หนุนเลี้ยงไหมอีรี่

606

กรมหม่อนไหมหนุนเกษตรกรเลี้ยงไหมอีรี่เพื่อผลิตสิ่งทอและโปรตีนจากดักแด้

กรมหม่อนไหมเดินหน้าส่งเสริมการเลี้ยงไหมอีรี่เพื่อผลิตสิ่งทอจากเส้นใย และป้อนเอกชนผลิตโปรตีนผงจากดักแด้เป็นอาหารคนและสัตว์ ขานรับนโยบายอาหารจากแมลงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ใช้แรงงานน้อย ได้เงินเร็ว เป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ ทางเลือกสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง

นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยว่า การผลิตเส้นใยไหมจากธรรมชาติที่รู้จักกันดีก็คือไหมที่กินใบหม่อนเป็นอาหาร นอกจากเส้นใยไหมธรรมชาติที่ได้จากไหมหม่อนแล้ว ยังมีไหมอีกชนิดหนึ่งที่เกษตรกรสามารถเลี้ยงและบริหารจัดการได้ในโรงเรือนจนครบวงจรก็คือไหมอีรี่ ซึ่งเป็นไหมที่กินใบมันสำปะหลังหรือใบละหุ่งเป็นอาหาร เส้นใยจากรังไหมอีรี่นั้น ผู้เลี้ยงสามารถดึงเส้นใยออกจากรังด้วยวิธีปั่น (Spun) แบบเดียวกับการปั่นฝ้าย และนำมาผลิตสิ่งทอที่ให้ความสวยงามเป็นเอกลักษณ์ และยังนำดักแด้มาผลิตเป็นอาหารของคนและสัตว์ โดยเฉพาะการผลิตโปรตีนจากแมลงตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก

นายปราโมทย์ ยาใจ
อธิบดีกรมหม่อนไหม

ไหมอีรี่เป็นแมลงที่มีโปรตีนสูงถึง 50 – 55% ซึ่งมีกรดอะมิโนที่สำคัญต่อร่างกายทั้ง 18 ชนิด และมีกรดไขมันที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยป้องกันหลอดเลือดอุดตัน ทั้งนี้ จากการวิจัยของกรมหม่อนไหมร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ศึกษาพิษเฉียบพลัน และพิษกึ่งเรื้อรังของสารสกัดโปรตีนจากไหมอีรี่ในหนูแรท พบว่าหนูที่ได้รับสารสกัดโปรตีนจากไหมอีรี่ขนาด 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว ไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่บ่งชี้ถึงความเป็นพิษ แสดงให้เห็นว่าโปรตีนสกัดจากไหมอีรี่เป็นแหล่งโปรตีนที่ปลอดภัย มีประโยชน์และไม่แพง เหมาะแก่การเป็นโปรตีนทางเลือกในอนาคต งานวิจัยของกรมหม่อนไหมยังพบว่าสามารถนำดักแด้ไหมอีรี่มาทดแทนถั่วเหลืองเลี้ยงไก่เนื้อ ทำให้ได้ไก่เนื้อที่มีคุณภาพ และยังนำไหมอีรี่ไปเป็นส่วนประกอบของอาหารปลาสวยงาม พบว่าช่วยเสริมรงควัตถุแคโรทีนอยด์ เพื่อเพิ่มสีผิว และกระตุ้นภูมิคุ้มกันของปลาสวยงามได้

ทั้งนี้ กรมหม่อนไหมได้ส่งเสริมการเลี้ยงไหมอีรี่ด้วยใบมันสำปะหลังมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยอบรมให้ความรู้และผลิตไข่ไหมอีรี่แจกจ่ายให้กับเกษตรกรในหลายจังหวัด อาทิ ขอนแก่น อุดรธานี ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ กาฬสินธุ์ สระแก้ว เป็นต้น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกมันสำปะหลังที่เป็นอาหารของไหมอีรี่ ผลผลิตจากการเลี้ยงไหมอีรี่นั้น เกษตรกรจะนำไปจำหน่ายและแปรรูปในตลาดชุมชนเป็นหลัก โดยไหม 1 ซอง ใช้ใบมันสำปะหลังในการเลี้ยงประมาณ 1 ไร่ ได้ผลผลิตรังไหมสด 30 กิโลกรัม เกษตรกรจะปาดรังไหมเพื่อนำดักแด้ออกจากรัง ได้น้ำหนักรังไหม 3 กิโลกรัม จำหน่าย ราคากิโลกรัมละ 350 – 400 บาท ได้น้ำหนักดักแด้ 27 กิโลกรัม จำหน่ายเป็นอาหาร กิโลกรัมละ 100 – 180 บาท หรือนำรังไหมไปสาวเป็นเส้นไหมฟอก ย้อมและทอ จำหน่ายเป็นผืน เมตรละ 600 – 2,000 บาท (ขึ้นอยู่กับประเภทของผ้าไหม) และปัจจุบัน มีผู้ประกอบการที่ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตจากไหมอีรี่และโปรตีนจากแมลง เพื่อทดแทนการบริโภคเนื้อสัตว์  โดยบริษัทจะรับซื้อรังไหมอีรี่สดที่ไม่ได้ปาดรัง ราคากิโลกรัมละ 100 – 115 บาท ซึ่งกำลังได้รับความนิยมจากเกษตรกรอย่างมาก เนื่องจากไม่ต้องใช้แรงงานในการปาดรังไหม และได้รับเงินเร็วขึ้น เพราะใช้เวลาเลี้ยงไหมเพียง 19 – 22 วัน ก็สามารถจำหน่ายรังไหมสดได้ หากเกษตรกรเลี้ยงไหมรอบละ 2 ซอง ก็จะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 6,000 บาทต่อเดือน

“ปัจจุบันผู้ประกอบการมีความต้องการผลผลิต จำนวน 25 – 30 ตัน/เดือน แต่เกษตรกรผู้เลี้ยงไหมอีรี่สามารถจำหน่ายผลผลิตให้กับบริษัทได้ จำนวน 8 – 12 ตัน/เดือนเท่านั้น จึงเป็นโอกาสสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่สามารถเลี้ยงไหมอีรี่เป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ นอกเหนือจากการจำหน่ายหัวมันสำปะหลังอย่างเดียว ซึ่งมีข้อมูลวิจัยพบว่าการเก็บใบมันสำปะหลังมาเลี้ยงไหมอีรี่นั้น หากเก็บไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ของต้น ยังคงสามารถเพิ่มผลผลิตของมันสำปะหลังได้เป็นอย่างดี สำหรับผู้สนใจเลี้ยงไหมอีรี่เป็นอาชีพหลักหรือเป็นอาชีพเสริม สามารถติดต่อขอคำแนะนำได้ที่ ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ทั่วประเทศ” อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าว

กรมหม่อนไหม ข่าว