สหกรณ์ฯ จัด Kick Off ขับเคลื่อนความเข้มแข็งสหกรณ์

273

กรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิด Kick Off ประกาศนโยบายขับเคลื่อน ความเข้มแข็งสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรแบบบูรณาการ พุ่งเป้าสู่องค์กรสมรรถนะสูง เติบโตอย่างยั่งยืน

กรมส่งเสริมสหกรณ์ จับมือ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ บูรณาการความร่วมมือพัฒนาสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร มุ่งสู่ความเข้มแข็ง พร้อมก้าวทันสู่การเปลี่ยนแปลง โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขับเคลื่อนงานสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรให้เติบโตอย่างยั่งยืน

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

(27 มิ.ย.66) นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดกิจกรรม Kick Off ประกาศนโยบายขับเคลื่อนความเข้มแข็งของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรแบบบูรณาการพุ่งเป้าสู่องค์กรสมรรถนะสูง และเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมี นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นางสาวอัญมณี ถิรสุทธิ์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ พร้อมด้วย คณะผู้บริหารกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุม 126 กรมส่งเสริมสหกรณ์ เทเวศร์ กรุงเทพมหานคร พร้อมถ่ายทอดสัญญาณยังหน่วยงานในสังกัดกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคด้วย

รมช.มนัญญา กล่าวว่า “สหกรณ์” เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและสังคมของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน ตามที่คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ (คพช.) ได้ให้แนวทางในการพัฒนาการสหกรณ์ ไว้ในแผนพัฒนาการสหกรณ์ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566 – 2570) ให้สอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ในห้วงที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) เพื่อให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง เราต้องมีการเปลี่ยนแปลงทั้งกระบวนการคิด และวิธีในการบริหารจัดการให้ทันยุคสมัยและบริบทที่เปลี่ยนไปภายใต้ 5 การปรับตัวของสหกรณ์ ได้แก่ การจัดการและบริหารการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสม การพัฒนาคนวัยทำงานรุ่นใหม่สู่ช่วงยุคเปลี่ยนผ่าน การพัฒนาองค์กรสู่รูปแบบวัฒนธรรมการทำงานด้วยข้อมูลและเทคโนโลยี การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนของการสหกรณ์

“โครงการในวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการสร้างรูปแบบในการทำงานส่งเสริม พัฒนา และตรวจสอบสหกรณ์ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมและสนับสนุนให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับการพัฒนากิจกรรมให้มีความเข้มแข็ง และเน้นให้สร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิก การบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนสู่ความเข้มแข็งของสหกรณ์อย่างยั่งยืน ช่วยยกระดับสหกรณ์ให้มีสมรรถนะสูง ส่งเสริมให้สหกรณ์เป็นองค์กรที่สร้างคุณค่าให้กับชุมชน และจัดการการมีส่วนร่วมสู่การพัฒนาได้อย่างยั่งยืนต่อไป” รมช.มนัญญา กล่าว

สำหรับกิจกรรม Kick Off “ประกาศนโยบายขับเคลื่อนความเข้มแข็งของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรแบบบูรณาการ พุ่งเป้าสู่องค์กรสมรรถนะสูง และเติบโตอย่างยั่งยืน” เป็นการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในการส่งเสริม พัฒนา และแก้ไขปัญหาของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ให้สอดคล้องกับนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างมีประสิทธิภาพ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย เป็นไปในทิศทางเดียวกัน นอกจากนี้ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ มอบนโยบาย “ปรับแนวคิด บูรณาการงานสหกรณ์ สู่อนาคตการสหกรณ์ยั่งยืน” และร่วมเสวนา “พัฒนาสหกรณ์สู่มิติความเข้มแข็ง ขับเคลื่อนสหกรณ์ด้วยข้อมูลและเทคโนโลยี” รวมทั้งการบรรยายเรื่อง แนวทางการนำเกณฑ์ประเมินความเข้มแข็งของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรไปสู่การปฏิบัติร่วมกันตามยุทธศาสตร์ชาติในห้วงที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) และการตอบประเด็นซักถาม ผ่านระบบ Zoom Meeting อีกด้วย

อธิบดีฯ วิศิษฐ์ กล่าวว่า การพัฒนาความยั่งยืนของสหกรณ์บนพื้นฐานของการสร้างคุณค่าความเป็นสหกรณ์นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือกับภาคีในการพัฒนา มุ่งที่จะให้สหกรณ์เป็นเครื่องมือในการรักษาสมดุลและสร้างคุณค่าด้านมิติเศรษฐกิจ มิติสังคมและชุมชนให้ส่งผลสัมฤทธิ์ต่อการพัฒนาสหกรณ์ในประเทศไทย สหกรณ์ต้องมีการพัฒนาตัวเองในทุกด้านปรับตัว ทั้งกระบวนการคิดและวิธีการในการบริหารจัดการให้ทันยุคสมัย และบริบทที่เปลี่ยนไปสามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย และความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว สนับสนุนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมมาใช้ในการบริหารจัดการ การบริการสมาชิก เพื่อให้สหกรณ์มีศักยภาพในการแข่งขัน เป็นที่ยอมรับให้กับสมาชิกและประชาชนทั่วไปในวงกว้าง

กรมส่งเสริมสหกรณ์ในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็นการเกษตรในแผนแม่บทย่อย การพัฒนาระบบนิเวศการเกษตร โดยมีเป้าหมายคือ สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้นใน 4 มิติความเข้มแข็ง ซึ่งกรมฯ รับผิดชอบใน 2 มิติที่ต้องขับเคลื่อนให้เห็นผลในเชิงประจักษ์ ได้แก่ มิติที่ 1 ความสามารถในการให้บริการสมาชิก ที่มุ่งเน้นการส่งเสริม พัฒนา และยกระดับความเข้มแข็งของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรให้มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ ให้บริการแก่สมาชิกในด้านต่าง ๆ รวมถึงการส่งเสริมสวัสดิการและคุณภาพชีวิตของสมาชิกให้เข้าถึงทุกช่วงวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสร้างคุณค่าการสหกรณ์ให้เข้มแข็งในระดับฐานราก ในด้านมิติที่ 4 ประสิทธิภาพของการบริหารงาน มุ่งเน้นการพัฒนาขีดความสามารถและสมรรถนะในการบริหารงานและธุรกิจของสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร ซึ่งพิจารณาจากการดำเนินกิจการตามระเบียบ คำสั่งนายทะเบียน และกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงระบบธรรมาภิบาลในการดำเนินกิจการไม่ให้เกิดข้อบกพร่องในองค์กร ทั้งในส่วนของการเกิดทุจริต และการเกิดข้อบกพร่องประเภทต่าง ๆ เช่น การดำเนินกิจการนอกกรอบวัตถุประสงค์ ข้อบกพร่องทางบัญชี ข้อบกพร่องทางการเงิน พฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย และข้อบกพร่องอื่น ๆ เป็นต้น

กรมส่งเสริมสหกรณ์ ข่าว