กยท. หนุนงบ 49(3) มอบเกษตรกรสวนยางต้นแบบฯ จ.เชียงราย

373

กยท. หนุนงบ 49(3) มอบเกษตรกรสวนยางต้นแบบฯ จ.เชียงราย จัดการพื้นที่สวนยาง ลดต้นทุน-สร้างรายได้จากพืชและสัตว์

การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) สนับสนุนงบ 49(3) มอบเกษตรกรสวนยางต้นแบบฯ ติดตั้งโซล่าเซลล์เพื่อจัดการระบบน้ำในสวนยางแบบวนเกษตร ลดต้นทุน สร้างรายได้เสริมจากพืชแซมและปศุสัตว์

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า กยท. มีนโยบายให้เกษตรกรชาวสวนยางทำการเกษตรแบบเกษตรกรรมยั่งยืน จึงดำเนินโครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนยางต้นแบบด้วยเกษตรกรรมยั่งยืนขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดย กยท. ได้จัดสรรเงินจากกองทุนพัฒนายางพาราตามมาตรา 49(3) ให้แก่เกษตรกรที่ได้รับการคัดเลือกเป็นเกษตรกรต้นแบบ เพื่อบริหารจัดการด้านการเกษตรภายในสวนยาง ช่วยลดต้นทุนการเกษตรและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรอีกทางหนึ่ง

นายเกียรตินันท์ ยิ้นซ้อน ผอ.กยท.จ.เชียงราย กล่าวว่า กยท.จ.เชียงราย ได้คัดเลือกนางสาวชรินทร์ทิพย์ เชื้อเมืองพาน เจ้าของสวนยางพื้นที่ตำบลโป่งแพร่ อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย เป็นเกษตรกรต้นแบบต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2 ปีซ้อน ซึ่ง กยท. ได้สนับสนุนงบประมาณในการติดตั้งระบบปั๊มโซล่าเซลล์สูบน้ำ มูลค่ารวม 100,000 บาท สำหรับใช้ในการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรภายในสวนยาง ทั้งการปลูกพืชแซม และการทำปศุสัตว์ อีกทั้งสนับสนุนงบประมาณ 400,000 บาท เพื่อพัฒนาสวนยางให้เกิดประสิทธิภาพ ประกอบด้วยการปรับปรุงอาคารอเนกประสงค์เป็นศูนย์เรียนรู้ ขุดลอกสระน้ำเพื่อกักเก็บน้ำและเลี้ยงสัตว์น้ำ สร้างโรงเรือนเลี้ยงเป็ด-ไก่ไข่และจัดหาแม่พันธุ์ จัดหาอุปกรณ์ระบบเจาะแก๊ส/ติดหมวกต้นยาง 500 ชุด แบตเตอรี่ในระบบโซล่าเซลล์ถังเก็บน้ำขนาด 3,000 ลิตร และใช้เป็นทุนในกิจกรรมเลี้ยงกบ เลี้ยงผึ้ง เลี้ยงปลา เลี้ยงแหนแดงพันธุ์กรมวิชาการเกษตร และปลูกผักสมุนไพรรวมถึงผักพื้นบ้านในสวนยาง ปัจจุบันสวนยางต้นแบบของนางสาวชรินทร์ทิพย์ สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกรรายอื่น กลุ่มนักเรียนนักศึกษาและผู้ที่สนใจ ซึ่งมีบุคคลภายนอกเข้ามาศึกษาดูงานในพื้นที่สวนยางแห่งนี้เป็นประจำ

นายจัตุรัส กั้นสกุล เกษตรชาวสวนยาง ให้ข้อมูลว่า ภายในสวนยาง มีการจัดการพื้นที่ในรูปแบบวนเกษตร มีความหลากหลายทางระบบนิเวศน์ มีการขุดสระกักเก็บน้ำ ปลูกพืชแซมยางและพืชสมุนไพรหลายชนิด รวมถึงการทำปศุสัตว์ สามารถจำหน่ายผลผลิตภายในสวนยางควบคู่ไปกับยางพาราในรูปแบบยางก้อนถ้วย สร้างรายได้ให้กับครอบครัวเพิ่มขึ้นจากเดิม โดยเฉพาะเมื่อมีระบบโซล่าเซลล์ที่ได้รับการสนับสนุนจาก กยท. มาใช้ในระบบปั๊มน้ำสำหรับยางพารา พืชแซมยาง และปศุสัตว์ รวมทั้งกับเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนที่จำเป็น ช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือน จากเดิมที่เคยจ่าย 1,500 บาทต่อเดือน เหลือเพียง 200 บาทต่อเดือน

“ผมได้รับการสนับสนุนระบบปั๊มโซล่าเซลล์สูบน้ำ จาก กยท. เมื่อปี 2565 เพื่อใช้ในการทำการเกษตรภายในสวนยาง ช่วยลดผลกระทบในช่วงฤดูแล้งได้เป็นอย่างมาก โซล่าเซลล์ที่ได้รับมา ผมประเมินว่าความคุ้มทุนอยู่ที่ 5 ปี และยังใช้งานต่อเนื่องได้ถึง 20 ปีข้างหน้า” นายจัตุรัส กล่าวทิ้งท้าย

การยางแห่งประเทศไทย ข่าว