เสี่ยงเจอโรคแอนแทรคโนส

685

กรมวิชาการเกษตร เตือนอะโวคาโดเสี่ยงเจอโรคแอนแทรคโนส

ในช่วงที่มีอากาศร้อนและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกอะโวคาโด ให้เตรียมรับมือการระบาดของโรคแอนแทรคโนส ที่สามารถพบได้ในทุกระยะการเจริญเติบโตของต้นอะโวคาโด อาการที่ใบ เริ่มแรกจะเห็นเป็นจุดแผลสีน้ำตาลเข้ม หากอาการรุนแรง แผลจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว ใบจะแห้งและร่วงหล่น อาการที่ก้านใบ กิ่ง และก้านช่อดอก พบแผลจุดหรือขีดสีม่วง ถ้าอาการรุนแรงแผลจะขยายลุกลามทำให้ก้านใบและกิ่งแห้ง หากเกิดที่ก้านช่อดอกจะทำให้ช่อดอกเหี่ยว แห้ง และหลุดร่วงก่อนติดผล

ส่วนอาการที่ผลอ่อน พบผลอ่อนเป็นจุดแผลสีน้ำตาลถึงดำ หากอาการรุนแรง ผลจะหลุดร่วงก่อนกำหนด อาการบนผลแก่ จะพบในระยะใกล้เก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต พบแผลจุดสีน้ำตาลถึงดำ รูปร่างกลมขนาดไม่แน่นอน ต่อมาแผลขยายลุกลามเป็นแผลยุบตัวในเนื้อผล ทำให้ผลเน่า บางครั้งพบเมือกสีส้มซึ่งเป็นส่วนขยายพันธุ์ของเชื้อราสาเหตุโรคที่บริเวณแผล

เกษตรกรควรหมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบเริ่มมีอาการของโรคแอนแทรคโนส ให้เกษตรกรตัดแต่งและเก็บส่วนที่เป็นโรคนำไปทำลายทิ้งนอกแปลงปลูก เพื่อลดปริมาณเชื้อสาเหตุโรค จากนั้น ควรกำจัดวัชพืชรอบโคนต้น เพื่อไม่ให้มีสภาพที่เหมาะสมต่อการเกิดโรค ลดความชื้นสะสม และลดการสะสมของเชื้อสาเหตุโรค กรณีพบโรคเริ่มระบาด ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชอะซอกซีสโตรบิน 25% เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารแมนโคเซบ 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารโพรคลอราซ 45% อีซี อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นทุก 7-10 วัน และภายหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตเรียบร้อยแล้ว เกษตรกรควรตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรค กิ่งแห้ง และขั้วผลที่ติดอยู่บนต้นนำไปทำลายทิ้งนอกแปลงปลูก เพื่อให้ทรงพุ่มโปร่ง อากาศถ่ายเทสะดวก ลดการสะสมความชื้นในทรงพุ่ม และลดการสะสมของเชื้อสาเหตุโรค

กรมวิชาการเกษตร ข่าว