“ศูนย์ศึกษาฯ อ่าวคุ้งกระเบน” ยกระดับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

146

“ศูนย์ศึกษาฯ อ่าวคุ้งกระเบน” นำร่องใช้ระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า ยกระดับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

กรมประมงร่วมกับบริษัท โซลารินน์ จำกัด จัดพิธีเปิด “โครงการการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าเพื่อใช้ในกิจกรรมการประมง” นำร่องสร้างโมเดลการบริหารจัดการพลังงานทดแทนในบ่อสาธิต มุ่งลดต้นทุนการผลิตด้วยการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เมื่อวันเสาร์ที่ 9 กันยายน 2566 เวลา 09.00 น. ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี โดยมี นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เป็นประธาน พร้อมด้วย นางสุพร ตรีนรินทร์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นายยุพธัช ยิบอินซอย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โซลารินน์ จำกัด คณะผู้บริหารจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สมาคมผู้เลี้ยงกุ้งจันทบุรี เกษตรกร และประชาชนในพื้นที่ เข้าร่วมกิจกรรม

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมงและบริษัท โซลารินน์ จำกัด ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การพัฒนาระบบการกักเก็บพลังงานไฟฟ้าเพื่อใช้ในกิจกรรมการประมง” เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงานไฟฟ้าด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการใช้พลังงานทางเลือกร่วมกับระบบการกักเก็บพลังงานไฟฟ้า BSS (Battery Storage System) โดยล่าสุดได้นำร่องดำเนินโครงการแห่งแรก ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี เนื่องจากเป็นหน่วยงานหนึ่งของกรมประมงที่มีความพร้อมด้านสถานที่และเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำรูปแบบต่าง ๆ ให้แก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไป อีกทั้ง ยังมีโรงสูบน้ำชลประทานน้ำเค็มเพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในพื้นที่รอบศูนย์ฯ ใช้ประโยชน์กว่า 200 ครัวเรือน ทำให้มีการใช้พลังงานไฟฟ้าสำหรับสูบน้ำในปริมาณมากและต่อเนื่องตลอดทั้งปี จึงได้จัดทำบ่อสาธิต “การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำด้วยระบบชลประทานน้ำเค็มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ขึ้น ณ บ่อสาธิตเลี้ยงกุ้งทะเลของศูนย์ฯ โดยติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ควบคู่กับระบบกักเก็บพลังงาน (แบตเตอรี่)
ซึ่งคาดว่าจะสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 8,550 หน่วยต่อเดือน ช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากระบบ
สายส่งของการไฟฟ้าได้ร้อยละ 31 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 136,800 บาทต่อปี ซึ่งกรมประมงพร้อมขยายผลการดำเนินโครงการไปสู่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อเป็นโมเดลต้นแบบการบริหารจัดการพลังงานทดแทนสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าแบบครบวงจร เพื่อลดต้นทุนในการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลต่อไป

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์
อธิบดีกรมประมง

ด้าน นายยุพธัช ยิบอินซอย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โซลารินน์ จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกรมประมงและบริษัท โซลารินน์ จำกัด โดยมี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และโรงงานแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นเข้าร่วมโครงการ เนื่องจาก บริษัท โซลารินน์ จำกัด ในเครือของบริษัท ยิบอินซอย จำกัด ประกอบธุรกิจด้านพลังงานเป็นระยะเวลากว่า 2 ปี มีจุดเด่นในการสร้างระบบการกักเก็บพลังงาน BSS ( Battery Storage System ) ด้วยการใช้ Sodium ion ซึ่งมีอยู่ปริมาณมากในประเทศไทยมาเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเป็น Cell battery สำหรับสร้างระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าไว้ใช้ตามบ้านเรือนหรือโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ จึงออกแบบและติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ควบคู่กับระบบกักเก็บพลังงาน (แบตเตอรี่) ในครั้งนี้ โดยทางบริษัทฯ เป็นผู้สนับสนุนด้านงบประมาณทั้งหมดเพื่อลดปัญหาการปล่อยมลพิษทางอากาศและส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมรวมถึงผู้คนในสังคมโดยรวม ซึ่งเป็นความมุ่งมั่นตั้งใจจริงของกลุ่มบริษัท ยิบอินซอย จำกัด ในการตอบแทนคุณแผ่นดินเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีของการก่อตั้งบริษัทฯ อีกด้วย

อธิบดีฯ กล่าวในตอนท้ายว่า กรมประมงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์กับกลุ่มเกษตรกร นักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่เข้ามาศึกษาดูงานภายในศูนย์ฯ สามารถบริหารจัดการพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและพึ่งพาตนเองได้ เกิดความมั่นคงทางพลังงาน ยกระดับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมเดินหน้าประเทศไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในอนาคตอีกด้วย

กรมประมง ข่าว