ไทย จับมือ FAO ประชุมเครือข่ายสุขภาพสัตว์น้ำแห่งอาเซียน

214

ประเทศไทย จับมือ FAO จัดประชุมเครือข่ายสุขภาพสัตว์น้ำแห่งอาเซียน เปิดเวทีรวมหัวกะทิร่วมวิเคราะห์ความเสี่ยงการเกิดโรคระบาดในสัตว์น้ำจากการนำเข้า

เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2566 เวลา 08.30 น. ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพร่วมกับ Food and Agriculture Organization of the United Nations (FAO) จัดการประชุม ระดับภูมิภาคในหัวข้อ  Risk Analysis In The Aquaculture Value Chain เพื่อเพิ่มศักยภาพและองค์ความรู้ให้กับผู้แทนจากเครือข่ายสุขภาพสัตว์น้ำแห่งอาเซียน (ASEAN Network on Aquatic Animal Health Centres ; ANAAHCs) และเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการวิเคราะห์ความเสี่ยงของการเกิดโรคระบาดในสัตว์น้ำจากผู้มีประสบการณ์ด้านสุขภาพสัตว์น้ำจากประเทศแคนนาดา ออสเตรเลีย และ FAO ให้กับผู้แทนในภูมิภาคอาเซียนทั้งจากภาครัฐ และภาคเอกชน ตลอดจนผู้แทนจากประเทศเอธิโอเปีย ศรีลังกา สหราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย และมัลดีฟส์ โดยมีนายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง เป็นประธาน เปิดการประชุมสัมมนาฯ ณ ห้องประชุม Le Lotus 1 โรงแรมโรงแรมสวิสโซเทล กรุงเทพฯ รัชดา โดยมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน หน่วยงาน Food and Agriculture Organization (FAO) องค์การข่ายงานศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแห่งเอเชียและแปซิฟิก (NACA) INFOFISH และคณะผู้แทนจากกรมประมง จำนวนกว่า 70 ราย เข้าร่วมการประชุม

 “การเคลื่อนย้ายสัตว์น้ำ” เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโรคสัตว์น้ำเป็นอย่างมาก เนื่องจากสัตว์น้ำอาจนำพาเชื้อก่อโรคในสัตว์น้ำติดมากับตัวสัตว์น้ำทั้งที่นำมาเพาะเลี้ยง ค้าขาย หรือนำมาบริโภค ประกอบกับการเคลื่อนย้ายสัตว์น้ำในปัจจุบันทำได้หลายช่องทาง ทั้งทางรถ เรือ หรือเครื่องบิน การสร้างมาตรการในการเฝ้าระวัง ควบคุม ตรวจสอบการแพร่กระจายเชื้อก่อโรคในสัตว์น้ำในกระบวนการผลิตสินค้าสัตว์น้ำอย่างมีประสิทธิภาพตลอดห่วงโซ่การผลิต จะเป็นการช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ทั้งในส่วนของผู้ซื้อ และผู้นำเข้า ดังนั้น การพูดคุยหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่สำคัญจึงเป็นหนึ่งในแนวทางการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านวิเคราะห์ความเสี่ยงพร้อมกำหนดมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพที่เหมาะสมในแต่ละภาคส่วนการผลิต เพื่อรับมือการแพร่กระจายโรคสัตว์น้ำได้อย่างได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะโรคอุบัติใหม่ที่มีข้อมูลของโรคน้อยมาก

นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า เครือข่ายสุขภาพสัตว์น้ำแห่งอาเซียน (ANAAHC) ถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสุขภาพสัตว์น้ำในภูมิภาคอาเซียน โดยภายใต้ ANAAHC ประกอบด้วยประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย บรูไนดารุสซาลาม เวียดนาม ลาว เมียนมา และกัมพูชา โดยประเทศไทยในฐานะประเทศที่เป็นผู้ดำเนินการหลัก (Lead country) ของศูนย์เครือข่ายสุขภาพสัตว์น้ำแห่งอาเซียน ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยได้ขับเคลื่อนงานด้านต่างๆ อาทิ การอบรมโรคไอเอ็มเอ็นให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียน การควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์น้ำ และการเตรียมความพร้อมต่อโรคอุบัติใหม่ โดยขับเคลื่อนงานนผ่าน ANAAHC focal point ของแต่ละประเทศตั้งแต่ปีพ.ศ. 2550 – ปัจจุบัน เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพการผลิตสัตว์น้ำคุณภาพของประเทศในภูมิภาคอาเซียน

สำหรับการจัดประชุมในครั้งนี้ กำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่  3 – 5 กันยายน 2566 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการวิเคราะห์ความเสี่ยงของการเกิดโรคระบาดสัตว์น้ำจากการนำเข้าให้กับประเทศสมาชิกอาเซียน ภายในงานมีการบรรยายในหัวข้อ การวิเคราะห์ความเสี่ยงของการเกิดโรคระบาดในสัตว์น้ำจากการนำเข้า โดย Dr James Richard Arthur, Dr. Brett MacKinnon and Dr. Yuko Hood การเพิ่มองค์ความรู้ในหัวข้อ Progressive Management Pathway for Aquaculture Biosecurity (PMP/AB) ตลอดจนการระดมความคิดของผู้เข้าร่วมประชุมในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ เช่น การระบุความเสี่ยง การวิเคราะห์ความเสี่ยง การประเมินความเสี่ยง การจัดการความเสี่ยง ฯลฯ โดยอาศัยประสบการณ์ของตนในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐ เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ ภาคเอกชนในการผลิตอาหารสัตว์น้ำ หรือผู้เชี่ยวชาญ โดยมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน ประเทศเอธิโอเปีย ศรีลังกา สหราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย และมัลดีฟส์ หน่วยงาน Food and Agriculture Organization for United Nations (FAO) หน่วยงาน องค์การข่ายงานศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแห่งเอเชียและแปซิฟิก (NACA) หน่วยงาน INFOFISH คณะผู้แทนจากกรมประมง เข้าร่วมการประชุม

ทั้งนี้ ในส่วนของกรมประมงได้ส่งผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมฯ จำนวน 20 ราย ประกอบด้วยผู้แทนจาก กองวิจัยและพัฒนาสุขภาพสัตว์น้ำ กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง กองตรวจสอบเรือประมง สินค้าสัตว์น้ำ และปัจจัยการผลิต และกองพัฒนาระบบการรับรองมาตรฐานสินค้าประมงและหลักฐานเพื่อการสืบค้น โดยมอบหมายให้ทุกหน่วยงานนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปพัฒนา ต่อยอดและถ่ายทอดสู่เกษตรกรเพื่อเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังการเกิดโรคระบาดหรือโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นได้ในอนาคตได้อย่างทันท่วงที

รองอธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า การประชุมในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของศูนย์เครือข่ายสุขภาพสัตว์น้ำแห่งอาเซียน ที่มีความมุ่งมั่นในการร่วมกันพัฒนาศักยภาพในการดำเนินงานด้านสุขภาพสัตว์น้ำ โดยเฉพาะการวางแผนด้านการวิเคราะห์ความเสี่ยงตลอดสายการผลิตจนถึงการส่งออกเพื่อป้องกันการเกิดโรคระบาดและโรคอุบัติใหม่ในสัตว์น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กรมประมง ข่าว