลือนั้นมีสภาพเป็นน้ำกร่อย เนื่องจากอ่าวปัตตานีเป็นทางออกของปากแม่น้ำที่สำคัญ คือ แม่น้ำปัตตานี และแม่น้ำสายบุรี จึงทำให้เกลือเม็ดที่ได้มีรสชาติอ่อน ไม่เค็มจัดจนขม ประกอบกับมีแร่ธาตุต่าง ๆ ที่ผสมกลมกลืนจนได้รสชาติเฉพาะและเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นจนได้รับการขนานนามว่า “เกลือหวานปัตตานี”   

จากประวัติศาสตร์การผลิตเกลือทะเลของปัตตานีที่ยาวนาน ผ่านภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ผสมรวมกับทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นซึ่งละลายอิ่มตัวจนตกผลึกเป็นเม็ดเกลือปัตตานีที่มีรสชาติกลมกล่อมเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร อีกทั้งแรงส่งเสริมสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการเกษตรและหน่วยงานภาครัฐที่ร่วมพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สินค้าจากเกลือปัตตานี สร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกร เพื่อให้ลูกหลานได้สืบทอดวิถีชีวิตชาวนาเกลือปัตตานีให้ยังคงอยู่คู่ดินแดนปลายด้ามขวานแห่งนี้ตลอดไป

กรมส่งเสริมการเกษตร บทความ